Print
Category: ประวัติศาสตร์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Hits: 2268

ประวัติศาสตร์อำนาจเจริญ

มองอดีต

เมืองอำนาจเจริญ ตั้งเมื่อปี พ.ศ.  ๒๓๙๓ โดยท้าวอุปราชเจ้าเมืองจำพรแขวงสุวรรณเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ได้อพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บ้านค้อใหญ่ ซึ่งก็คือบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ กิ่งอำเภอลืออำนาจปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองลืออำนาจ มีฐานะเป็นเมืองในความปกครองของนครเขมราฐ

พ.ศ.  ๒๔๑๐ พระอมรอำนาจ (เสือ อมรสิน) ผู้ครองเมืองอำนาจเห็นว่า ถ้าย้ายเมืองอำนาจมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จะสะดวกในการติดต่อราชการมากจึงได้มีใบบอกกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าตามที่ขอ ให้เมืองอำนาจขึ้นต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่นั้นมา

สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามแบบอย่างยุโรป เมืองอำนาจได้เปลี่ยนฐานะเป็นเมืองอำนาจเจริญ อยู่ในความปกครองของมณฑลเทศาภิบาลปกครองท้องที่อุบลราชธานี ทางราชการได้แต่งตั้งท้าวพระยาในราชวงศ์มาปกครองเมืองอำนาจเจริญติดต่อกันมาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้มีการแต่งตั้งนายอำเภอขึ้นปกครองอำเภออำนาจเจริญ นายอำเภอคนแรกคือ รองอำมาตย์โทหลวงเอนกอำนาจ (เป้ย สุวรรณกูฎ) ต่อมานายอำเภอท่านนี้ได้ย้ายอำเภออำนาจเจริญตามคำแนะนำของพระยาสุนทรพิพิธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขามณฑลอีสาน ซึ่งพิจารณาเห็นว่าที่ตั้งใหม่เป็นชุมทางสี่แยก ระหว่างเมืองเขมราฐ เมืองอุบล

เมืองมุก และเมืองยศ (ยโสธร) ทำให้การคมนาคมสะดวกและคาดว่าจะมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้น โดยย้ายจากบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ ไปตั้งที่บ้านบุ่ง ตำบลบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๑๐ ทางราชการได้แยกการปกครองของอำเภออำนาจเจริญออก ๔ ตำบล ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอหัวตะพาน และยกฐานะเป็นอำเภอหัวตะพานในปี พ.ศ. ๒๕๒๖

พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้แยกการปกครองของอำเภออำนาจเจริญ ๕ ตำบล ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ

เสนางคนิคม และยกฐานะเป็นอำเภอเสนางคนิคม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ ได้แยกการปกครองของอำเภออำนาจเจริญอีก ๖ ตำบล

ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอลืออำนาจ

              และเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ ประกาศ

ในราชกิจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๔,๕,๖, เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖ โดย

พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๙๐ วัน คือมีผล

บังคับใช้ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ เป็นต้นไป