Print
Category: ประวัติศาสตร์จังหวัดภาคใต้
Hits: 1997

ประวัติศาสตร์จังหวัดพัทลุง

ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง

เมืองพัทลุงมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมีชุมชนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาก่อนแล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกเรียกชื่อว่าเมืองสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาถูกกองเรือพวกโจรสลัดรุกราน จึงมีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่บริเวณบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เรียกชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนที่เมืองสทิงพระ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมืองสงขลาเป็นเมืองปากน้ำ แต่เมืองพัทลุงก็มีฐานะเป็นเมืองบริวารของแคว้นนครศรีธรรมราชมาตลอด แม้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่เมืองพัทลุงก็ยังตกเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยระบบกินเมืองระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษ  ที่ ๒๕ ราชธานีได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในสมัยที่ตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันท-โรจวงศ์ปกครองเมือง ราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึงทั้งๆ ที่แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองพัทลุงไปนานแล้ว ขณะเดียวกันมหาอำนาจตะวันตกก็คุกคามเข้ามารอบด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้วในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก็ทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายูเสียใหม่ เพื่อ ดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ามณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยระบบเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖ รัฐบาลพยายามลดอำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ตลอดมาในสมัยระบบเทศาภิบาล แต่แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในสมัยระบบประชาธิปไตย เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กลับได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันจังหวัดนี้กลับกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของภาคใต้ เพื่อเข้าใจถึงเรื่องราวดังกล่าวผู้เขียนจะแบ่งประวัติศาสตร์พัทลุงออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุคือ ขวานหินขัดสมัยหินใหม่ หรือชาวบ้าน เรียกว่า ขวานฟ้าที่พบจำนวน ๕๐-๖๐ ชิ้น(๑) ในเขตท้องที่อำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอ ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าท้องที่เหล่านี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว(๒) มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว โดยใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสับตัด

สมัยประวัติศาสตร์

อายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่  ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือ สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยระบบกินเมือง สมัยระบบเทศาภิบาล และสมัยระบบประชาธิปไตย

 

สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง

ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๒๐  เมื่อบริเวณสันทรายขนาดใหญ่ กว้าง ๕–๑๒ กิโลเมตร ยาว ๘๐ กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาหรือบริเวณที่ต่อมาภายหลังชาวพื้นเมืองเรียกว่า แผ่นดินบก ซึ่งเป็นที่ดอน เป็นแผ่นดินเกิดใหม่ชายฝั่งทะเลหลวง ทำให้ผู้คนอพยพจากบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพภูมิ-ประเทศบริเวณนี้มีความเหมาะสมหลายประการกล่าวคือ เป็นสันดอนน้ำไม่ท่วม สามารถตั้งบ้านเรือนสร้างศาสนสถานได้สะดวกดี มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ทั่วไปกับที่ดอนเป็นบริเวณกว้างขวางพอที่จะเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง ประกอบกับเป็นบริเวณอยู่ห่างไกลจากป่าและภูเขาใหญ่ ภูมิอากาศดี  ไม่ค่อยมีไข้ป่ารบกวน อีกประการหนึ่ง สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก เพราะอยู่ติดกับทะเล ชุมชนแถบแผ่นดินบกจึงเจริญเติบโตรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมาลายูตอนเหนือไปในที่สุด ศูนย์กลางที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณสทิงพระ เรียกชื่อเมืองว่าสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา(๓) ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นชุมชนนับถือศาสนาฮินดู(๔) มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นของบรรดารัฐต่างๆ  ที่เข้มแข็งและมีนโยบายจะควบคุมเส้นทางการค้าที่ผ่านทางคาบสมุทรมาลายูมาตลอดเวลา เช่น รัฐฟูนันลังกาสุกะ ศรีวิชัย(๕)

ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อใดเมืองสทิงพระถูกกองทัพเรือ จากอาณาจักรทะเลใต้ชวา สุมาตรายกมาทำลาย เมืองเสียหายยับเยิน พลเมืองแตกกระจัดกระจายอพยพหนีภัยไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลากันมาก เพราะตัวเมืองอยู่ใกล้ทะเลหลวง คือ ห่างเพียง ๑ กิโลเมตร ทำให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว เมืองสทิงพระจึงอ่อนกำลังลงมาก หลังจากนั้นพวกโจรสลัดยกมาปล้นสดมภ์ และในที่สุดก็สามารถยึดเมืองได้ ทำให้มีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยย้ายไปอยู่บริเวณบางแก้ว หรือปัจจุบันเรียกว่า โคกเมือง อยู่ในอำเภอเขาชัยสน ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว  และชื่อเมืองพัทลุงน่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้(๖) คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙(๗)มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ชาวเมืองนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก

ในขณะเดียวกันแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และมีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘(๘)สามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนทั้งแหลมมาลายู โดยปกครองดินแดนในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร(๙) ทำให้เมืองพัทลุงต้องกลายเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้ตรางูเล็กเป็นตราของเมือง(๑๐)และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงก็กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของนครศรีธรรมราชด้วย ดังข้อความในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ รัชสมัยสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า

“นางและเจ้าพระยา (คือนางเลือดขาวและกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทังบางแก้วเล่าแล กุมารก็เสียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธ-รูปเป็นหลายตำบลจะตั้งเมืองมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” (๑๑)

 เมืองพัทลุงมีความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราชอย่างใกล้ชิด เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันเพราะแม้เมืองพัทลุงจะขึ้นกับแคว้นนครศรีธรรมราช แต่มีลักษณะเป็นเมืองอิสระในทางการปกครองอยู่มาก สังเกตจากสมุดเพลาตำรากล่าวว่า แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงเก่าครั้งมีชื่อว่า เมืองสทิงพระ ทางฝ่ายอาณาจักรเจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าพญาหรือเจ้าพระยา ทางฝ่ายศาสนจักรเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองพาราณสี แสดงให้เห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มีบริวารมากศูนย์กลางจึงมีฐานะเป็นกรุง คือกรุงสทิงพระคล้ายกับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งทีเดียว และมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก เปรียบได้กับเมืองพาราณสี (ชื่อกรุงที่เป็นราชธานีของแคว้นกาศีของอินเดีย) ส่วนแคว้นนครศรีธรรมราชเปรียบประดุจเป็นเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) ฉะนั้นแคว้นนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงคงจะเคยเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเมืองพัทลุงนั้นติดต่อกับหัวเมืองมอญและลังกามานานไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมาแล้ว พระสงค์คณะลังกาป่าแก้วจึงเจริญมากในบริเวณนี้ วัดสำคัญ ๆ ไม่ว่าวัดสทัง วัดเขียน วัดสทิงพระ วัดพระโค ล้วนขึ้นกับคณะลังกาป่าแก้วทั้งสิ้น(๑๒)

ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ทางแคว้นนครศรีธรรมราชยังคงมีอำนาจแผ่ไปทั่วแหลมมาลายู ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนว่า จักรพรรดิของจีนเคยส่งทูตมาขอร้องอย่าให้สยาม (นครศรีธรรมราช) รุกรานหรือรังแกมาลายู เลย(๑๓)เมืองพัทลุงจึงคงจะยังขึ้นกับแค้วนนครศรีธรรมราชต่อมาอีกกว่าศตวรรษเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมานั้น อาณาเขตของอยุธยายังแคบมาก กล่าวคือ ทิศเหนือจดชัยนาท ทิศตะวันออกจดจันทบุรี ทิศตะวันตกจดตะนาวศรีและทิศใต้จดแค่นครศรีธรรมราช(๑๔)เพิ่งปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลางคือ เมืองหลวงทรงจัดระบบสังคมเป็นรูประบบศักดินา ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง ทรงประกาศใช้พระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีผลกระทบต่อเมืองพัทลุง และแคว้นนครศรีธรรมราช คือ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่ออยุธยา ส่วนเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่ออยุธยาเช่นกัน เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยา ถือศักดินา ๕๐๐๐(๑๕)

 

สมัยระบบกินเมือง

  ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๙๘) ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕  (พ.ศ.

๒๔๓๙) ระบบกินเมือง หมายถึงระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษี ใช้ไพร่ และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ ทั้งมีสิทธิ์ลงโทษราษฎรตามใจชอบ เจ้าเมืองและกรมการมักเป็นญาติกัน ราชธานีมิได้มีสิทธิ์แต่งตั้งเจ้าเมืองตามทฤษฎีที่กำหนดไว้ เพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้ว, ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง เพื่อป้องกันเหตุร้าย

การปกครองดังกล่าวทำให้ราชธานีพยายามจะลดอำนาจเจ้าเมืองพัทลุง และเข้าไปมีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงตลอดมา โดยในระยะต้นของสมัยระบบกินเมือง อาศัยพุทธศาสนา กล่าวคือ สนับสนุนการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ดึงกำลังคนจากอำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับวัด พระ และเพิ่มชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนา เช่นกรณีภิกษุอินทร์รวบรวมนักบวชราว ๕๐๐ คนขับไล่พม่าที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักร-

พรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) โดยใช้เวทมนตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดปรานมากจึงพระราชทานยศให้เป็นพระครูอินทโมฬีคณะลังกาป่าแก้ว (กาแก้ว) เมืองพัทลุง ควบคุมวัดทั้งในเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถึง ๒๙๘ วัด ทั้งทรงกัลปนาวัด คือกำหนดเขตที่ดินและแรงงานมาขึ้นวัดเขียนและวัดสทังที่พระครูอินทโมฬีบูรณะด้วย(๑๖)

หรือกรณีอุชงคตนะโจรสลัดมาเลย์เข้ามาปล้นโจมตีเมืองพัทลุงเสียหายยับเยิน เมื่อประ-

มาณ พ.ศ. ๒๑๔๑ - ๒๑๔๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(๑๗) ออกเมืองคำเจ้าเมืองหนีเอา    ตัวรอด ราษฎรส่วนหนึ่งต้องอพยพหนีไปอยู่ต่างเมือง อีกส่วนหนึ่งถูกพวกโจรกวาดต้อนไปวัดวาอารามก็ถูกเผา ทางราชธานีอ้างว่าศึกเหลือกำลัง จึงมิได้เอาผิดที่เจ้าเมืองทิ้งเมืองและกลับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป (๑๘)แต่ก็มีการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุงอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๑๕๓(๑๙)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกัลปนาวัดจะทำให้อำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชลดน้อยลง เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจควบคุมไพร่พลโดยตรงเฉพาะในบริเวณที่อยู่นอกเขตกัลปนาเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีอำนาจของฝ่ายฆราวาสกับพระสงฆ์สมดุลมากขึ้น มีผลให้เมืองพัทลุงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ติดต่อกับเมืองต่างๆ และรับอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา ส่วนทางฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล(๒๐) จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองไทย เช่น เอกสารของฮอลันดาบันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ว่าอังกฤษและฮอลันดาพยายามแข่งขันกันเข้าผูกขาดชื้อพริกไทยจากเมืองพัทลุงและเมืองในบริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๑๖๓ เวนแฮสเซลพ่อค้าฮอลันดาแนะนำว่า ฮอลันดาควรจะจัดส่งเครื่องราชบรรณาการเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เจ้าเมืองบูร์เดลอง (พัทลุง) และเจ้าเมืองแซงกอรา (สงขลา) เพื่อเอาใจเมืองเหล่านั้นไว้ เพราะสัมพันธ์ภาพกับเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก(๒๑)ความรุ่งเรืองทางการค้านี้ประกอบกับสงครามไทยพม่า ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และการแย่งชิงอำนาจในราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทำให้อำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองมาลายูอ่อนแอลง เช่น เจ้าเมืองปัตตานี นครศรีธรรมราช(๒๒)สงขลาและพัทลุง(๒๓)ประกาศไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของอยุธยา ขณะเดียวกันทางมาเลย์กลับมีกำลังแข็งขึ้นพวกมุสลิมจึงเป็นเจ้าเมืองในแถบหัวเมืองมาลายูมากขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อาทิ พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ตาตุมะระหุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง อาจจะเป็นทั้งเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา (๒๔)

