Print
Category: ประวัติศาสตร์จังหวัดภาคตะวันออก
Hits: 1475

ประวัติศาสตร์จังหวัดสระแก้ว

จังหวัดสระแก้วแม้ว่าจะเป็นจังหวัดตั้งใหม่เมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ แต่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกความเป็นมาของท้องถิ่น ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ โดยเฉพาะแถบอรัญประเทศ ตาพระยา กิ่งอำเภอโคกสูง อาณาเขตดังกล่าวได้พบจารึกสัมพันธ์  กับกษัตริย์องค์สำคัญในสมัยของเจนละคือพระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) และพระเจ้าอีสานวรมัน   (ผู้เป็นบุตรมเหนทรวรมัน) บรรดาจารึกที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่

๑. จารึกช่องสระแจง          ที่อำเภอตาพระยา        มีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๑๕๙-๑๑๗๘

๒. จารึกเขาน้อย              ที่อำเภออรัญประเทศ    มีอายุใน พ.ศ. ๑๑๘๐

๓. จารึกเขารัง                 ที่อำเภออรัญประเทศ    มีอายุใน พ.ศ. ๑๑๘๒

         และ ๔. จารึกที่บ้านกุดแต้ที่อำเภออรัญประเทศ ก็มีอายุไล่เลี่ยกับจารึกที่ได้กล่าวมาแล้ว

อนึ่ง โบราณวัตถุสถาน เช่น ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ

สมโบร์ไพรคุด และไพรกะเมง จึงทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าในช่วงทรศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ "ชาวกัมพู" ได้ขยายตัวจากอีสานประเทศทางใต้ และรับวัฒนธรรมความเจริญจากชุมชนทางใต้เปิดตัวออกสู่อารย-ธรรมอินเดีย แบบฮินดู ใช้ภาษาสันสกฤต และนับถือพระวิษณุ (ภาษาแขกฮินดู เป็นภาษาที่สืบเนื่องจากภาษาสันสกฤต เริ่มมีภาษานี้ประมาณ พ.ศ. ๑-๑๐๐ ใช้มาประมาณ ๒๐๐ ปี ก็แปลงเป็นภาษา "บาลี")

ในสมัยของเจนละบก เจนละน้ำ ซึ่งมีความเจริญเติบโตระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ก็ได้เกิดอาณาจักรหนึ่งขึ้นมาควบคู่กับเจนละน้ำ คือ อาณาจักรทวารวดี วัฒนธรรมทางทวารวดีได้ขยายออกไปยังภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของศิลป ในด้านแถบตะวันออกวัฒนธรรมทวารวดีได้ขยายผ่านเมืองดงละคร จังหวัดนครนายก เมืองพระรถ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เมืองศรีมโหสถ (โคกปีบและศรีมหาโพธิ์) จังหวัดปราจีนบุรี และมุ่งเข้าสู่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สังคมของทวารวดีมีความหลากหลายทั้งในด้านประชากรเพราะมีประชากรเป็นชนชาติผสม ประกอบด้วย มอญ ไต สยาม เป็นหลัก นอกเหนือจากจีน อินเดีย มีอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรม ใช้วัวไถนา และมีพุทธศาสนา ที่เป็นพลังในการทะลุทะลวงความหลากหลายที่มีอยู่ในขณะนั้น

ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ในห้วงที่มีการผสมกลมกลืนระหว่างอาณาจักรเจนละน้ำกับ ทวารวดีในเขตพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว ก็ได้พบแหล่งชุมชนโบราณ ดังนี้

๑. อำเภออรัญประเทศ ได้พบคูคันดินล้อมรอบ ๖ แห่ง ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไผ่ หันทราย

๒. อำเภอตาพระยา ได้พบคูคันดินล้อมรอบ ๓ แห่ง ที่ตำบลตาพระยา และปราสาทเขาโล้น

๓. กิ่งอำเภอโคกสูง ได้พบคูคันดิน ๑ แห่ง และปราสาทสด๊กก๊อกธม

๔. อำเภอเมืองสระแก้ว ได้พบสระน้ำ และคูคันดิน ๔ แห่งที่ตำบลท่าเกษม

๕. อำเภอวัฒนานคร ได้พบสระน้ำคูคันดิน ๓  แห่ง ที่ตำบลท่าเกวียน

แหล่งชุมชนดังกล่าว ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังของจีนระบุว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เจนละได้แตกออกเป็น ๒ ส่วน คือ เจนละบก และเจนละน้ำ พื้นที่สำคัญของเจนละน้ำได้กลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรขอมเมืองนคร (นครวัด นครธม) ในเขมรค่ำ และสามารถติดต่อกับเมืองต่างๆ ทางช่องเขาพนมดงเร็ก และบริเวณสระน้ำ บาราย ที่เกิดขึ้นตามเขตอำเภอของจังหวัดสระแก้ว ดังที่       ได้กล่าวมาแล้ว

 

สรุป

พื้นที่เป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน ถ้าศึกษาจากตำนานพื้นเมือง ศิลาจารึก จดหมายเหตุของจีน (พุทธศตวรรษที่ ๘ ตรงกับสมัยสามก๊ก) ว่าดินแดนแถบนี้ในช่วงแรกๆ จะอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของรัฐฟูนาน เมื่องรัฐฟูนานสลายไป ก็กลายเป็นอาณาจักรเจนละ เจนละบก เจนละน้ำ และอาณาจักรของชาวกัมพูชา แคว้นต่างๆ อาณาจักรทวารวดี ขยายอิทธิพลเข้ามาโดยเฉพาะพุทธศาสนา ซึ่งได้นำอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบมอญเข้ามา ซึ่งสำนักพิมพ์เมืองโบราณสรุปว่า "ทวารวดีก็คือรากฐานของการเป็นสยามประเทศนั่นเอง"

ชื่อจังหวัดสระแก้ว มี่ทีมาจากชื่อสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ ๒ สระ    ในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปตีประเทศกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพ ที่บริเวณสระแก้วทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอย ได้ขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว สระขวัญ" และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธ์

สระแก้วเดิมมีฐานะเป็นตำบล ซึ่งสมัยก่อนราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า "กิ่งอำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรีโดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม  ๒๕๐๑ ซึ่งได้มีพระราช-กฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า "อำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรีและต่อมาเมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบก-ษาฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖ เป็นผลให้จังหวัดสระแก้วได้เปิดทำการในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยเป็นจังหวัดที่ ๗๔ ของประเทศ