Print
Category: ประวัติศาสตร์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Hits: 1130

ประวัติศาสตร์จังหวัดสกลนคร

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รวมทั้งบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เดิมเรียกว่า อาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรของขอมสมัยเรืองอำนาจในดินแดนแถบนี้ ขอมได้ตั้งเมืองศรีโคตรบูรณ์เป็นราชธานี และได้ตั้งเมืองพิมายเป็นเมืองอุปราช หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโคตรบูรณ์ คือ พระธาตุพนมและพระธาตุอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน

ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรโคตรบูรณ์ดังกล่าว เมืองหนองหานหลวงก็เป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรนี้ ช่วงเวลาที่มีหลักฐานประกอบการตั้งชุมชนรอบๆ หนองหานอยู่ในสมัยของขอมเรืองอำนาจดังกล่าว ปรากฏในโบราณสถานหลายแห่ง เช่น พระธาตุนารายณ์เจงเวงหรือพระธาตุนารายณ์เชงเวง พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุดุม และสะพานขอม เป็นต้น ประกอบกับตำนานอุรังคนิทานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยพุทธกาล กรุงอินทรปัต มีอำนาจครอบคลุมดินแดนแถบนี้ และมีเมืองหนองหานหลวงขึ้นกับกรุงอินทรปัต เมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองเอกที่เป็นศูนย์กลางอำนาจปกครองของขอม

หลักฐานที่แสดงว่าเมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองเอกของขอมที่ปรากฏชัดคือ ศิลปวัตถุที่พบในบริเวณแถบนี้สร้างด้วยศิลปแบบขอมทั้งสิ้น โดยใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุสำคัญ ประกอบด้วยหน้าบันชั้นมุข ฯลฯ แบบขอมซึ่งสรุปได้ว่า กลุ่มผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้มีความรู้ในการสร้างศิลปแบบขอมเป็นอย่างดี หลักฐานที่อ้างได้ไม่เฉพาะแต่โบราณสถานเท่านั้น ในโบราณวัตถุหลายอย่าง ได้ขุดค้นพบในรอบๆ บริเวณหนองหาน ดังเช่นที่หมู่บ้านดงชน บ้านหนองสระ บ้านเหล่ามะแงว ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร เป็นต้น

ในศิลาจารึกที่มีผู้ค้นพบและนำมาตั้งไว้ ณ วัดสุปัฏวนาราม อุบลราชธานี ได้เอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งบรรดาปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกษัตริย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของกัมพูชาซึ่งมีเดชานุภาพมาก  นับแต่รัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา อิทธิพลของขอมได้แพร่หลายทั่วไปในอีสาน (ยกเว้นบริเวณลุ่มน้ำชี) ลัทธิศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็แพร่หลายตามลำน้ำโขงขึ้นไปจนถึงสกลนคร และอุดรธานี เมืองโบราณที่สำคัญเช่น เมืองหนองหาน-หลวง (สกลนคร) ก็คงเจริญขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นี้ สังเกตได้จากลักษณะผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอ สระน้ำและ ศาสนสถานที่สำคัญ คือ ปราสาทพระธาตุนารายณ์เฮงเกง และพระธาตุดุม เป็นต้น

การเข้ามามีอิทธิพลของขอมในดินแดนแถบนี้  ยังไม่ทราบว่าเข้ามามีอิทธิพลโดยลักษณะใด เช่น อาจเป็นความนิยมของเจ้าผู้ครองนครเมืองต่างๆ ที่จะรับวัฒนธรรมฮินดูเพื่อส่งเสริมบารมีแห่งฐานะความเป็นกษัตริย์ของตนเองหรืออาจตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง หรือมีความสัมพันธ์กันโดยการแต่งงานก็อาจเป็นได้

สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี

หลังจากขอมเสื่อมอำนาจและหมดอิทธิพลจากดินแดนแถบนี้แล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรหลงเหลืออีกเลย เข้าใจว่าอำนาจของกรุงศรีอยุธยาอาจแผ่ไปไม่ถึงดินแดนแถบนี้ สังเกตได้จากศิลปและวัฒนธรรมของอยุธยาไม่ปรากฏให้เห็นเลย มีปรากฏให้เห็นเฉพาะอิทธิพลของขอม และอาณาจักรลานช้างเท่านั้น

ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวว่า ภายหลังรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไปแล้ว อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมก็ค่อยๆ เสื่อมลงในภาคอีสานไม่ค่อยปรากฏการสร้างปราสาทหินขึ้นมาแต่อย่างใด เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายตัว อันเนื่องมาจากการแพร่หลายของพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์บรรดาปราสาทหินและศาสนสถานแต่เดิมหลายแห่งถูกเปลี่ยนให้เป็นวัดหรือพุทธสถานแทน

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นได้สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในประวัติตำนานพงศาวดารเมืองสกลนครของพระยาประจันตะประเทศธานี (โง่นคำ) ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อสิ้นพระชนม์พระยาสุวรรณภิงคารแล้ว เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมรก็สมมุติกันเป็นเจ้าเมืองต่อมา เมื่อปีหนึ่งเกิดทุกขภัยคือ ฝนแล้ง ราษฎรไม่ได้ทำนาถึง ๗ ปี เกิดความอัตคัดขัดสนข้าวปลาอาหารเป็นอันมาก เจ้าเมือง กรมการ และราษฎรชาวเขมรที่อยู่ในเมืองหนองหานหลวงก็ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง แต่จะร้างมาได้กี่ปีไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ที่ดินว่างเปล่าหลงเหลืออยู่รอบบริเวณพระธาตุ

ภายหลังขอมเสื่อมอำนาจลง บริเวณดินแดนลุ่มน้ำโขงของภาคอีสานในยุคนั้นกลับรุ่งเรืองขึ้น อันเนื่องมาจากการเจริญขึ้นของอาณาจักรลานช้างซึ่งเกิดขึ้นแทนที่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หลักฐานที่ปรากฏว่าอาณาจักรลานช้างได้รุ่งเรืองถึงดินแดนแถบนี้ คือ พระธาตุก่องข้าวน้อย ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร พระธาตุบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น และในสมัยต่อมาอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างก็รุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

หลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า ดินแดนในบริเวณจังหวัดสกลนครในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยนั้นชาวภูไท และชาวโซ่ (ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดสกลนคร) ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การอพยพดังกล่าวเกิดขึ้นหลายรุ่น จึงทำให้ชาวภูไทและชาวโซ่อยู่กระจัดกระจายบริเวณพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร และต่อมาก็ได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็น เมืองพรรณานิคม และเมืองกุสุมาลย์ ซึ่งในปัจจุบันอำเภอพรรณานิคมจะปรากฏชาวภูไทยอยู่อาศัยเป็นส่วนมาก ในขณะที่อำเภอกุสุมาลย์ในปัจจุบันก็มีชาวโซ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสกลนครโดยตรงไม่ปรากฏเรื่องราวไว้แต่อย่างใด เข้าใจว่าในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี จังหวัดสกลนครคงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เลย และคงได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างมากกว่าอาณาจักรอยุธยาดังกล่าวแล้ว ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครอยู่เลย เพียงปรากฏในพงศาวดารบางฉบับที่กล่าวถึงสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรลานช้าง ที่กล่าวพาดพิงถึงจังหวัดนครพนมบ้างเท่านั้น เข้าใจว่าจังหวัดสกลนครในสมัยนั้นคงขึ้นอยู่กับอาณาจักรลานช้างบ้าง เป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง แล้วแต่ฝ่ายใดจะมีอำนาจมากกว่ากัน

แต่ได้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตจังหวัดสกลนคร ได้ขาดหายไปหลังจากที่ขอมหมดอำนาจลง ดังกล่าว แต่ได้ทราบหลักฐานแน่ชัดอีกครั้งหนึ่งจากเพี้ยศรีครชุม หัวหน้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุม เล่าสืบต่อกันมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าปีใด ศักราชเท่าใด และในแผ่นดินรัชสมัยใด

ในแผ่นดินสยาม จะเป็นรัชกาลที่เท่าใดไม่ปรากฏ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ อพยพครอบครัวมารักษาพระธาตุเชิงชุมอยู่หลายปี อุปฮาดได้พาครอบครัวบ่าวไพร่ขึ้นมาอยู่ในบ้านธาตุเชิงชุม พร้อมทั้งได้เกลี้ยกล่อมบ่าวไพร่ให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชิงชุมหลายตำบล

พระเจ้าแผ่นดินสยาม โปรดให้ตั้งอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เปลี่ยนนามเมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองสกลทวาปี ให้พระธานีเป็นเจ้าเมือง ขึ้นแก่กรุงสยามต่อมาหลายชั่วเจ้าเมือง

ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๐ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์คิดขบถต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม (รัชกาลที่ ๓) โปรดฯ ให้กองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามเมืองเวียงจันทน์  แม่ทัพได้มาตรวจราชการเมืองสกลทวาปี เจ้าเมืองกรมการเมืองสกลทวาปี ไม่ได้เตรียมกำลังทหารลูกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารไว้ตามคำสั่งแม่ทัพ แม่ทัพเห็นว่าเจ้าเมืองสกลทวาปีขบถกระทำการขัดขืนอำนาจอาญาศึก จึงเอาตัวพระธานีเจ้าเมืองสกลทวาปี ไปประหารชีวิตเสียที่เมืองหนองไชยขาว แม่ทัพนายกองฝ่ายสยามกวาดต้อนครอบครัวลงไปอยู่เมืองกระบิลจันทคามเป็นอันมาก ยังเหลืออยู่ได้รักษาพระธาตุเชิงชุมแต่พวกเพี้ยศรีครชุมบ้านหนองเหียน บ้านจันทร์เพ็ญ บ้านอ้อมแก้ว บ้านนาเวง บ้านพาน บ้านนาดี บ้านวังยาง บ้านผ้าขาว บ้านพันนาเท่านั้น เมืองสกลนครก็เป็นเมืองร้างไม่มีเจ้าเมืองปกครองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกองทัพไทยยกไปปราบเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์นั้น สามารถเข้าตีทัพอนุเจ้าเมือง       เวียงจันทน์จนแตกพ่าย เข้ายึดเมืองได้ เจ้าอนุหนีไปอยู่เมืองมหาชัยกองแก้ว

พ.ศ. ๒๓๗๕ กองทัพพระราชสุภาวดี ยกติดตามไปตีเมืองมหาชัยกองแก้วแตก เจ้าอนุวงศ์และพระพรหมอาษา (จุลนี)  เจ้าเมืองมหาชัยกองแก้ว หนีไปอยู่เมืองญวนและถึงแก่กรรมที่นั้น

พ.ศ. ๒๓๗๘ อุปฮาดตีเจา (ดำสาย) ราชวงศ์ (ดำ) และท้าวชินผู้น้อง ได้พาครอบครัวบ่าวไพร่มาพึ่งบรมโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ได้เข้าหาแม่ทัพที่เมืองสกลทวาปี เจ้าเมืองอุปราชและมหาสงครามแม่ทัพสั่งให้นำตัวลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งภูมิลำเนาในเมืองสกลทวาปีได้

พ.ศ. ๒๓๘๐ อุปฮาดตีเจา (ดำสาย) ป่วยถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เมืองมหาชัยเป็นเจ้าเมืองสกลทวาปี ท้าวชินเป็นราชวงศ์เมืองสกลทวาปี ราชบุตร (ด่าง) เมืองกาฬสินธุ์เป็นราชบุตรเมืองสกลทวาปี

พ.ศ. ๒๓๘๑ ราชวงศ์ (ดำ) เจ้าเมืองสกลทวาปีลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เป็นพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร เปลี่ยนนามสกลทวาปีเป็นเมืองสกลนคร และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแบ่งเขตแดนเมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองหนองหาน ให้เป็นเขตแดนเมืองสกลนคร โดยเฉพาะต่างหากจากเมืองอื่น

การปกครองเมืองสกลนครในยุคนี้นั้น ยังคงใช้ระบอบการปกครองหัวเมืองโบราณอยู่ ผู้ปกครอง (กรมการเมือง) ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ และราชบุตร ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

. เจ้าเมืองเป็นผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาสิทธิขาด สั่งราชการบ้านเมืองทั้งปวงและบังคับบัญชากรมการเมือง หรือกิจการเกี่ยวกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรในแคว้นบ้านเมืองที่ปกครอง การแต่งตั้งถอดถอนคณะกรมการเมืองเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากการแต่งตั้งถอดถอนกรมการเมืองระดับรองเท่านั้นจึงเป็นอำนาจของเจ้าเมือง