ทางอยุธยาพยายามดึงหัวเมืองดังกล่าวให้ใกล้ชิดกับอยุธยามากขึ้น โดยใช้นโยบายให้คนไทยไปปกครอง และสนับสนุนอุปถัมภ์ตระกูลของคนไทยที่มีผลประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองแหลมมาลายู บางครั้งใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่ได้ผลมากนักในเมืองพัทลุง  (๒๕)เพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ยังคงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่นับถือศาสนาอิสลามสืบมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐  (๒๖)

เมื่อทางราชธานีเกิดการจราจล ขาดกษัตริย์ปกครอง พวกขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ทางหัวเมืองมาลายูพระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระ เรียกว่าชุมชนเจ้านคร ปกครองหัวเมืองแหลมมาลายูทั้งหมด และดูเหมือนว่าบรรดาหัวเมืองอื่นๆ ก็ยอมรับอำนาจของเจ้านคร (หนู) แต่โดยดี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านคร (หนู) ต้องใช้กำลังเข้าบังคับปราบปรามเมืองหนึ่งเมืองใดเลย แต่ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามเจ้านคร (หนู) ได้สำเร็จแล้วก็โปรดเกล้าให้เจ้านราสุริวงศ์พระญาติปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้รับผิดชอบในการดูแลหัวเมืองแหลมมาลายูแทนราชธานีด้วย(๒๗)ทำให้เมืองพัทลุงกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ คือ ตลอดสมัยเจ้านราสุริวงศ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าเมืองเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง(๒๘)

การกระทำดังกล่าวคงทำให้ตระกูล ณ พัทลุง ต่อต้านเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่ เพราะในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยหลวงศรีวรวัตร(๒๙)(พิณ จันทโรจวงศ์) เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กล่าวว่า นายจันทร์มหาดเล็กเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นั้นว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปีก็ถูกถอดออกจาก  ราชการและตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงตกเป็นของตระกูล ณ พัทลุง อีกใน พ.ศ. ๒๓๑๕ และในปีนี้เองพระ-ยาพัทลุง (ขุนหรือคางเหล็ก) ตระกูล ณ พัทลุงได้เปลี่ยนท่าทีใหม่คือ เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ(๓๐) คงจะเนื่องมาจากพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อมใส   ในพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลชักชวนให้คนไทยเกิดความเลื่อมใสในศาสนานั้น(๓๑)ปรากฏหลักฐานว่าในที่สุดถึงกับทรงออกประกาศห้ามอย่างเฉียบขาด ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ประกาศของไทย ลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ ๑๖๖๔  (พ.ศ. ๒๓๑๗)

ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาพระมะหะหมัด

มองเซนเยอร์เลอบองเป็นผู้แปล

 

ด้วยพวกเข้ารีตและพวกถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนาเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย และไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีตและพระมะหะหมัดก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่าถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็จะต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้คนพวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้ พวกนี้ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามไปด้วย… เพราะเหตุฉะนี้จึงห้ามขาดมิไห้ไทยและมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือหญิงเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าไปในพิธีของพวกมะหะหมัดหรือพวกเข้ารีต ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแข็ง เจตนาไม่ได้มืดมัวไปด้วยกิเลสต่างๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศนี้ ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมะหะหมัดและพวกเข้ารีตแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสังฆราชหรือบาทหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เป็นคริสเตียน หรือมะหะหมัดจะต้องคอยห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้นได้เข้าไปในพิธีของพวกคริสเตียน และพวกมะหะหมัดให้เจ้าพนักงานจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีตและมะหะหมัดดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระ และให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต(๓๒)

จริงอยู่แม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนการออกประกาศดังกล่าว แต่พระราชประสงค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชลักษณะนี้คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันดีในหมู่ขุนนางก่อนที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จึงต้องเปลี่ยนศาสนา มิใช่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๓๓๔ - ๒๓๖๐ ยังไม่ยอมให้นำเนื้อหมูเข้ามาในบ้านของท่านแสดงว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ยังนับถือศาสนาอิสลาม เพิ่งจะมีการนับถือพุทธศาสนากันจริงๆ ในชั้นหลานของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) (๓๓)

