ประวัติศาสตร์จังหวัดอุดรธานี

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

อุดรธานีแหล่งอารยธรรมโบราณ

          ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ร่องรอยแสดงว่า ได้เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งอื่น ๆ ของโลก อาจจะเป็นเวลานานนับถึงห้าแสนปี ตามหลักฐานการขุดค้นของนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้พบแล้ว โดยเฉพาะดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนับเป็นแหล่งที่สามารถยืนยันได้ เพราะเป็นแหล่งที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษยชาติ แหล่งขุดค้นที่สำคัญที่นักโบราณคดีและกองโบราณคดีกรมศิลปากร ได้ทำการขุดค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักโบราณคดีระหว่างประเทศว่าเป็นแหล่งที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ การขุดค้นที่บ้านโนนนกทา ตำบลนาดี อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดค้นที่บ้านเชียง นับเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทางโบราณคดีไปทั่วโลก

 

วัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์

          บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งค้นพบว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝั่งศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ เมื่อราว ๕,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาแต่โบราณ

          ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะที่รู้จักทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ นิยมทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากสำริด ในระยะแรกและรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมา แต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป

          ชาวบ้านเชียงโบราณรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาภาชนะสีเทา ทำเป็นลายขูดขีด ลายเชือกทาบและขัดมัน รู้จักทำภาชนะดินเผาลายเขียนสี รูปทรงและลวดลายต่าง ๆ มากมาย กรมศิลปากรได้ส่งเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่บ้านเชียงนี้ ไปตรวจสอบคำนวณหาอายุโดยใช้วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์

(THERMOLUMINES CENSE) ที่ห้องปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปี ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่พบที่บ้านเชียงนี้นับว่ามีอายุเก่าแก่กว่าที่ค้นพบที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากความเห็นและการสันนิษฐานของนายชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์พิเศษของกรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า "…เป็นเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชียอาคเนย์…" และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในโลกก็เป็นได้

          นอกจากนั้นชาวบ้านเชียงโบราณยังรู้จักทำเครื่องจักสาน ทอผ้า มีประเพณีการฝังศพ ฝังสิ่งของ เครื่องใช้ อาหารรวมกับศพเป็นการอุทิศให้กับผู้ตาย สิ่งของที่เป็นโบราณวัตถุซึ่งได้จากการสำรวจรวบรวมและขุดค้นที่บ้านเชียงรวมแหล่งใกล้เคียง เช่น ขวาน ใบหอก มีด ภาชนะดินเผาทั้งที่เขียนสีและไม่เขียนสี และดินเผาลูกกลิ้งดินเผา แม่พิมพ์หินใช้หล่อเครื่องมือสำริด ทำจากหินทรายเบ้าดินเผา รูปสัตว์ดินเผา ลูกปัดทำจากหินสีและแก้วกำไล และแหวนสำริด ลูกกระสุนดินเผา ขวานหินขัดและได้พบเศษผ้าที่ติดอยู่กับเครื่องมือสำริด แกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก เป็นต้น

          จากการสำรวจและขุดค้นที่ผ่านมา และการขุดค้นของกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๑๘ ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ เทคโนโลยีของวัฒนธรรมบ้านเชียงโบราณและกำหนดอายุสมัยโดยประมาณพอสรุปได้ว่า

          ชุมชนบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นชุมชนเกษตรกรรมยุคโลหะ มีความเจริญก้าวหน้ามานานแล้ว สามารถแบ่งลำดับขั้นวัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมที่บ้านเชียงออกเป็น ๖ สมัย โดยกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์วิธีคาร์บอน ๑๔ ว่า วัฒนธรรมสมัยที่ ๑ หรือชั้นดินล่างสุดของบ้านเชียงมีอายุประมาณ ๕,๖๐๐ ปีมาแล้ว จากการศึกษาวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอยทำให้มีความคิดว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงในระยะแรกได้เลือกตั้งถิ่นฐานในบริเวณป่าที่ถูกถากถาง มีการเลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ด้วย พอถึงสมัยที่ ๔ เมื่อราว ๓,๖๐๐ ปีมาแล้วรู้จักใช้เครื่องมือ เหล็ก เลี้ยงควาย เพื่อช่วยในการทำนา ในสมัยที่ ๕ เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการทำภาชนะดินเผาลายเขียนสีลงลายและรูปทรงหลายแบบ พอถึงสมัยที่ ๖ จึงทำแต่ภาชนะดินเผาเคลือบสีแดงหรือเขียนสีบนพื้นสีแดง ทำเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของโลหะที่มีความวาวมากขึ้น กำหนดอายุได้ราว ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว

          จากการค้นพบแกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก การค้นพบเครื่องมือสำริด แม่พิมพ์เครื่องมือสำริด เบ้าดินเผา ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมบ้านเชียงมีความเจริญก้าวหน้าสูง รู้จักการใช้โลหะกรรมหล่อหลอมสำริด และปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ของประเทศไทย จากการสันนิษฐานโดยอาศัยหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของศาสตรจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียรที่ว่า "มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ในสมัยเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีความเจริญทางวัฒนธรรม ไม่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ กล่าวคือ ขณะที่พวกที่อาศัยอยู่ทางแควน้อยและแควใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อ ๓,๗๐๐ ปี ใช้หินเป็นเครื่องมือและใช้หินกระดูกสัตว์และเปลือกหอยเป็นเครื่องประดับนั้น พวกที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีความเจริญรุดหน้ากว่า รู้จักใช้สำริดมาทำเป็นเครื่องประดับและรู้จักใช้เหล็กทำเป็นเครื่องมือ…."

          ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างตันตรงกับสันนิษฐานของศาสตราจารย์ ดร.โซเฮล์ม (DR.W.G.SOLHEIM) แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ให้ความเห็นว่า

          "…ความเจริญทางวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ได้มีการใช้สำริดทำกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยก่อนแหล่งอื่น ในโลกภาคตะวันออก คือประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช คือประมาณ ๔,๔๗๒ ปีมาแล้วใกล้เคียงกับเวลาที่ใกล้ที่สุดที่อาจเป็นได้ ที่บ้านเชียง…"

 

 

 

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ

          นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้พบขวานหินขัดของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่าขวานฟ้า ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีอีกด้วย และที่บริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี นี้เอง ได้พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ว่าเคยได้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ กล่าวคือได้มีการค้นพบ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ หรือเพิงถ้ำของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่บริเวณถ้ำลาย บนเทือกเขาภูพาน บ้านโปร่งฮี ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ เป็นลายเขียนเส้นสีเหลือง เป็นรูปเรขาคณิต คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมและรูปเส้นวกไปวกมาติดต่อกัน และที่บริเวณถ้ำโนนเสาเอ้ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ พบว่า เป็นรูปทรงเรขาคณิตคล้ายที่ถ้ำลาย บางรูปเขียนเป็นเส้นใหญ่ ๆ ขนานกันหลายเส้น และในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังได้พบภาพฝ่ามือทาบบนผนังถ้ำ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำเป็นรูปคน, รูปวัวแดง, บริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผืออีกด้วย

          จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น อดีตเคยเป็นแหล่งที่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมในระดับสูงจนเป็นที่ยอมรับกันในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระหว่างประเทศว่า วัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นเป็นความเจริญที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลา ๕,๐๐๐-๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว และได้มีการขนานนามวัฒนธรรมที่เกิดในยุคร่วมสมัยของบ้านเชียงที่เกิดในแหล่งอื่นของโลกว่า BANCHIANG CIVILIZATION.