. อุปฮาด (อุปราช) สมัยต่อมาเรียกปลัดอำเภอ เป็นผู้มีหน้าที่ทำการแทนในกรณีเจ้าเมืองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ หน้าที่โดยเฉพาะคือการปกครองทั่วไป เป็นหัวหน้าในทางที่ปรึกษาหารือข้อราชการกรมการเมืองตำแหน่งรองลงไป และเป็นผู้รวบรวมสรรพบัญชีส่วยอากร ตามที่ทางราชการกำหนดและยังทำหน้าที่ออกประกาศส่งเกณฑ์กำลังพลเมืองเพื่อทำศึกสงครามอีกด้วย

. ราชวงศ์ ต่อมาเรียกสมุหอำเภอ โดยมากมักแต่งตั้งจากเครือญาติของเจ้าเมืองแต่ไม่เสมอไป ทั้งนี้แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีหน้าที่ทำการแทนอุปฮาดในกรณีที่อุปฮาดไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ แต่หน้าที่ตามปกติแล้วเกี่ยวกับอรรถคดีตัดสินถ้อยความและควบคุมการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินของเมือง

. ราชบุตร ต่อมาเรียก เสมียนอำเภอ มีหน้าที่ช่วยราชวงศ์ ควบคุมการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินของเมือง และเป็นผู้นำเงินส่วยส่งเจ้าพนักงานใหญ่ในหัวเมืองเอกหรือเมืองหลวง

ส่วนอำนาจการปกครองจากกรุงเทพฯ มีการควบคุมหัวเมืองเล็กเมืองน้อยพอสรุปได้ คือ

๑. อนุมัติการตั้งเมือง และอนุมัติการขอขึ้นกับเมืองอื่นหรือกรุงเทพฯ

๒. แต่งตั้งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงหลักการและวิธีการเท่านั้น

๓. รับแรงงานจากเลข หรือรับสิ่งของจากส่วยจากหัวเมืองเหล่านั้น

พ.ศ. ๒๓๘๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์ (อิน) ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองอื่นที่ยังขัดขืนอยู่ ราชวงศ์ (อิน) ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองวังและบุตรหลานบ่าวไพร่เจ้าเมืองเป็นอันมาก กับได้ท้าวเพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตโคดหัวหน้าข่า กะโล้และบ่าวไพร่เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก

พ.ศ. ๒๓๘๗ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโรงกลาง พระเสนาณรงค์เป็นเจ้าเมืองพรรณานิคมยกบ้านพังพร้าวเป็นเมืองพรรณานิคม ตั้งเมืองกุสุมาลย์มณฑลให้ขึ้นกับเมืองสกลนคร ให้เพี้ยเมืองสูง ข่า กะโล้ เป็นหลวงอารักษ์อาญาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโถงเจ้าเมืองมหาชัยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวเหม็นน้องชายอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๓๙๖ เกิดเพลิงไหม้ในเมืองสกลนคร ทรัพย์สินเสียหายมาก ยังเหลืออยู่แต่พระเจดีย์เชิงชุมวัดธาตุศาสดาราม เจ้าเมือง กรมการพากันอพยพครอบครัวออกไปตั้งอยู่ดงบากห่างจากเมืองเดิมประมาณ ๕๐ เส้น

พ.ศ. ๒๔๐๐ ไทยโย้ย กรมการเมืองสกลนคร มีความคิดแตกแยกกันออกเป็น ๒ กลุ่ม พวกหนึ่งมีนายจารดำเป็นหัวหน้าไปร้องสมัครขอเป็นเมืองขึ้นเมืองยโสธร อีกพวกหนึ่งมีเพี้ยติ้วซ้อยเป็นหัวหน้าไปร้องขอเป็นเมืองขึ้นเมืองนครพนม รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายจารดำเป็นหลวงประชาราษฎร์รักษายกบ้านกุดลิงแขวงเมืองยโสธรเป็นเมืองวานรนิวาส ให้หลวงประชาราษฎร์รักษาเป็น    เจ้าเมืองขึ้นกับเมืองยโสธร แต่เจ้าเมืองกรมการและราษฎรยังคงตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านแห่กุดชุมภูในแขวงเมืองสกลนครตามเดิม (ภายหลังเมืองวานรนิวาสเปลี่ยนการปกครองกลับมาขึ้นเมืองสกลนครตามเดิม) และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงน้ำยามเป็นเมืองอากาศอำนวย ให้เพียงติ้วซ้ายเป็นหลวงผลานุกูลเป็นเจ้าเมือง ขึ้นกับเมืองนครพนม