การเปลี่ยนศาสนาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองมากนัก เพราะตระกูล ณ พัทลุง ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากราชธานี อำนาจและอิทธิพลของเมืองพัทลุงลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนจีนเหยียงหรือหลวง สุวรรณคีรีคนกลุ่มใหม่และต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นเจ้าเมืองสงขลา(๓๔)ทั้งยกเมืองสงขลาเมืองปากน้ำของเมืองพัทลุงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริวงศ์ถึงแก่นิราลัยในปีรุ่งขึ้น  ทางราชธานีให้ยกเมืองพัทลุงไปขึ้นตรงต่อราชธานีดังเดิม(๓๕)และสืบไปตลอดสมัยระบบกินเมือง และแม้ว่าพระยา-พัทลุง (คางเหล็ก) จะส่งบุตรธิดาหลายคนไปถวายตัว(๓๖) ทั้งมีความดีความชอบในการทำสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ และกับปัตตานีในปีถัดมา แต่เมื่อพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรม       ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกลับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกร-ลาศคนของราชธานีมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง(๓๗)อีก ๒ ปีต่อมายังทรงเพิ่มบทบาทให้เมืองสงขลาเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองประเทศราชมลายู(๓๘)และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ทางราชธานียอมให้ตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงทองขาว) กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีก แต่ก็ส่งนายจุ้ยตระกูลจันทโรจวงศ์ และบุตรของเจ้าพระยาสรินทราชา (จันทร์)(๓๙)ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล ณ นคร เข้ามาเป็นกรมการเมืองพัทลุง  (๔๐)เพื่อคานอำนาจของตระกูล ณ พัทลุง ในที่สุดในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๔–๒๓๘๒ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหัวเมืองแหลมมาลายูต้องตกอยู่ในอำนาจของตระกูล ณ นคร ทางราชธานีแต่งตั้งให้พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงเผือก) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๒(๔๑)ขณะเดียวกันตระกูล ณ สงขลา ก็พยายามสร้างอิทธิพลในเมืองพัทลุง โดยพระยาสงขลาเถี้ยนเส้งและบุญสังข์ต่างก็แต่งงานกับคนในตระกูล ณ พัทลุงทั้งคู่(๔๒)

ศาสตราจารย์เวลาอดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยฮาวายตั้งข้อสังเกตว่า การถึงอสัญกรรมของเจ้าพระยานคร (น้อย) ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ ทำให้ราชธานีได้โอกาสจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลงบ้าง(๔๓) เช่น เรียกตัวพระยาไทรบุรี (แสง) และพระเสนานุชิต (นุด) ปลัดเมืองไทรบุรีบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) กลับสนับสนุนให้ตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเพิ่งรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าฝิ่นทางฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลหน้านอก) ของแหลมมลายูขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออกในเขตเมืองชุมพรและไชยา(๔๔) สำหรับที่เมืองพัทลุงนั้น ทางราชธานีเรียกตัวพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) กลับแล้วแต่งตั้งพระปลัด (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะเจ้าเมืองพัทลุงแทน และให้ตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุงเป็นกรมการเมือง เพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ผู้นี้นอกจากจะมีความดีความชอบในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ ๒๓๘๑ อย่างแข็งขันแล้ว ประการสำคัญคือยังเกี่ยวดองกับขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอำนาจสูงยิ่งในขณะนั้นและบังคับบัญชาหัวเมืองแหลมมาลายูในตำแหน่งพระกลาโหมมาเป็นเวลายาวนานด้วย แต่ในที่สุดตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุงกลายเป็นเหมือนตระกูลเดียวกัน และสามารถปกครองเมืองพัทลุงสืบต่อไปตลอดสมัยระบบกินเมือง คงเป็นเพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ไม่มีบุตร จึงรับนายน้อยหลานมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้วสร้างความสัมพันธ์กับตระกูล ณ พัทลุงโดยใช้การแต่งงาน(๔๕)

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุง โดยใช้การแต่งงานนั้นทำให้อำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงกระชับยิ่งขึ้น มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างจริงจัง จนราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยระบบกินเมือง เช่น ในสมัยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ข้าราชการชั้น  ผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการแล้วมีความเห็นว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็ก แต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์และมีอำนาจชนิด….“ที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัด แต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฏรอย่างสูงเจียนจะว่าได้ว่าทำอย่างใดกับราษฎรก็แทบจะทำได้….”(๔๖)ส่วนด้านผลประโยชน์เจ้าเมืองและกรมการแบ่งกันเองเป็น ๓ ตอน คือ

ตอนที่ ๑ พระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรภักดีพิริยะพาหะ (น้อย) จางวาง ซึ่งทำหน้าที่กำกับเมืองพัทลุง และพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองสองคนพ่อลูกตระกูลจันทโรจวงศ์ได้ผลประโยชน์จากส่วยรายเฉลี่ย

ตอนที่ ๒ ยกกระบัตรในตระกูล ณ พัทลุง ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากร

    ตอนที่ ๓ กรมการผู้น้อย เป็นกรมการของผู้ใดก็จะได้แบ่งปันผลประโยชน์จากทางนั้น

ผลประโยชน์หลักคือ การทำนา เพราะเจ้าเมืองและกรมการมีที่นากว้างใหญ่ทุกคนขายข้าวได้ทีละ

มากๆ โดยไม่ต้องเสียค่านา

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากคุกตะรางอีก เพราะผู้ใดเป็นตุลาการชำระคดี ผู้นั้นจะมีคุกตะรางสำหรับขังนักโทษในศาลของตน จึงมีคุกตะรางถึง ๖ แห่ง โดยแบ่งเป็น ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ๓ แห่ง เป็นของเจ้าเมือง หลวงเมือง หลวงจ่ามหาดไทย และขนาดเล็ก อีก ๓ แห่ง เจ้าเมืองจะเป็นผู้อนุญาตให้คนที่ชอบพอและไว้วางใจได้มีผลประโชยน์ที่จะได้จากการมีคุกตะรางของตัวเองคือ ได้ค่าธรรมเนียม แรงงาน และมีอำนาจในการพิจารณาคดี นักโทษของคุกตะรางใดเป็นดังเช่นทาส    ในเรือนนั้นทำให้กรมการเมืองอยากจะมีคุกตะรางเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่มีคุกตะรางก็จะถูกมองว่าไม่เป็น ผู้ดี เป็นคนชั้นต่ำ