          และจากเหตุผลดังกล่าวนี้เองจึงเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ที่ว่า ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้รับวัฒนธรรมจากจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณมาเป็น ในทางกลับกัน ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ ดร.เชสเตอร์ กอร์มัน (DR. CHESTER GORMAN) แห่งมหาวิทยาลัย

เพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ว่า

          "…ดินแดนที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมิใช่เป็นบริเวณล้าหลัง ในทางวัฒนธรรมแต่อย่างใดและไม่ได้เป็นดินแดนที่รับวัฒนธรรมจากจีน แต่เป็นผู้แผ่วัฒนธรรมไปให้จีน…"

          นอกจากร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ในทางประวัติศาสตร์ยังพบว่าบริเวณใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ กรมศิลปากร ได้พบโบราณวัตถุในสมัยต่าง ๆ คือ พบใบเสมา สมัยทวารวดี (ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ - ๑๖๐๐ ) พระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย ศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลายต่อกับศิลปะสมัยลพบุรีตอนต้น (ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๘๐๐) และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ ที่ปรักหักพัง เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ศิลปะสมัยทวารวดี จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าบริเวณที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น เคยเป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการสืบเนื่องความเจริญทางวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลานาน

 

 

 

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จอำเภอหนองบัวลำภู

          ภายหลังจากที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงแล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)ได้ ผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. ๑๙๘๑ และในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็น

ราชธานีนี่เอง ไทยเราต้องทำศึกสงครามกับพม่ามาโดยตลอด ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา และเสียกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ และ พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่ถึงแม้เพลี่ยงพล้ำให้แก่พม่าข้าศึก แต่ไทยเราก็ยังมีวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงสามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนมาได้คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. ๒๑๒๗ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใน พ.ศ. ๒๓๑๐

          ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น เคยเป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นหลักฐานว่า ในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดีจวบจนถึงสมัยสุโขทัย  ก็เป็นแหล่งความเจริญเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนมาโดยตลอด และอาจเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองของอาณาจักรโคตรบูรณ์ที่มีเมืองสำคัญอยู่ที่นครพนมก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้หลักฐานปรากฏชัดเจนทางโบราณคดียังไม่อาจสืบสวนได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏชื่อเมืองอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์พงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ทั้งนี้ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นอำเภอที่ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น  ได้เคยมีประวัติปรากฏตามพงศาวดารและประวัติศาสตร์ ดังนี้คือ

          จากหลักฐานลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘  ซึ่ง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ได้ทรงเล่าตอนหนึ่งว่า

          "…เรื่องตำบลหนองบัวลำภูนั้นเมื่อหม่อมฉันขึ้นไปตรวจราชการมณฑลอุดร ได้สืบถามว่าอยู่ที่ไหน เพราะเห็นเป็นที่สำคัญมีชื่อในพงศาวดารเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ยกกองทัพขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคณหุต ได้พาพระนเรศวรราชบุตรไปด้วย เมื่อไปถึงหนองบัว-ลำภู พระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีจึงอนุญาตให้กองทัพไทยยกกลับลงมา…"

          และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่ารายละเอียดในพระนิพนธ์ เรื่องประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ว่า

          "…ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๑๑๗ ได้ข่าวไปถึงเมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าไชยเชษฐา เมืองลานช้างไปตีเมืองญวนเลยเป็นอันตรายหายสูญไปและที่เมืองลานช้างเกิดชิงราชสมบัติกัน พระเจ้าหงสาวดีเห็นได้ทีก็ยกกองทัพหลวงไปตีเมืองเวียงจันทน์ ครั้งนั้นตรัสสั่งมาให้ไทยยกกองทัพไปสมทบด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ กับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเองทั้ง ๒ พระองค์ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๙ ปี เห็นจะได้เป็นตำแหน่ง เช่น เสนาธิการในกองทัพ แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวด่านของเมืองเวียงจันทน์ เผอิญสมเด็จพระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษพระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ตรัสอนุญาตให้กองทัพไทยกลับมามิต้องรบพุ่ง พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเวียงจันทน์ แล้วก็ตั้งให้อุปราชเดิมซึ่งได้ตัวไปไว้เมืองหงสาวดีตั้งแต่พระมหาอุปราชาตีเมืองครั้งแรกนั้น ครองอาณาเขตลานช้างเป็นประเทศราช ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีต่อมา…"

 

เมืองหนองบัวลำภูเมืองเก่าของจังหวัดอุดรธานี

          เมืองหนองบัวลำภูนั้นมีชื่อเรียกอื่น คือ เมืองหนองบัวลุ่มภู เมืองกมุทาสัย หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานนั้น จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์เชื่อว่า เป็นเมืองที่มีความเจริญเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้มีพงศาวดารกล่าวถึงเมืองหนองบัวลำภูในหนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสานซึ่งหม่อมอมร วงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) เรียบเรียงไว้ ความตอนหนึ่งว่า

          "…จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก (พ.ศ. ๒๓๑๐) พระเจ้าองค์หล่อ ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคณหุตถึงแก่พิราไลย หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยา แลนายวอนายตาจึงได้เชิญกุมารสองคน (มิได้ปรากฏนาม) ซึ่งเป็นเชื้อวงษ์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุตคนเก่า (ไม่ปรากฏว่าคนไหน) อันได้หนีไปอยู่กับนายวอนายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคณหุตแล้ว นายวอนายตาจะขอเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายน่า ราชกุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอนายตามิได้เป็นเชื้อเจ้า จึงตั้งให้นายวอนายตาเป็นแต่ตำแหน่งเสนาบดี ณ กรุงศรีสัตนาคณหุตแล้วราชกุมารผู้เชษฐาจึงตั้งราชกุมารผู้เป็นอนุชาให้เป็นมหาอุปราชขึ้น ฝ่ายพระวอ พระตา ก็มีความโทมนัสด้วยมิได้เป็นที่มหาอุปราชดังความประสงค์ จึงได้อพยพครอบครัวพากันมาตั้งสร้างเวียงขึ้นบ้านหนองบัวลำภู แขวงเมืองเวียงจันทน์ เสร็จแล้วยกขึ้นเป็นเมืองให้ชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ฝ่าย

พระเจ้าศรีสัตนาคณหุตทราบเหตุดังนั้น จึ่งให้แสนท้าวพระยาไปห้ามปรามมิให้พระวอพระตาตั้งเป็นเมืองพระวอพระตาก็หาฟังไม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุตจึ่งได้ยกกองทัพมาตี พระวอพระตาสู้รบกันอยู่ได้ประมาณสามปี พระวอพระตาเห็นว่าต้านทานมิได้จึ่งได้แต่งคนไปอ่อนน้อมต่อพม่าขอกำลังมาช่วยฝ่ายผู้เป็นใหญ่ในพม่าจึงได้แต่งให้มองละแงะเป็นแม่ทัพคุมกำลังจะมาช่วยพระวอ พระตา ฝ่ายกรงุศรีสัตนาคณหุตทราบดังนั้น จึงแต่งเครื่องบรรณาการให้แสนท้าวพระยาคุมลงมาดักกองทัพพม่าอยู่กลางทางแล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพวกพม่าเข้าเป็นพวกเดียวกันได้แล้ว พากันยกทัพมาตีพระวอพระตาก็แตก พระตาตายในที่รบ ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายน่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ผู้เป็นบุตรพระตา แล้วท้าวทิดก่ำผู้บุตรพระวอ แล้วจึ่งพาครอบครัวแตกหนีอพยพลงไปขอพึ่งอยู่กับพระเจ้าองค์หลวงเจ้าเมืองไชยกุมาร เมืองจำปาศักดิ์…"

          และต่อมาพระวอได้ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งภายหลังพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุต ได้ส่งกองทัพมาโจมตีพระวออีก และพระวอถูกฆ่าตายที่ตำบลเวียงดอนกลาง เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์แตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑

          ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น อาจขึ้นการปกครองกับอาณาจักรลานช้าง กรุงศรีสัตนาคณหุต ดังจะเห็นได้ว่า เมืองหนองบัวลำภูเคยเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีสัตนาคณหุต และนอกจากนี้เมืองหนองหานหรือเมืองหนองหานน้อย ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ก็เคยพบคูเมืองโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ยุทธภูมิ ไทย - ลาว ที่หนองบัวลำภู

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญมาโดยตลอด ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการจัดตั้งเมืองอุดรธานี ดังนั้นจึงยังไม่มีชื่อเมืองอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารในเวลานั้น แต่ได้มีการกล่าวถึงเมืองหนองบัวลำภูในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๗๑ ได้เกิดกบฏเจ้านุวงศ์ขึ้นและได้มีข้อความเกี่ยวข้องกับเมืองหนองบัวลำภูอยู่ตอนหนึ่ง ตามสำเนาลายพระหัตถเลขาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ในสาส์นสมเด็จ เล่ม ๖ ความว่า

          "…ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา ครั้นรู้ว่าที่ในกรุงฯ เตรียมกองทัพใหญ่จะขึ้นไป จึงถอยหนีกลับไปตั้งรับที่

หนองบัวลำภู ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถเมื่อหม่อมฉันไปได้รับคำชี้แจงที่เมืองอุดรว่า หนองบัวลำภูนั้นคือ เมืองกุมุทาสัย ซึ่งยกขึ้นเป็นเมืองเมื่อในรัชกาลที่ ๔ หม่อมฉันกลับลงมากรุงเทพฯ ได้มีท้องตราซึ่งให้เปลี่ยนชื่อเมือง กุมุทาสัย ซึ่งลดลงเป็นอำเภออยู่ในเวลานั้น กลับเรียกชื่อเดิมว่า "อำเภอหนองบัวลำภู" ดูเหมือนจะยังใช้อยู่จนบัดนี้…"

 

การปราบปรามฮ่อในมณฑลลาวพวน

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะเวลานั้น นับเป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ประเทศไทย (ในขณะนั้นเรียกว่าประเทศสยาม)  ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้วัฒนธรรม อารยธรรม ความเจริญต่าง ๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบกับในระยะเวลานั้นเป็นระยะเวลาของการแสวงหาเมืองขึ้น ตามลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกของชาติตะวันตกที่สำคัญสองชาติ คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส ที่พยายามจะผนวกดินแดนบริเวณแหลมอินโดจีนให้เป็นเมืองขึ้นของตน และพยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากเมืองไทยในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๑ - ๒๓๙๕ พวกจีนที่เป็นกบฏที่เรียกว่า กบฏไต้เผง ถูกจีนตีจากผืนแผ่นดินใหญ่ได้มาอาศัยอยู่ตามชายแดนไทย ลาว และญวน ซึ่งเวลานั้นดินแดนลาวที่เรียกว่าลานช้าง บริเวณเขตสิบสองจุไทยหัวพันทั้งห้าทั้งหกนั้นขึ้นอยู่กับประเทศไทย พวกฮ่อได้เที่ยวปล้นสดมภ์ ก่อความไม่สงบและได้กำเริบเสิบสานมากขึ้น จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้เข้ายึดเมืองลาวกาย เมืองพวน เมืองเชียงขวาง และยกมาตีเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และหนองคายต่อไป

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จขึ้น

 

ครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุโขทัยกับพระยาพิชัยยกกองทัพไปช่วยหลวงพระบาง และให้พระยามหาอำมาตย์ยกทัพไปช่วยทางด้านหนองคาย แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปช่วย พระยามหาอำมาตย์อีกกองทัพหนึ่ง กองทัพไทยสามารถตีพวกฮ่อแตกพ่ายไป แต่กระนั้นก็ตามพวกฮ่อที่แตกพ่ายไปแล้วนั้นก็ยังทำการปล้นสดมภ์รบกวนชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๒๘ พวกฮ่อได้ส้องสุมกำลังมากขึ้น จนสามารถยึดเมืองซอนลา เมืองเชียงขวาง และทุ่งเชียงคำไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปปราบปรามทางด้านเมืองหนองคาย เรียกว่าแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ต่อมาเป็นจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหลือทางเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่  ๒ ฯ ๑๒  ๑๒ ค่ำ ปีระกา สัปตศก๑๘(ตรงกับวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘) และได้ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่แม่ทัพใหญ่ทั้งสอง ดังความตอนหนึ่งว่า

          "…ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพขึ้นไปเพื่อจะปราบปรามพวกฮ่อในเมืองพวน เมืองหัวพันทั้งหกครั้ง ด้วยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎรอันอยู่ในพระราชอาณาเขตร์ซึ่งพวกฮ่อมาย่ำยีตีปล้นเกบทรัพสมบัตร เสบียงอาหาร จุดเผาบ้านเรือน  คุ่มตัวไปใช้สอยเปนทาษเปนเชลย ได้ความลำบากต่าง ๆ ไม่เปนอันที่จะทำมาหากิน จึงได้คิดจะปราบปรามพวกฮ่อเสียให้ราบคาบ เพื่อจะให้ราษฎรทั้งปวงได้อยู่เยนเปนศุข เพราะเหตุฉนั้นให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงกำชับห้ามปรามไพร่พลในกองทัพอย่าให้เที่ยวข่มขี่ราษฎรทั้งปวง แย่งชิง เสบียงอาหารต่าง ๆ เหมือนอย่าง เช่น คำเล่าฤาที่คนปรกติมักจะเข้าใจว่าเปนธรรมเนียมกองทัพแล้ว จะแย่งชิงฤาคุมเหง คเนงร้ายผู้ใดแล้วไม่มีโทษ ให้การซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่ราษฏรจะให้อยู่เยนเปนศุขนั้นกลับเปนความเดือดร้อนไปได้เปนอันขาด…"

          กองทัพไทยทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือต้องประสบความลำบากในการทำสงครามกับพวกฮ่อ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา ซึ่งมีไข้ป่าชุกชุมทำให้ทหารฝ่ายไทยต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกองทัพไทยทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือก็สามารถตีพวกฮ่อแตกพ่ายไป

          หลังจากเหตุการณ์ปราบฮ่อได้สงบลงแล้ว ฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนมหาอำนาจตะวันตกในเวลานั้นได้ขยายดินแดนเข้ามาในแหลมอินโดจีนเพื่อขยายอาณานิคมของตน และสามารถผนวกกัมพูชาได้ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ต่อมาได้ญวนทั้งประเทศเป็นอาณานิคมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ จากนั้นได้พยายามเข้าครอบครองลาว โดยอ้างสิทธิของญวนว่า  ลาวเคยตกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคมแล้ว ลาวจะต้องเป็นเมืองขึ้นของญวนด้วย จึงได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะได้ลาวเป็นเมืองขึ้น และยังต้องการให้ไทยเป็นเมืองขึ้นด้วย จากการขยายดินแดนของฝรั่งเศสในครั้งนี้ ทำให้กระทบกระเทือนต่อพระราชอาณาเขตของไทยเป็นอย่างยิ่ง

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า นโยบายหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับชาติตะวันตกไม่สามารถที่จะทำให้ประเทศปลอดภัยได้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการปกครองของไทยที่ยังล้าสมัยอยู่ในเวลานั้น ด้วยการควบคุมดินแดนชายพระราชอาณาเขตให้มากกว่านี้เพราะถ้าหากไม่มีการควบคุมดังกล่าว อาจทำให้ฝรั่งเศสใช้เป็นช่องทางที่จะเข้าครอบครองประเทศไทยได้ จึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เหมาะสม