พ.ศ. ๒๔๐๑ เจ้าเมือง กรมการ และราษฎรเมืองสกลนครที่ไปตั้งอยู่ที่ดงบาก เพราะอัคคีภัย พากันอพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม ราชวงศ์ (อิน) ถึงแก่กรรม

พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพหวาเป็นเมืองภูวดลสอาง  และให้ราชบุตร (เหม็น) เป็นพระภูวดลบริรักษ์เป็นเจ้าเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางเป็นเมืองสว่างแดนดิน โดยให้ท้าวเทพกัลยาหัวหน้าไทยโย้ยเป็นเจ้าเมืองให้นามว่า พระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ ขึ้นกับเมืองสกลนคร

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ นี้เองเกิดฝนแล้งที่เมืองร้อยเอ็ดและเมืองอุบล ราษฎรต่างได้รับความอดอยาก พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ในเขตเมืองสกลนครเป็นอันมาก เพราะเมืองสกลนครยังมีชาวในบ้านเมืองอยู่บ้าง ประกอบกับการหาของป่าพอเลี้ยงตัวไปได้

ในปีต่อมาเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ในเมืองสกลนคร แต่ราษฎรก็มิได้อพยพออกไปจากเมือง อาศัยของป่าและทำนาแซง (นาปรัง) พอประทังชีวิต

ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ปิด บุตรอุปราชตีเจา (ดำสาย) เป็นราชวงศ์ และให้ท้าวลาดบุตรอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนครแทน ตำแหน่งราชวงศ์และราชบุตรที่ว่างอยู่

พ.ศ. ๒๔๑๕   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พวกข่ากระโล้ เมืองกุสุมาลย์ เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ท้าวขัตติยไทยข่ากระโล้ ขอขึ้นต่อเมืองสกลนคร โดยแยกออกจากเมืองกุสุมาลย์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาโพธิ์แขวงเมืองสกลนครขึ้นเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคม และตั้งให้ท้าวขัตติยเป็นพระไพศาลสีมานุรักษ์ เป็นผู้ปกครองเมืองต่อไป

ในปีนี้พระยาประเทศธานี เจ้าเมืองได้ขออนุมัติตั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง เพราะเมืองสกลนครมีเมืองขึ้นถึง ๖ เมือง จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวโง่นคำเป็นพระยาศรีสกุลวงศ์ ให้เป็นผู้ช่วยราชการเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดการจลาจลของจีนฮ่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึง   โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นแม่ทัพคุมทหารกรุงเทพฯ กับไพร่พลหัวเมืองลาวไปตั้งทัพสู้ที่เมืองหนองคาย เมืองสกลนคร ได้ยกพลไปช่วย ๑,๐๐๐ คน โดยมีราชวงศ์ (ปิด) กับพระศรีสกุลวงศ์ (โง่นคำ) เป็นหัวหน้า และรบกับจีนฮ่อจนได้ชัยชนะ

พ.ศ. ๒๔๑๙ พระยาประเทศธานี (คำ) ถึงแก่กรรม เมืองสกลนครเกิดโรคระบาดร้ายแรง อุปฮาด (โถง) กับราชบุตร (ลาด) ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคนี้ ราษฎรต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก ทางราชการได้แต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ปิด) เป็นผู้รักษาราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๒๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสกุลวงศ์ผู้ช่วย (โง่นคำ) เป็นอุปฮาด ให้ท้าวฟองบุตรพระประเทศธานี (คำ) เป็นราชวงศ์เมืองสกลนคร และในปีต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ราชวงศ์(ปิด) เป็นพระยาประจันตประเทศธานีเป็นเจ้าเมืองสกลนครต่อไป

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองสกลนคร ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อร่วมสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนี้อุปฮาด (โง่นคำ) ได้คุมสิ่งของต่างๆ   ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการสมโภชน์พระนครเป็นจำนวนมาก โปรดพระราชทานเหรียญสัตพรรษ์-มาลาเงินแก่เจ้าเมือง และกรมการเมืองเป็นที่ระลึก