สำหรับราษฎร นอกจากต้องเสียค่านาแล้ว ยังถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของทั้งของกินและของใช้อีก โดยเฉลี่ยจะถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้งต่อปี ราษฎรมักต้องยอมเพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองและขุนนางมาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม(๔๗)

สภาพดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางราชธานีเมืองหนักใจมาก(๔๘)ทั้งยังมีปัญหากับเมืองข้างเคียง คือ กับเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชด้วย เพราะกลุ่มผู้ปกครองของเมืองเหล่านี้มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงมักพบว่าเมื่อโจรผู้ร้ายทำโจรกรรมในเมืองสงขลาแล้วหลบหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาขอให้เจ้าเมืองพัทลุงส่งตัวให้ผู้ร้ายไปให้ แต่เจ้าเมืองพัทลุงมักจะเพิกเฉยส่วนโจรผู้ร้ายที่ทำโจรกรรมในแขวงเมืองพัทลุงแล้วหนีเข้าอยู่ในแขวงเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุงขอให้เจ้าเมืองสงขลาส่งตัวผู้ร้ายไปให้ เจ้าเมืองสงขลาก็มักจะเพิกเฉยเช่นกัน(๔๙)หรือกับทางเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นทำนองเดียวกันกับทางเมืองสงขลา (๕๐)

พอจะกล่าวได้ว่าตลอดสมัยระบบกินเมือง แม้ว่าราชธานีพยายามควบคุมเมืองพัทลุงแต่ก็ควบคุมได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะความห่างไกลจากราชธานีทำให้ราชธานีดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองพัทลุงด้วยผลประโยชน์ของราชธานีจึงรั่วไหลไปมาก ประกอบกับในตอนกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่ามองไปทางทิศไหน เห็นอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมที่จะฉวยโอกาสรุกรานเข้ามา โดยเฉพาะทางหัวเมืองแหลมมาลายู อังกฤษถือโอกาสแทรกแชงเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยและคุกคามหัวเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณคอคอดกระตอนเหนือของแหลมมาลายูทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและขยายอิทธิพลทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยรีดจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูเสียใหม่(๕๑)เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี   ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชในพ.ศ. ๒๔๓๙ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เมืองพัทลุง “เป็นหัวเมืองบังคับยาก”(๕๒)เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงทรงรวมหัวเมืองเหล่านี้เข้าเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ตั้งศูนย์การปกครองที่เมืองสงขลา โดยทรงมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

 

สมัยระบบเทศาภิบาล

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๗๖ ช่วงนี้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในการปกครองของมณฑล

นครศรีธรรมราช สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพยายามทำลายอำนาจและอิทธิพลของตระกูลจัน-ทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี

การดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีหลักการปกครองอยู่ว่า อำนาจจะต้องเข้ามารวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมดรัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองขึ้นอยู่กันเพียง ๓ กระทรวงคือ กรมมหาดไทย กรมกลาโหม และกรมท่า  และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่างๆ  มีอำนาจอย่างที่เคยมีมาในสมัยระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล

หลักต่างๆ ของการปกครองตามระบบเทศาภิบาลที่ระบุไว้ในประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และในข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตามกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มจัดส่วนราชการบริหารตามแบบใหม่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุดดังนี้

ชั้นที่ ๑  การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง

ชั้นที่ ๒  การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง

ชั้นที่ ๓  การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง

ชั้นที่ ๔  การปกครองเมือง มีผู้ว่าราชการเมืองปกครอง

ชั้นที่ ๕  การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง

การวางสายการปกครองเป็นลำดับชั้นกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเก่าใน  หัวเมืองไปเป็นอีกรูปหนึ่ง ราษฎรซึ่งไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง เคยเป็นเพียงบ่าวไพร่ก็ได้มีโอกาสเลือก        ผู้ใหญ่บ้าน กำนันขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเท่ากับได้มีโอกาสเสนอความต้องการของตนเองให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการเมืองทราบ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองหรือพวกพ้องที่เคยทำอะไรตามใจชอบก็กระทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีข้าหลวงเทศาภิบาลมาคอยดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล การกินเมือง   ซึ่งเคย “กิน” จากภาษีทุกอย่างต้องกลับกลายเป็นเพียง “กิน” เฉพาะเงินเดือนพระราชทานในฐานะ     ข้าราชการ เพราะรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีเองและเมื่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมืองมีฐานะเป็นข้าราชการ ก็ต้องถูกย้ายไปตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ผักพันเป็นเจ้าเมืองเจ้าของชีวิตของชาวชนบทอยู่เพียงแห่งเดียวตามระบบเดิม กำนันผู้ใหญ่จะได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ส่วนลดจากการเก็บค่านา ค่าน้ำ ค่าราชการ (๕๓)

อนึ่งการปกครองในระบบเทศาภิบาล รัฐบาลยังต้องการให้ราษฎรมีความผูกพันกับรัฐบาล

และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ รัฐบาลใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยมอบหมายให้จัดเป็นสถานศึกษา เพราะจัดเป็นองค์กรที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั่วพระราชอาณาจักรโดยไม่ต้องเปลืองเงินทองของรัฐในการก่อสร้าง และเป็นแหล่งจูงใจให้ราษฎรเข้ามาเรียนหนังสือได้(๕๔)และมอบหมายให้กรมหมื่นวชิรญานวโรรสพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระราชาคณะธรรมยุติกนิกายรับผิดชอบร่วมกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าธรรม-ยุติกนิกายเป็นตัวแทนของรัฐฝ่ายสงฆ์ส่วนตัวแทนฝ่ายฆราวาสคือกระทรวงมหาดไทย หรือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทั้งสองพระองค์จึงทรงกำหนดแบบแผนเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร คือ ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน และมีผู้อำนวยการสงฆ์เป็นผู้ตรวจตราและจัดการภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาล (๕๕)