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล

          การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น เป็นระบบที่เรียกว่า "กินเมือง" มีหลักอยู่ว่า ผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยออกแรงช่วยทำการงานให้บ้างหรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัลช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ ทั้งนี้เจ้าเมืองจะมีกรมการเมืองเป็นผู้ช่วย โดยเจ้าเมืองเหล่านั้นมักจะเป็นชาวเมืองนั้นเองและส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองคนเก่า ปกครองราษฎรกันเองโดยทางส่วนกลาง คือ กรุงเทพจะควบคุมดูแลในกิจการใหญ่ ๆ เช่น การส่งภาษีที่เก็บได้ในเมืองไปยังส่วนกลาง หรือส่งส่วย เป็นต้น ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นเจ้าเมืองปกครองกันเองจะส่งเฉพาะดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นข้าราชการที่กรุงเทพไม่ค่อยมีผู้สมัครไปทำงานหัวเมือง การควบคุมดูแลจึงมีลักษณะไม่เด็ดขาดเจ้าเมืองในแต่ละเมืองจึงมีอำนาจสิทธิขาดมากหากเจ้าเมืองใดเป็นคนดีมีคุณธรรมบ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย ในทางกลับกันหากบ้านเมืองใดเจ้าเมืองเป็นคนทุจริตบ้านเมืองก็ไม่สงบมีความเดือดร้อนทั่วไป

          ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าหัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ มากเท่าใดก็ยิ่งมีอิสรภาพในการปกครองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งในสมัยนั้น  หัวเมืองที่รัฐบาลบังคับบัญชาโดยตรงมีแต่หัวเมืองจัตวา ใกล้ ๆ ราชธานี ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ซึ่งแบ่งไว้เป็นชั้น เอก โท ตรี ตามสำคัญของเมืองจะมีอิสระมาก

          ดังนั้น เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้เริ่มปฏิรูปการปกครองหัวเมืองโดยยึดหลักที่ว่า อำนาจของการปกครองควรจะเข้ามาอยู่จุดเดียวกันหมด ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองกระจายไปอยู่กับกระทรวงสามกระทรวง และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มีอิสระอย่างที่มีมาในอดีต ระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า "เทศาภิบาล" หรือ "มณฑลเทศาภิบาล" ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครอง ปรากฏตามคำจำกัดความของการเทศาภิบาล ซึ่งพระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความหมายดังนี้

          "…การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วย ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลางซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากรเพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข และความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับขั้นเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดจัดเป็นแผนกพนักงานทำนองการของกระทรวงในราชธานี อันเป็นวิธีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยรวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับทุกข์ บำรุงสุขด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชน…"

          ดังนั้น "เทศาภิบาล" หรือ "มณฑลเทศาภิบาล" จึงประกอบด้วย

          ๑. มณฑล   รวมหลายเมืองเป็นหนึ่งมณฑล

          ๒. เมือง    รวมหลายอำเภอเป็นหนึ่งเมือง

          ๓. อำเภอ   แต่ละอำเภอ แบ่งท้องที่เป็นตำบลและหมู่บ้าน

          ส่วนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางนั้น ได้ยกเลิกตำแหน่งสมุหนายก,

สมุหกลาโหม, จตุสดมภ์ โดยทรงโปรดให้ตั้งเสนาบดีว่าการกระทรวงแทน

 

การจัดตั้งมณฑลก่อนการปฏิรูปใน พ.ศ. ๒๔๓๕

          ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการจัดการปกครอง ในพระพุทธศักราช ๒๔๓๕ เหตุการณ์ระหว่างประเทศตามชายแดนของประเทศมีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงคับขันขึ้นจนไม่อาจปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเฉย ๆ โดยไม่จัดการรักษาและระวังพระราชอาณาจักรของไทยไว้เสียก่อน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงได้ทรงจัดการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญขึ้นเป็นเขตปกครองเรียกว่า มณฑล โดยมุ่งที่จะป้องกันพระราชอาณาจักร ให้พ้นจากการคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก และในขณะเดียวกันก็เป็นการทดลองการจัดระเบียบการปกครองอย่างใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยที่จะจัดให้มีขึ้นในประเทศต่อไปด้วย

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเลือกสรรบุคคลที่ทรงคุณวุฒิ มีความสามารถสูง และเป็นที่วางพระราชหฤทัยให้ออกไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ บัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ กำกับราชการซึ่งผู้ว่าราชการเมืองและกรมการบังคับบัญชาและปฏิบัติอยู่ทุกฝ่าย ให้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยความสุจริต ยุติธรรม และรวดเร็ว และพร้อมทั้งอำนวยความสงบสุขสวัสดิภาพ และป้องกันทุกข์ภัยของประชาชนให้ได้รับความร่มเย็นตามควรแก่วิสัยที่จะพึงเป็นไปได้

          รายชื่อ มณฑล พร้อมทั้งพระนามและนามของข้าหลวงใหญ่ มีดังต่อไปนี้คือ

  • มณฑลลาวเฉียง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มีเจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรี-

ไชยันต์) ว่าที่สมุหกลาโหม เป็นข้าหลวงใหญ่ ประกอบด้วย ๖ เมือง คือ นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน ตั้งที่บัญชาการมณฑล (ศาลารัฐบาล) ที่นครเชียงใหม่

          (๒) มณฑลลาวพวน (เดิมเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรมีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดี กระทรวงวัง เป็นข้าหลวงต่างพระองค์

บัญชากรอยู่ที่เมืองหนองคาย มณฑลนี้ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ได้รวมหัวเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหลายเมือง

 

 

 

 

ความรู้เรื่องมณฑลลาวพวน

          มณฑลลาวพวน (เดิมเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ) พวนเป็นชื่อแคว้นอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีเมืองใหญ่ของแคว้นคือ เมืองพวน และเมืองเชียงขวาง เมืองพวนอยู่ทิศอิสานของเวียงจันทน์ และทิศอาคเนย์ของหลวงพระบาง เดิมเป็นของไทย ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ก่อน ร.ศ. ๑๑๒

(พ.ส. ๒๔๓๖) มณฑลลาวพวนประกอบด้วย หัวเมืองเอก ๑๖ เมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนหัวเมืองโท ตรี จัตวา ๓๖ เมือง รวมขึ้นอยู่ในหัวเมืองเอก ดังต่อไปนี้

 

ลำดับที่

เมืองเอก

เมืองโท ตรี จัตวา

(ขึ้นกับเมืองเอก)

หมายเหตุ

 

๑.

 

๒.

๓.

๔.

๕.

๖.

 

๗.

๘.

๙.

๑๐.

๑๑.

๑๒.

๑๓.

๑๔.

๑๕.

๑๖.

หนองคาย

 

เชียงขวาง

บริคัณฑนิคม

นครพนม

คำม่วน

สกลนคร

 

มุกดาหาร

บุรีรัมย์

ขอนแก่น

หล่มศักดิ์

โพนพิสัย

ชัยบุรี

ท่าอุเทน

กมุทาสัย

หนองหารใหญ่

คำเกิด

เวียงจันทน์ เชียงคาน พานพร้าว ธุรคมหงส์สถิตย์

กุมภวาปี รัตนวาปี

แสน พาน งัน ซุย จิม

ประชุม

วัง เรณูนคร รามราช อาจสามารถ อากาศอำนวย

มหาชัยกองแก้ว ชุมพร วังมน ทาง

กุสุมาลมณฑล พรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างดินแดน  วานรนิวาส ไพธิไพศาล จำปาชนบท

พาลุกากรภูมิ หนองสูง

นางรอง

พล ภูเวียง มัญจาคีรี คำทองน้อย

เลย

-

-

-

-

-

-

 

รวม ๖ เมือง

รวม ๕ เมือง

หนึ่งเมือง

รวม ๕ เมือง

รวม ๔ เมือง

 