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ บาดหลวงอเลกซิสโปรดม ชาวฝรั่งเศส มาตั้งโรงเรียนสอนศาสนาโรมันคาทอลิกขึ้นที่บ้านท่าแร่ แขวงเมืองสกลนคร มีผู้คนเข้ารีตถือคริสต์เป็นจำนวนมาก และบาดหลวงได้สร้างวัดสร้างโบสถ์ขึ้นมากมาย ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นอำนาจทางศาสนาของบาดหลวงลดลง ราษฎรพากันออกจากศาสนาของบาดหลวงเป็นจำนวนมาก โดยมากก็คงเป็นชาวบ้านท่าแร่แห่งเดียวที่ยังนับถือศาสนาโรมันคาทอลิกจนถึงปัจจุบันนี้

พ.ศ. ๒๔๒๗ เกิดขบถจีนฮ่อที่เมืองเขียงของทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน)      ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาราชวรานุกูลเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไทยลาวยกไปปราบโดยตั้งทัพที่เมืองหนองคายเช่นเดิม พระยาอุปฮาด (โง่นคำ) และราชวงศ์ (ฟอง) เป็นนายทัพต่อมาได้รับข่าวว่าพระยาประจันตประเทศธานี (ปิด) เจ้าเมืองป่วยถึงแก่กรรมแม่ทัพจึงโปรดให้พระอุปฮาด (โง่นคำ) กลับมารักษาราชการบ้านเมือง

พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระอุปฮาด (โง่นคำ) เป็นพระยาประจันตประเทศธานี  ปกครองเมืองสกลนครสืบต่อมา อีก ๒ ปี ต่อมาได้       โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวเมฆบุตรราชวงศ์ (อิน) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จขึ้นมาจัดการหัวเมืองลาวพวน และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นมณฑลลาวพวน พระองค์ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนเป็นพระองค์แรก ซึ่งระบบการปกครองแบบใหม่นี้เองที่เรียกว่าการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล อันหมายถึงการ “จัดให้มีข้าหลวงไปกำกับรักษาราชการตามหัวเมืองทุกเมือง” และจากนี้ต่อไปเมืองสกลนครก็จัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาลสืบไป

การตั้งข้าหลวงจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) มาเป็นข้าหลวงรักษาราชการเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ เป็นการขยายอำนาจจากส่วนกลางเข้ามาในภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก การที่จะรักษาไว้ซึ่งดินแดนของตนให้คงอยู่ต่อไปก็อยู่ที่การกำหนดเส้นเขตแดนของตนให้แน่นอน และเป็นการรับรองของมหาอำนาจประการหนึ่ง  การเข้ามาควบคุมหัวเมืองชั้นนอกเป็นการแสดงสิทธิของตนประการหนึ่ง และเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีพิพาทกับมหาประเทศคู่สัญญาในหัวเมืองชั้นนอกอีกประการหนึ่งด้วย

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล  ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบการปกครองอันสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น ระบบการปกครองแบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไปบริหารราชการในส่วนภูมิภาค  เป็นรูปแบบของการจัดให้อำนาจการปกครองมารวมอยู่จุดเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ริดรอนอำนาจเจ้าเมืองตามระบอบเก่า การปกครองระบอบเทศาภิบาลอยู่ในระหว่างปี .ศ. ๒๔๓๕-๒๔๕๘

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตำนานพงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครองและเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ไว้อย่างละเอียดพอสมควร ดังพอสรุปได้ว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครเป็นคนแรก และข้าหลวงเมืองสกลนครพระองค์นี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการ กล่าวคือ ให้ยกเลิกกอง เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน และตำบล และให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปกครองหมู่บ้าน และตำบลด้วย

พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน เสด็จจากเมืองหนองคายมาตั้งบ้านเมืองที่ตำบลหมากแข้ง เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ

พ.ศ. ๒๔๓๗ จ่าช่วงไฟประทีปวังซ้าย (ช่วง)  ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร และได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการบางอย่าง คือให้ตั้งกรมเมือง กรมวัง กรมคลัง กรมนาขึ้น และได้แบ่งเขตแดนเมืองสกลนครขึ้น เมืองนครพนม เมืองหนองหาน และเมืองมุกดาหารออกจากกันอย่างชัดเจน