ที่เมืองพัทลุง พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการปก

ครองตามแบบแผนทุกระดับ ที่สำคัญคือ ให้สร้างที่ว่าราชการเมืองขึ้น เพื่อให้ผู้ช่วยราชการเมืองและกรมการไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับงานส่วนตัวเหมือนอย่างในสมัยระบบกินเมือง(๕๖)แต่การคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น รัฐบาลใช้ปะปนกันทั้งคนเก่าและคนใหม่ตลาดสมัยระบบเทศาภิบาล พอจะแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ                                                                                                  

          ระยะแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๒  รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม กล่าวคือ  ในระยะ    ๕-๖ ปีแรก ยอมให้เชื้อสายตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ข้าราชการในระบบเก่ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง เช่น ให้พระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ช่วยราชการเมือง แต่ก็ให้พระพิศาลสงคราม(สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรีเป็นผู้ช่วยราชการเมือง (๕๗)รับผิดชอบแผนกสรรพากรหรือดูแลการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็จัดให้พระอาณาจักร์บริบาล (อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์มาแทน  (๕๘)คงเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินเดือนสำหรับข้าราชการประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พระยา-สุขุมนัยวินิตจำต้องถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ปกครองเดิม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมีเงินมาก(๕๙)แต่ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย) จางวางซึ่งเป็นคนหัวเก่า(๖๐)ถึงอนิจกรรมรัฐบาลก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) ผู้ว่าราชการเมืองลงเป็นจางวาง หลังจากนี้รัฐบาลพยายามแต่งตั้งเชื้อสายและพวกพ้องของตระกูลเจ้าเมืองในแหลมมลายูในสมัยระบบกินเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงแทนตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ -๒๔๔๙ โดยผลัดเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถึง ๔ คน(๖๑) คือ พระสุรฤทธิ์ภักดี (คอยู่ตี่ ณ ระนอง) บุตรชายพระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) อดีตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรและหลานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมปี๊) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ)บุตรเขยของพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) และพระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ตามลำดับ จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง โจรผู้ร้ายลักโคกระบือทั่วเขตเมืองพัทลุงจนทางราชการระงับไม่อยู่ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสเมืองพัทลุง พระกาญจนดิฐบดีถูกปลดออกจากราชการในปีนั้นเอง(๖๒)

          ระยะหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒– ๒๔๗๖ ดูเหมือนว่าเป็นระยะที่รัฐบาลใช้มาตรการค่อนข้างเด็ดขาดเพื่อลดอิทธิพลของตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ที่ยังหลงเหลืออยู่อีก โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง(๖๓)เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก) เนติบัณฑิต หลวงวิชิตเสนี (หงวน   ศตะรัตน์) เนติบัณฑิต ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบหนักจนดูราวกับว่าเมืองพัทลุงกลายเป็นอาณาจักรโจร โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๖๖(๖๔)สมัยพระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (๖๕) มีขุนโจรหลายคนที่สำคัญ อาทิ นายรุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้าโจรได้รับฉายาว่า ขุนพัฒน์หรือขุนพัทลุง นายดำหัวแพร เป็นรองหัวหน้า ได้รับฉายาว่า เจ้าฟ้าร่มเขียวหรือขุนอัสดงคต ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี ทำให้การปล้นฆ่าสงบลงอีกวาระหนึ่ง แต่ปีถัดมารัฐบาลสั่งให้ย้ายศูนย์ปกครอง(๖๖)จากตำบลลำปำมาตั้งที่บ้าน  วังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์(๖๗) อาจเป็นเพราะทางราชการเกิดความระแวงว่าตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง มีส่วนร่วมกับพวกโจรจึงต้องการทำลายอิทธิพลของสองตระกูลนั้นในเขตตำบลลำปำ และสร้างศูนย์การปกครองแห่งใหม่ให้เป็นเขตของรัฐบาลอย่างแท้จริง ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้วการคมนาคมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียงจึงสะดวกกว่าที่ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ ประชาชนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายมากขึ้น(๖๘)

 

สมัยระบบประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-ปัจจุบัน)

              เมื่อมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระ

มหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลใหม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ

ว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป  

ส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น จังหวัดพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในอาณาจักรไทย

              ตามระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม  พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหาร

ราชการแผ่นดิน มีผู้บริหารเป็นคณะเรียกว่า คณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดโดยข้าหลวงประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธาน แต่คณะกรมการจังหวัดจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวงทบวงกรมที่ตนสังกัด(๖๙) สำหรับอำเภอก็มีคณะบริหาร เรียกว่าคณะกรมการอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่คณะกรมการอำเภอจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนสังกัด (๗๐)

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนั้นอำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงบุคคลเดียวและฐานะของกรมการจังหวัดก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินในจังหวัดก็ได้แก้ไขเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

    จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดนั้น ได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอ ขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินใน

จังหวัด ซึ่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้

 

(๑) โปรดดูรายละเอียดในศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง,โบราณวิทยาเมืองพัทลุง

(พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, ๒๕๒๕ ), หน้า ๒๐-๒๑.

 

(๒) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ "สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา"

 เอกสารการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกสารหมายเลข ๐๐๒,หน้า ๓.

(๓) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓-๔.