รวม ๗ เมือง

รวม ๒ เมือง

หนึ่งเมือง

รวม ๔ เมือง

หนึ่งเมือง

 

 

 

          รวมเมืองเอก ๑๖ เมือง และเมืองโท ตรี จัตวา ที่ขึ้นกับเมืองเอก จำนวน ๓๖ เมือง เมืองเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ส่งข้าราชการไปเป็นข้าหลวงรักษาพระราชอาณาเขตอยู่หลายเมือง

          ครั้นถึง ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ดินแดนดังกล่าวนั้นตกไปเป็นของฝรั่งเศส เมืองในมณฑลนี้จึงเหลืออยู่เพียง ๖ เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย และหนองคาย ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่หนองคาย ต่อมาย้ายมาตั้งที่บ้านหมากแข้ง คือ จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน

(๓) มณฑลลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอิสาน มีพระวรวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร บัญชาการอยู่ที่นครจัมปาศักดิ์ มี ๗ เมือง คือ อุบลราชธานี นครจำปาศักดิ์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตั้งที่ว่าการมณฑลที่เมืองอุบลราชธานี

(๔) มณฑลเขมร  ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น

ศรีเพ็ญ เป็นข้าหลวงใหญ่ มี ๔ เมือง คือ พระตะบอง เสียมราษฎร์ ศรีโสภณ และพนมศก ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองพระตะบอง

          (๕) มณฑลลาวกลาง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลนครราชสีมา มีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ มี ๓ เมือง คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองนครราชสีมา

          (๖) มณฑลภูเก็ต เดิมเรียกว่า หัวเมืองฝ่ายตะวันตก มีพระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงใหญ่ มีอยู่ ๖ เมือง คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า พังงา และระนอง ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองภูเก็ต

          มณฑลทั้ง ๖ นี้เป็นเพียงการรวมเขตหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลและมีข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลเท่านั้นยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นลักษณะมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครอง หัวเมืองส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ จึงได้ทรงแก้ไขการปกครองมณฑลทั้ง ๖ นี้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ด้วย

 

กรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างไทย - ฝรั่งเศส

          ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     มีพระราชประสงค์ที่จะรักษาพระราชไมตรีให้มั่นคงถาวรกับชาติตะวันตก  อันได้แก่   ฝรั่งเศส     และอังกฤษ   เนื่องจากในระยะนั้นฝรั่งเศสได้ประเทศเขมรและประเทศญวน ตลอดจนแคว้นตังเกี๋ยเป็นเมืองขึ้น และอังกฤษก็ได้ประเทศพม่าเป็นเมืองขึ้นมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย จึงมีปัญหาเรื่องการแบ่งปันเขตแดนเพื่อที่จะให้เป็นที่ตกลงกันแน่นอน

          ดังนั้น    เพื่อที่จะรักษาพระราชไมตรีและปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้มีความสามารถที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ ส่งออกไปปฏิบัติราชการประจำต่างหัวเมือง และยิ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่าน ซึ่งข้าศึกศัตรูอาจล่วงล้ำเข้ารุกรานได้ง่าย ก็ต้องยิ่งเลือกบุคคลที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้แน่นอน โดยเฉพาะในภาคอีสาน ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงเมืองลาวกาว (แต่ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี)

          ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการทหาร พลเรือน ตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคายกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

          ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการทหาร ตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบางกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงดำ (แต่กองนี้ภายหลังเปลี่ยนมาประจำเมืองนครราชสีมา หาได้ไปตั้งที่เมืองหลวงพระบางไม่)

          โดยเฉพาะหัวเมืองลาวพวนในเวลานั้น (พ.ศ. ๒๔๓๔) ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงหัวเมืองลาวพวนนั้น ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือ เมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณฑนิคม เมืองโพนพิไสย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์ เมืองใหญ่ ๑๓ เมือง เมืองขึ้น ๓๖ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

          ในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ญวนและเขมรเป็นอาณานิคมแล้วก็ได้พยายามที่จะขยายดินแดนอาณานิคมมายึดครองลานช้าง (ลาว) ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทยโดยได้อาศัยที่เกิดเหตุความวุ่นวายของพวกฮ่อ ค่อย ๆ ขยายอิทธิพลเข้ามาทีละน้อย คือ หลังจากที่ไทยได้ปราบปรามฮ่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย โดยอ้างว่าจะคอยปราบโจรจีนฮ่อ แม้ไทยจะเจรจาอย่างไร ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนออกไป แคว้นสิบสองจุไทยเราจึงกลายเป็นของฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑

          ฝรั่งเศสได้ถือสาเหตุกระทบกระทั่งกับไทยกรณีปัญหาชายแดน กล่าวคือ ฝรั่งเศสอ้างว่าลาวเคยเป็นของญวน เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนญวนแล้ว ลาวจะต้องตกเป็นของญวนด้วย ฝรั่งเศสได้ตั้งเจ้าหน้าที่ของตนออกเดินสำรวจพลเมือง และเขตแดนว่ามีอาณาเขตที่แน่นอนเพียงใด และเนื่องจากเขตแดนระหว่างไทยกับลาวมิได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนและรัดกุม จึงเป็นการง่ายที่พวกสำรวจเหล่านั้นจะได้ถือโอกาสผนวกดินแดนของไทยเข้าไปกับฝ่ายตนมากทุกที

 

วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. ๑๑๒

          ในที่สุดชนวนที่ฝรั่งเศสถือเป็นสาเหตุข้อพิพาทในการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็เกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสได้ส่งทหารรุกเข้ามาทางด้านคำมวน เข้าปลดอาวุธพระยอดเมืองขวางกับทหารแล้วบังคับให้ควบคุมตัวมาส่งที่แม่น้ำโขง ณ เมืองท่าอุเทนก่อนที่พระยอดเมืองขวางปลัดจะยอมถอยออกจากเมืองคำมวนนั้น พระยอดเมืองขวางได้ยื่นหนังสือเป็นการประท้วงต่อฝรั่งเศส มีข้อความดังนี้คือ

          "…เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ข้าพเจ้าพระยอดเมืองขวางข้าหลวงซึ่งรักษาราชการเมืองคำเกิด คำมวน ทำคำมอบอายัติเขตแดนแผ่นดิน และผลประโยชน์ในเมืองคำเกิด คำมวน ไว้กับกงถือฝรั่งเศส ฉบับหนึ่งด้วย  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์

ศิลปาคมเสนาบดีว่าการกรมวังข้าหลวงใหญ่ซึ่งจัดราชการเมืองลาวพวน โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าขึ้นมารักษาราชการเมืองคำเกิด คำมวน ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามติดต่อกับเขตแดนเมืองญวน ที่น้ำแบ่งด้านตาบัวข้าพเจ้าได้รักษาราชการแลท้าวเพี้ยไพร่ทาษาต่าง ๆ ให้อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยโดยยุติธรรมมาช้านานหลายปี ครั้นถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ท่านกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ คน คุมทหารประมาณ ๒๐๐ เศษ มาปล้นข้าพเจ้า แล้วเอาทหารเข้าล้อมจับผลักไส แทงด้วยอาวุธ ขับไล่กุมตัวข้าพเจ้ากับข้าหลวงขุนหมื่นทหารออกจากค่าย ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ จะอยู่รักษาราชการผลประโยชน์ตามคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเจ้าของข้าพเจ้าต่อไป กงถือฝรั่งเศสหาให้อยู่ไม่ ฉุดฉากข้าพเจ้ากับขุนหมื่นทหาร ข้าพเจ้าขอมอบอายัติเขตแดนแผ่นดิน ท้าวเพี้ยไพร่แลผลประโยชน์ของฝ่ายกรุงสยาม ไว้กับกงถือฝรั่งเศส กว่าจะมีคำสั่งมาประการใด จึงจะจัดการต่อไปและให้กงถือฝรั่งเศสเอาหนังสือไปแจ้งกับคอนเวอนแมนฝรั่งเศสแลคอนเวอนแมนต์ฝ่ายสยาม ให้ชำระตัดสินคืนให้กับฝ่ายกรุงสยามตามทำเนียบแผนที่เขตแดนแผ่นดิน ซึ่งเป็นของกรุงสยามตามเยี่ยงอย่างธรรมเนียมที่ฝ่ายกรุงสยามถือว่าเป็นของฝ่ายกรุงสยามได้รักษามาแต่เดิม