พ.ศ. ๒๔๓๘ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จมาตรวจราชการเมืองสกลนคร และแต่งตั้งให้นายปรีดาราช เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๓๙ นายปรีดาราช ข้าหลวงถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งนายฉลองไนย -นารถ (ไมย) เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร และได้เปลี่ยนแปลงให้เมืองกุสุมาลย์และเมืองโพธิไพศาลไปขึ้นกับเมืองนครพนม ให้เมืองวาริชภูมิซึ่งเป็นเมืองขึ้นเมืองหนองหานเดิมมาขึ้นกับเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ในปีนี้พระราชทานเงินเดือนให้ข้าราชการเมืองสกลนครเป็นปีแรก เงินเบี้ยหวัดหรือเงินปี อย่างที่จัดมาแล้วให้ยกเลิก เงินประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ให้เก็บเป็นของหลวงทั้งสิ้น

พ.ศ. ๒๔๔๒ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือ เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร

พ.ศ. ๒๔๔๔ มีคำสั่งให้นายฉลองไนยนารถ (ไมย) กลับไปรับราชการที่มณฑลอุดร และให้หลวงพิสัยสิทธิกรรม (จีน) เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๔๕ มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครอง ถือเมืองสกลนครรวมทั้งเขตแขวงให้เรียกว่า “บริเวณสกลนคร” ข้าหลวงประจำเมืองให้เรียกข้าหลวงประจำบริเวณเปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นอำเภอ คำว่าเจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ คำว่าอุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ ราชวงศ์เปลี่ยนเป็นสมุหอำเภอ ราชบุตรเปลี่ยนเป็นเสมียนอำเภอ

ในปีนี้ได้ให้พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร เป็นที่ปรึกษาข้าหลวงบริเวณสกลนคร เนื่องจากการเปลี่ยนระบบบริหารแผ่นดินดังกล่าวและชราภาพมากแล้ว

พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงเทศาภิบาลเสด็จกลับกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสุริยราชวรนุวัตร (โพ) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรแทน และในปีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จมาตรวจราชการที่บริเวณสกลนครด้วย

พ.ศ. ๒๔๕๐ แต่งตั้งให้หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (ช่วง) มาเป็นข้าหลวงบริเวณสกลนคร  ข้าหลวงบริเวณคนเก้าให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงบริเวณขอนแก่น

ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรได้แต่งตั้งให้ขุนราชขันธ์สกลรักษ์เป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย) เป็นนายอำเภอวาริชภูมิ นายทะเบียนเป็นนายอำเภอสว่างแดนดิน และพระอนุบาลสกลเขต (เล็กบริเวณ) รักษาการนายอำเภอเมือง

พ.ศ. ๒๔๕๓ ย้ายหลวงผดุงแคว้นประจันต์ ข้าหลวงบริเวณสกลนคร ไปเป็นข้าหลวงเมืองหล่มสัก และให้พระสุนธรชนศักดิ์ (สุทธิ) มาเป็นข้าหลวงบริเวณสกลนคร

ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๖

          การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบใหม่ คือเมืองสกลนคร เปลี่ยนอำเภอเมืองให้เป็นอำเภอธาตุเชิงชุม

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

หลังจากที่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในปีต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นแม่บทของการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน  เป็นการยกเลิกการจัดรูปการปกครองระบอบมณฑลเทศาภิบาลอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนของการปกครองในส่วนภูมิภาคนั้น เริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๔๐ (พระราชดำริการจัดระเบียบฯ นี้ เริ่มอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๔๓๕) ซึ่งเป็นการจัดรูปการปกครองส่วนภูมิภาคแบบเทศาภิบาลดังกล่าวแล้ว และได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบมณฑลเทศาภิบาลนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๖) จังหวัดสกลนครมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก (ก่อนนั้นเรียกข้าหลวง) คือ พระตราษบุรีสุนทรเขต และคนต่อมาคือพระบริบาลนิยมเขต

 

ที่มา : ประวัติจังหวัดสกลนคร. กรุงเทพฯ : จินดาสาส์น. ๒๕๒๘.