(๔) ศรีศักร วัลลิโภดม “ชุมชนแรกเริ่มสมัยประวัติศาสตร์บริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณใกล้เคียง เอกสารการ

สัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ๘–๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เอกสารเหมายเลข ๐๐๙, หน้า ๕.

(๕) สงบ ส่งเมือง, การพัฒนาหัวเมืองสงขลาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๑๐–

๒๔๔๔) (สงขลา : โครงการบริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา,๒๕๒๓), หน้า ๒๓.

(๖) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา” หน้า ๔.

(๗) ชัยวุฒิ พิยะกูล, ชำระเพลาบางเลือดขาว (พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง,๒๕๒๕),หน้า ๓๗.

(๘) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “ตามพรลิงค์” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓,หน้า ฆ.

(๙) A. Teeus and David K. Wyatt, Hikayat  Patani : The History of Patani Vol. I (The Hague : Martinus Nijhoff, 1970),P.3.

(๑๐) กรมศิลปากร, ผู้รวบรวม, “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๕๐๕, หน้า ๕๑.

(๑๑) สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ "หลักที่ ๓๕ ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง" ประชุมิลาจารึกภาคที่ ๓ (พระนครสำทักทำเนียบนายกรัฐมนตรี,๒๕๐๘),หน้า ๑๗.

(๑๒) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ "สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา" หน้า ๘-๙.

(๑๓) ศรีศักร วิลลิโภดม, "นครศรีธรรมราชกับประวัติศาสตร์ไทย" ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช 

ชุดที่ ๒ (จัดพิมพ์เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๕),หน้า ๑๐๗.

(๑๔) Charnvit Kasetsiri, The Rise of Ayudhya (Kuala Lumper : Oxford University Press, 1976),P.140

(๑๕) กรมศิลปากร, ผู้รวบรวม, เรื่องกฎหมายตราสามดวง (กรุงเทพ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๑), หน้า ๑๗๖ พระอัยการ

ตำแหน่งทหารหัวเมือง มาตรา ๓๑.

(๑๖) หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ : พงศาวดารเมืองพัทลุง (พระนคร : ศึกษาภัณฑ์

พาณิชย์, ๒๕๐๗),หน้า ๑๐-๑๔.

(๑๗) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม หน้า ๓๓.

(๑๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม , หน้า ๒๐–๒๑.

(๑๙) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒–๒๕, สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค ๑

(พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ,๒๕๑๐), หน้า ๖๗ -๖๘.

(๒๐)ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ “สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา” หน้า ๗

(๒๑) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม, หน้า ๓๕–๓๖.

(๒๒) สมโชติ อ๋องสกุล, “ความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับหัวเมืองใกล้เคียง : ศึกษาเฉพาะกรณีความสัมพันธ์                   ทางการปกครองระหว่างนครศรีธรรมราชกับปัตตานี” ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๒ หน้า ๑๑๐–๑๑๓.

(๒๓) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๓๖–๓๗.

(๒๔) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๒๕ พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน    ฌาปนกิจศพคุณหญิงแข เพ็ชราภิบาล (แข ณ สงขลา,๒๕๐๕),หน้า ๑-๒.

(๒๕) ) ลอเรน เกสิค, “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย (๒๓๑๐–๒๓๘๓) เก็บความโดยยุพาชุมจันทร์ วารสาร

ธรรมศาสตร์ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (ตุลาคม ๒๕๑๗ - มกราคม ๒๕๑๘), หน้า ๒๒.

(๒๖) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๒๙–๓๑.

(๒๗) สุภาภรณ์ ตัณศลารักษ์, “บทบาทของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่มีต่อรัฐบาลกลางและหัวเมืองภาคใต้ใน   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๐, หน้า ๓๙.

(๒๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๓.

(๒๙) หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เป็นเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุงด้วย เขียงพงศาวดารเมืองพัทลุงขึ้นใน พ.ศ.

๒๔๕๘–๒๔๖๐ โดยพยายามใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ในคำนำกล่าวถึงข้อมูลที่ใช้ประกอบคือ ตำนานวัด บันทึก

ต่าง ๆ บันทึกของผู้ปกครอง ชีวประวัติและงานเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ซึ่งส่วน หนึ่งเป็นพงศาวดารเมืองพัทลุง (พิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๓ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๑๕ เขียนโดยหมื่นสนิทภิรมย์ ปลัดกรมในกรมหมื่นไกรสรวิชิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดากลิ่นธิดาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) เจ้าเมืองพัทลุงใน       รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พงศาวดารเมืองพัทลุงฉบับของ หมื่นสนิทภิรมย์นี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสั่งให้เขียนขึ้นในโอกาสที่มีการแต่งตั้งหลวงเทพภักดียกระบัตร (ทัน) หลานของปู่พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ขึ้นเป็นพระยาพัทลุงในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ หมื่นสนิทภิรมย์เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของเจ้าจอมมารดากลิ่น และน้องสาวของท่านคือ คุณฉิม,แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๓๙๓.

(๓๐) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๓

(๓๑) รัชนี สาดเปรม, “บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๔๕๓ “ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๒๑, หน้า ๔๓

 

 

(๓๒) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓–๔๔ อ้างถึง ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙, หน้า ๔๖๕–๔๖๖.

(๓๓) สัมภาษณ์นายแส รัตนพันธุ์ เชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง  สายพระยาพัทลุงทองขาว อายุ ๘๔ ปี วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๔.๓๐ น. ณ บ้านเลขที่ ๓/๒๓๐ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑ ถนนแจ้งวัฒนะ บางเขน กรุงเทพฯ.

(๓๔) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๑๖๓.

(๓๕) อรียา เสถียรสุต, “เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสมัยปกครองแบบเก่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๓๕

“วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๑๔, หน้า ๓๗.