 

                                 (เซ็นชื่อ) พระยอดเมืองขวางปลัด…"

          พระยอดเมืองขวางกับคณะถูกโกสกือแรงนายทหารฝรั่งเศสคุมตัวมาถึงแก่งเกียด พระยอดเมืองขวางได้ทหารจากท่าอุเทนเข้าสู้กับฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสตายเกือบหมด หนีรอดไปได้เพียง ๓ คน

          จากเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสได้กระทำในครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ประท้วงการกระทำต่อรัฐบาล

ฝรั่งเศสแต่ไม่ได้ผล ฝรั่งเศสกลับส่งกำลังคุกคามอาณาเขตไทยมากยิ่งขึ้น และกลับเป็นฝ่ายกล่าวหาว่าไทยเป็นผู้รุกราน

          ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบจำนวน ๒ ลำ เรือนำร่อง จำนวน ๑ ลำ เข้ามาในปากน้ำของไทย และได้เกิดยิงสู้กัน ป้อมพระจุลฯ ทำให้ทหารฝ่ายไทยตาย ๑๕ คน ฝรั่งเศสตาย ๒ คน บาดเจ็บ ๓ คน แต่ไม่อาจหยุดยั้งเรือรบฝรั่งเศสได้ และได้เข้ามาจอดที่กรุงเทพฯ บริเวณสถานทูตฝรั่งเศส

          จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดให้ไทยตอบรับภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรื่องที่จะให้ไทยมอบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เป็นดินแดนลาวให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ทูตฝรั่งเศส (ม.ปาวี) จึงได้เดินทางออกจากประเทศไทย และประกาศปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒

          ในที่สุดด้วยพระปรีชาญาณเล็งเห็นการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมเสียสละดินแดนส่วนน้อยเพื่อมิให้ต้องเสียดินแดนทั้งหมดพระราชอาณาเขตให้แก่ฝรั่งเศสดังที่ฝรั่งเศสเคยใช้วิธีการกับญวน และเขมรมาแล้ว พระองค์จึงได้ตกลงพระทัยยอมทำสัญญากับฝรั่งเศสด้วยความโทมนัส จนถึงกับทรงพระประชวร

          สำหรับสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) นั้นมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองอุดรธานี ดังต่อไปนี้คือ

 

หนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสแต่วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม และท่านประธานาธิบดีริบับลิก กรุงฝรั่งเศสมีความประสงค์เพื่อจะระงับกับความวิวาท ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ล่วงไปแล้ว ในระหว่างประเทศทั้งสองนี้ และเพื่อจะผูกพันทางไมตรีอันได้มีมาหลายร้อยปีแล้ว ในระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสนั้นให้สนิทยิ่งขึ้นจึงได้ตั้งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย ให้ทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ คือ

          ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ได้ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ-วโรประการ คณาภยันดรมหาจักรีและแครนด์ออฟฟิเชอร์ลิยิอองคอนเนอร์ ฯลฯ เสนาบดีว่าการต่างประเทศกรุงสยามฝ่ายหนึ่ง

          แลฝ่ายท่านประธานาธิบดี   ริปันลิกกรุงฝรั่งเศส   ได้ตั้งมองซิเออร์เลอร์     ชาวส์มาริเลอ

 มิร์เดอวิเลร์ ผู้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ แกรนด์ออฟฟิเชอร์ลิยิอองคอนเนอร์ แลจุลวราภรณ์อัครราชทูนผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง และที่ปรึกษาแผ่นดินอีกฝ่ายหนึ่ง

          ผู้ซึ่งเมื่อได้แลกเปลี่ยนตราตั้งมอบอำนาจแลได้เห็นเป็นการถูกต้องตามแบบแผนดีแล้ว ได้ตกลงทำข้อสัญญาดังมีต่อไปนี้

          ข้อ ๑. คอเวอนแมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน ณ ฝั่งซ้าย ฟากตะวันออกแม่น้ำโขง แลในบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นด้วย

          ข้อ ๒.  คอเวอนแมนต์สยามจะไม่มีเรือรบใหญ่น้อยไปไว้ ฤาใช้ดินแดนในทเลสาบก็ดี แลในลำน้ำแยกจากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ภายในที่อันได้มีกำหนดไว้ในข้อต่อไปนี้

          ข้อ ๓.  คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้างด่านค่ายคูฤาที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง แลเมืองนครเสียมราบ แลในจังหวัด ๒๕ กิโลเมตร (๖๒๕ เส้น) บนฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขง

          ข้อ ๔.  ในจังหวัดซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ นั้น บรรดาการตระเวนรักษาจะมีแต่กองตระเวนเจ้าพนักงานเมืองนั้น ๆ กับคนใช้เปนกำลังแต่เพียงที่จำเปนแท้ แลทำการตามอย่างเช่นเคยรักษาเปนธรรมเนียมในที่นั้น จะไม่มีพลประจำฤาพลเกณฑ์สรรด้วยอาวุธเป็นทหารอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ในที่นั้นด้วย

          ข้อ ๕. คอเวอนแมนต์สยามจะรับปฤกษากับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสภายในกำหนดหกเดือน แต่ปีนี้ไปในการที่จะจัดการเปนวิธีการค้าขาย แลวิธีตั้งด่านโรงภาษี  ในที่ตำบลซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ นั้น แลในการที่จะแก้ไขข้อความสัญญา ปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ คฤษตศักราช ๑๘๕๖ นั้นด้วย คอเวอนแมนต์สยามจะไม่เก็บภาษีสินค้าเข้าออกในจังหวัดที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 3 แล้วนั้น จนกว่าจะได้ตกลงกับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะได้ทำตอบแทนให้เหมือนกันในสิ่งของที่เกิดจากจังหวัดที่กล่าวนี้สืบ

          ข้อ ๖. การซึ่งจะอุดหนุนการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น จะมีการจำเปนที่จะทำได้ในฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขงโดยการก่อสร้างก็ดี ฤาตั้งท่าเรือจอดก็ดี ทำที่ไว้ฟืนและถ่านก็ดี คอเวอนแมนต์สยามรับว่าเมื่อคอเวอนแมนด์ฝรั่งเศสขอแล้ว จะช่วยตามการจำเปนที่จะทำให้สดวกทุกอย่างเพื่อประโยชน์นั้น

          ข้อ ๗. คนชาวเมืองฝรั่งเศสก็ดี คนในบังคับฤาคนอยู่ในปกครองฝรั่งเศสก็ดี ไปมาค้าขายได้โดยสะดวกในตำบลซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ เมื่อถือหนังสือเดินทางของเจ้าพนักงานฝรั่งเศสในตำบลนั้น ฝ่ายราษฎรในจังหวัดอันได้กล่าวไว้นี้จะได้รับผลเป็นการตอบแทนอย่างเดียวกันด้วยเหมือนกัน

          ข้อ ๘. คอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะตั้งกงศุลได้ในที่ใด ๆ ซึ่งจะคิดเห็นว่าเป็นการสมควรแก่ประโยชน์ของคนผู้อยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศสแลมีที่เมืองนครราชสีมาแลเมืองน่าน เป็นต้น

          ข้อ ๙. ถ้ามีความข้อข้องไม่เห็นต้องกัน ในความหมายของหนังสือสัญญานี้แล้ว ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้นจะเปนหลัก