(๓๖) พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง, หน้า ๔.

(๓๗) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๗–๔๐.

(๓๘) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๑๒๖.

(๓๙) ผู้กำกับราชการหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายูหรือทะเลหน้านอก ๘ เมืองคือ เมือง ถลาง ภูเก็ต ตะกั่วป่า

ตะกั่วทุ่ง ก็รา พังงา คุระ และคุรอต.

(๔๐) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๔๓.

(๔๑) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๗–๕๕.

(๔๒)  ลอเรน เกสิค, เรื่องเดิม, หน้า ๒๙.

(๔๓) วอลเตอร์ เอฟ เวลลา แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ แปลโดยนิจ ทองโสภิต (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ สมาคมสังคมศาสตร์

แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๔), หน้า ๑๕๐.

(๔๔) สารูป ฤทธิ์ชู, “การเมืองการปกครองของมณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๖๙ “วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท บัณฑิต

วิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๖, หน้า ๒๕.

(๔๕) โปรดดูรายละเอียดใน พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง, หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม หน้า ๕๖–๗๗.

(๔๖) ) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชการที่ ๕ ม.๒.๑๔/๒๒ รายงานพระยาสฤษดิ์เรื่องตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗).

(๔๗) เรื่องเดียวกัน.

(๔๘) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๒.๑๔/๑๐๐ (ลับ) พระวิจิตรวรสาส์น กราบทูลกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

ที่ ๒๓/๑๑๔  ๑๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๔.

(๔๙) ) หอจดหมายเหตุชาติ ร.๕ ม.๒๑/๒๐ เรื่องเขตแดนเมืองพัทลุงกับเมืองสงขลาที่คาบเกี่ยวกันให้เปลี่ยนตำบลกันเสีย มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓, ร.๕ ม.๒.๑๔/๙๘ รายงานเจ้าพระยาเทเวศรไปตรวจราชการทางเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองกลันตัน ร.ศ. ๑๑๓.

(๕๐) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๒.๑/๑๙ เรื่องเมืองพัทลุงขอที่ละเลน้อย บ้านหัวป่า บ้านตะเครียะ มาเป็นแขวงเมืองพัทลุงตามเดิม ๔ พฤศจิกายน  -๕ กันยายน ร.ศ. ๑๑๒.

(๕๑) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๔ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ๑๕๕๐/๓๘๐๐๓ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๑๔.

(๕๒) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๙ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ๑๑ พฤศจิกายน  ร.ศ. ๑๑๗.

 

 

(๕๓) ) แถมสุข นุ่มนนท์ “การปกครองสมัยโบราณ” การเมืองและการต่างประเทศในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๒๔), หน้า ๙–๑๐.

(๕๔) วารุณี โอสถารมย์, “การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. ๒๔๑๑ -๒๔๗๕“ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔, หน้า ๑๐๗.

(๕๕) สารูป ฤทธิ์ชู, เรื่องเดิม, หน้า ๘๒.

(๕๖) ) ณรงค์ นุ่นทอง “การปฏิรูปการปกครองมณฑลนครศรีธรรมราช ในสมัยพระยาสุขุมวินิตเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๔๙) “มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ (กรุงเทพ) : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๔), หน้า ๓๓๙–๓๔๐.

(๕๗) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม. ๔๗/๑๙ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว ๑๑ พฤศจิกายน  ร.ศ. ๑๑๗, หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓–๗๔.

(๕๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓–๗๔.

(๕๙) เดช บุนนาค, “การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบปฏิวัติหรือวิวัฒนาการ” มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า ๒๕–๒๖.

(๖๐) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๔ (สำเนา) พระยาวิจิตรวรสาส์น กราบทูลกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  ที่ ๒๕๒ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔.

(๖๑) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารเย็บเล่มชุดฎีกา เล่ม ๓๑ ร.ศ. ๑๓๔ (พ.ศ. ๒๔๕๘ เล่ม ๓) เลขที่ ๖๙ ฎีกาอำมาตย์โท พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ขอเข้ารับราชการแก้ตัว,หน้า ๑๑๙๘–๑๒๐๖, หลวงศรีวรรัตร, เรื่องเดิม, หน้า๗๗–๗๘.

(๖๒) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารเย็บเล่มชุดฎีกา เล่ม ๓๑ ร.ศ. ๑๓๔ (พ.ศ. ๒๔๕๘ เล่ม ๓)  เลขที่ ๖๙ (สำเนา) พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ๒๐ มิถุนายน  ๒๔๕๘.

(๖๓) โปรดดูรายละเอียดในหลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๘–๘๔.

(๖๔) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓, พิมประภา แกล้วทนงค์, "ครูเก่าเล่าความหวัง" คืนสู่เหย้า ๕๐ ปีสตรีพัทลุง (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๒๗) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานคืนสู่เหย้า ๕๐ ปี สตรีพัทลุง ๙ มิถุนายน ๒๕๒๗, หน้า ๒๙.

(๖๕) ) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัดและเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด.

(๖๖) ศูนย์การปกครองของเมืองพัทลุง มีการโยกย้ายหลายครั้ง เรียงตามลำดับดังนี้ คือ โคกเมืองบางแก้ว เมืองพระรถ บ้านควรแร่ เขาเมือง ท่าเสม็ด บ้านพญาขันธ์ บ้านม่วง โคกลุง ศาลาโต๊ะวัก ลำปำ (ฝั่งเหนือคลองลำปำ) อ้างจาก      ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม.

(๖๗) หลวงศรีวรวัตร,เรื่องเดิม,หน้า ๘๓-๘๔.

(๖๘) เรื่องเดิม, หน้า ๘๐.