          ข้อ ๑๐. สัญญานี้จะได้ตรวจแก้เปนใช้ได้ภายในเวลาสี่เดือนตั้งแต่วันลงชื่อกันนี้

          อรรคราชทูตผู้มีอำนาทเต็มทั้งสองฝ่ายซึ่งได้กล่าวชื่อไว้ข้างต้นนั้นฯ ได้ลงชื่อแลได้ประทับตราหนังสือสัญญานี้สองฉบับ เหมือนกันไว้เปนสำคัญแล้ว

          ได้ทำที่ราชวัลลภกรุงเทพฯ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒

 

                                      (เซ็นพระนาม)  เทวะวงษวโรประการ

 

          นอกจากนี้ฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้ไทยยอมรับข้อกำหนดในสัญญาน้อย ผนวกท้ายสัญญาเกี่ยวกับการถอนทหาร ดังนี้คือ

          "…ข้อ ๑. ว่าด่านหลังที่สุดของทหารฝ่ายสยามที่ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำโขงนั้นจะต้องเลิกถอนมาอย่างช้าที่สุดภายในเดือนหนึ่งตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน และ

             ข้อ ๒. บรรดาป้องค่ายคู อันอยู่ในจังหวัดที่กล่าวไว้ในข้อ ๓ ของหนังสือสัญญาฉบับใหญ่ที่ทำไว้วันนี้แล้ว จะต้องรื้อถอนเสียให้สิ้น…"

 

การย้ายที่บัญชาการมณฑลลาวพวน (พ.ศ. ๒๔๓๖)

          จากสัญญาใหญ่และสัญญาน้อยที่ฝ่ายไทยจำต้องยอมทำกับฝรั่งเศสนี้เอง เป็นเหตุให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวนจำต้องย้ายที่บัญชาการมณฑลลาวพวนที่ตั้งที่เมืองหนองคาย มาตั้งที่บ้านหมากแข้ง ดังปรากฏจากเอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่องจะถอยข้าหลวงหมากแข้งลงมาอยู่นครราชสีมา ร.ศ. ๑๑๒ - ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๗) ม.๕๙/๑๒ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          ๑. กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม บอกมาว่า ตามความที่โปรดเกล้าฯ ให้ชี้แจงตำบลบ้านเดื่อหมากแค่งซึ่งกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจะได้ไปตั้งพักอยู่นั้น ประโยชน์ของตำบลนี้คือ

          (๑) ถ้าฝรั่งเศสคิดข้ามมาจับฟากข้างนี้แล้วคงจะจับเมืองหนองคายก่อน เพราะเปนเมืองบริบูรณ์ ถ้ามาจับหนองคายแล้วจะได้มาโต้ทันเวลา

(๑) บ้านนี้ระยะทางกึ่งกลางที่จะไปมาบังคับราชการเขตลาวพวนได้ตลอด

(๒) โทระเลขในแขวงลาวพวนต้องมารวมในบ้านนี้ทั้งสิ้น

(๓) เสบียงอาหารแต่ก่อนมาเข้าที่จะเลี้ยงไพร่พลนั้น ด้วยเมืองลาวหาได้เก็บเงินค่านาไม่

เก็บแต่หางเข้าตามพรรณเข้าปลูกขึ้นฉางไว้ ถ้ามีข้าหลวงฤากองทัพก็ต้องจ่ายเลี้ยงข้าหลวงแลกองทัพถ้าสิ้นเข้าคงฉางแล้ว จึงต้องจ่ายเงินหลวงจัดซื้อเพิ่มเติม ถ้าข้าหลวงตั้งอยู่เมืองน้อย ๆ เข้าไม่พอก็ต้องจัดซื้อ ไม่ได้ใช้ขนเข้าเมืองอื่นมาเจือจาน ที่ตำบลบ้านนี้เปนบ้านอยู่ในระหว่างเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร ขอนแก่น เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย จะได้ใช้เสบียงเมืองเหล่านี้ ไม่ต้องออกเงินหลวงให้เปลืองพระราชทรัพย์

          (๕) เมืองสกลนคร แม้ว่าจะเป็นที่ภูมิถานใหญ่โตสบายก็จริง แต่ในปีนี้น้ำท่วมเสบียงอาหารเสียสิ้น ถ้าจะยกกองข้าหลวงไปตั้งก็จะต้องเสียเงินมาก แลจะไม่มีที่ซื้อเข้าด้วย อนึ่งระยะทาง

โทระเลขตั้งแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปหนองคาย อย่างเร็ว ๘ วัน อย่างช้า ๑๒ วัน ถ้าที่เมืองสกลนคร โทระเลขจะต้องอย่างเร็ว ๑๔ วัน อย่างช้า ๑๘ วัน

          (๖) ได้คิดดูในตำบลนี้ก็อยู่นอก ๒๕ กิโลมิเตอร์ ตามแผนที่ฝรั่งเศส ซึ่ง ม.ปาวี เปนผู้ทำส่งพระราชทานขึ้นไป บ้านนี้อยู่ในอายันต์เหนือ ๑๗ องษา ๒๗ นาที อายามตวันออกของปารีศ ๑๐๐ องษา ๒๒ นาที แต่ที่จะพูดกับอ้ายฝรั่งเศสเป็นมนุษย์ดื้อ ๆ ด้าน ๆ ปราศจากความอายแล้วก็คงจะทำให้ขุ่นเคือง ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ จึงปฤกษาตกลงกันว่าควรจะไปตั้งที่บ้านน้ำฆ้อง เมืองกุมภวาปีดีกว่า คงจะได้ประโยชน์เหมือนกับบ้านเดื่อหมาแค่ง ทุกอย่าง

          กรมหมื่นดำรง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้ทรงตอบไปว่า

          ตามดำริห์ ของกรมหมื่นประจักษ์ที่จะเลื่อนไปตั้งที่บ้านน้ำฆ้อง เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสทักท้วงได้ในภายน่านั้น ที่บ้านเดื่อหมากแค่งก็อยู่นอก  ๖๒๕ เส้นแล้ว แต่จะทรงพระดำริห์เลือกที่อื่นก็ตามการนี้แล้วแต่กรมหมื่นประจักษ์จะทรงเลือกหา เพราะทรงทราบท้องที่ดีอยู่แล้ว กรมหมื่นดำรงไม่สามารถจะมีพระราชดำริห์ให้ดีกว่าได้

          ๒. กรมหมื่นประจักษ์โทระเลขมาว่า ได้ยกออกจากเมืองหนองคาย ในวันที่ ๑๖ มกราคม ได้เดินทางถนนรัชฎาภิเศก อีกฉบับหนึ่งว่า ได้ยกมาถึงบ้านหมากแค่ง วันที่ ๑๘ มกราคม

          ดังนั้น จากหนังสือกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ        ได้ทรงไว้วางใจและเชื่อในพระปรีชาสามารถของกรมหมื่นประจักษ์ -

ศิลปาคม ในการที่จะเลือกตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ถึงกับได้นำความเห็นของพระองค์ (กรม-

พระยาดำรงฯ) ที่มีต่อพระดำริของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ในเรื่องที่จะขอให้ตัดสินใจได้เอง นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ แลกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงแนบความรู้เรื่องบ้านเดื่อหมากแข้ง ดังนี้คือ

 

"ความรู้เรื่องบ้านเดื่อหมากแข้ง

พื้นที่

          บ้านเดื่อหมากแข้ง เปนแขวงเมืองหนองคาย มีเรือน (ร.ศ. ๑๐๙) ไม่เกิน ๒๐๐ หลังคาเรือน เปนบ้านอยู่ในที่ราบชายเนิน, ด้านตะวันออกเปนที่ทุ่งนาใหญ่ ตลอดมาต่อทุ่งขายหนองหาร เปนต้นทางร่วมที่มาจากเมืองใกล้เคียง แต่เปนที่บ้านป่าขับขันกันดาน ต้องอาไศรยเสบียงอาหารจากเมืองหนองคายและเมืองสกลนคร

ทางส่งข่าว

          ส่งข่าวทางโทรศัพท์แต่กรุงเทพฯ ไปบ้านเดื่อหมากแข้งอย่างเร็ว ๘ วัน อย่างช้า ๑๒ วัน

ระยะทางไปเมืองที่ใกล้เคียง

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองนครรราชสีห์มา  ทาง            ๘ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหนองคาย  ทาง                  ๓ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหนองหาร  ทาง                  ๑ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองกุมภวาปี  ทาง                   ๒ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองกมุทาไสย  ทาง                  ๒ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหล่มศักดิ์  ทาง                   ๗ วัน

          จากบ้านหมากแข้งไปเมืองสกลนคร  ทาง          ๔ วัน

          เหตุผลหนึ่งที่กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงมีความพอพระราชหทัยในตำบลที่ตั้งของบ้านหมากแข้งนั้น ท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดมัชฉิมาวาส และรองเจ้าคณะภาค ๘ ได้เล่าไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือประวัติวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี ความว่า

          "…การย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวนมายังบ้านเดื่อหมากแข้งนั้น คนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าไว้ว่าต้องใช้เกวียนประมาณ ๒๐๐ เล่ม เป็นพาหนะได้ออกเดินทางรอนแรมมาโดยลำดับถึงน้ำซวย (ซวย หมายถึง ปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนเรียกน้ำสวย) เสด็จในกรมฯ ได้ให้ตรวจดูพื้นที่ เพื่อจะได้ตั้งกองบัญชาการ แต่เมื่อได้ตรวจดูโดยถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่ามีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ในโอกาสข้างหน้า และตั้งอยู่จากฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น พระองค์ได้อพยพรอนแรมมาทางทิศใต้โดยลำดับ ห่างจากน้ำซวยนั้นประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง จึงได้พักกองเกวียนอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส ในบริเวณอนามัยจังหวัดในปัจจุบัน จึงได้ให้ออกสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง ในบริเวณใกล้เคียงทางทิศตะวันออกมี หนองบัวกลอง หนองเหล็ก ทางทิศใต้มีหนองขอนขว้าง ทางทิศตะวันตกมี หนองนาเกลือ หนองวัวข้อง หนองสวรรค์ และทางทิศเหนือมี หนองสำโรง หนองแด และมีลำห้วยหมากแข้ง ซึ่งมีต้นน้ำจากภูเขาพานมีน้ำใสสะอาด มีป่าไผ่ปกคลุม มีปลา เต่า จระเข้ ชุกชุมมาก ลำน้ำนี้ไหลผ่านจากทิศใต้สู่ทิศเหนือลงลำห้วยหลวง เสด็จในกรมจึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการสร้างบ้านแปลงเมืองลง ณ พื้นที่ดังกล่าวนี้…"

 

ตำนานบ้านหมาแข้ง

          ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า บ้านหมากแข้ง เนื่องจากเดิมเป็นบ้านร้างเรียกว่า บ้านหมากแข้ง เพราะมีต้นหมากแข้ง (มะเขือพวง) ใหญ่ต้นหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งมีตำนานเล่ากันสืบมา เรื่องบ้านหมากแข้งว่า

          "…บริเวณใกล้เคียงที่สร้างวังของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดมัชฌิมา-

วาส มีโนนอยู่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "โนนหมากแข้ง" มีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดังกรงนกเขาตั้งอยู่ที่โนนนั้น เล่ากันสืบมาว่า เป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่ นัยว่ามีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่ต้นหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงล้านช้างร่มขาวได้ให้มาโค่นไปทำกลอง และทำเป็นกลองขนาดใหญ่ได้ถึง ๓ ใบ ใบหนึ่งเอาไปไว้ที่นครเวียงจันทน์ ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเหตุในเมื่อข้าศึกศัตรูมาราวี เมื่อตีกลองใบนี้พระยานาคจะขึ้นมาช่วยรบข้าศึกศัตรูให้พ่ายแพ้ แต่ภายหลังถูกเชียงเมี่ยงไปหลอกให้ทำลายกลองใบนี้เสีย ชาวเวียงจันทน์จึงไม่มีพระยานาคมาช่วยดุจในอดีต ใบที่สองนำไปไว้ที่พระนครหลวงพระบางส่วนใบที่สามเป็นใบที่เล็กกว่า ๒ ใบนั้น ได้นำไปไว้ที่วัดหนองบัว (วัดเก่าตั้งอยู่ติดกับถนนสายอุดร - สกลนคร ห่างจากทางรถไฟประมาณ ๕ เส้น ยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) เพราะมีกลองหมากแข้งอยู่ที่วัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งหนองบัว จึงเรียกว่า หนองบัวกลอง (แต่ในปัจจุบันคำว่ากลองหายไป คงเหลือแต่หนองบัวเท่านั้น) ต้นหมากแข้งต้นนี้คนในสมัยก่อนไม่มีความชำนาญในมาตรวัด จึงบอกเล่าขนาดไว้ว่า ตอต้นหมากแข้งนั้น ภิกษุ ๘ รูปนั่งฉันจังหันได้สะดวกสบาย…"

          แสดงว่าต้นหมากแข้งต้นนั้นใหญ่โตมากเอาการทีเดียว แต่คงไม่ได้หมายความว่าภิกษุทั้ง ๘ รูป นั้นนั่งบนตอหมากแข้ง เห็นจะหมายความว่าภิกษุ ๘ รูปนั่งวงล้อมรอบตอหมากแข้ง โดยใช้ตอหมากแข้งนั้นเป็นโต๊ะหรือโตกสำหรับวางอาหาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมองเห็นว่าเป็นต้นหมากแข้งที่ใหญ่มากทีเดียว

          เรื่องต้นหมากแข้งนี้ ท่านเจ้าคุณปู่พระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ บุญญศิริมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ซึ่งได้มาอยู่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ คือหลังจากสร้างวัดเพียง ๔ ปี ได้เล่าว่า ที่โนนหมากแข้งนั้นมีต้นหมากแข้งขนาดเล็กอยู่มากมาย และมีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าวขนาดเขื่องอยู่ต้นหนึ่ง แต่มีลำต้นไม่สูง เป็นพุ่มมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกอย่างไพศาล ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๒ มีแบ้ (แพะ) ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ จำนวนมากได้มากินใบกินกิ่งก้านของมันมันจึงตายเข้าใจว่า ต้นหมากแข้งต้นนี้จะเป็นหลานหรือเหลนของต้นหมากแข้งที่เจ้าเมืองลานช้างร่มขาวเอาไปทำกลองเพลนั้นแน่ เจดีย์ศิลาแลงนั้นตั้งอยู่ตรงกลางพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาส ในปัจจุบันนี้

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง

          ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ ๑/๑๗๔ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม สรุปความว่าพระองค์ทรงเห็นชอบด้วยกับกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ที่ได้เลือกบ้านหมากแข้งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ดังความตอนหนึ่งว่า

          "…บัดนี้ ได้ทราบว่า ที่ถอยลงมาตั้งอยู่บ้านหมากแข้ง ว่าเปนที่กลางป่า ไข้เจ็บชุกชุม ไม่เปนภูมิสถานซึ่งจะตั้งมั่งคงสำหรับข้าหลวงต่างพระองค์ ยั่งยืนต่อไปได้ จึ่งได้เรียกแผนที่มาดูก็เห็นอยู่ว่าตำบลซึ่งเธอถอยลงมาตั้งนั้น เปนที่สมควรแก่จะยึดหน่วงหัวเมืองริมฝั่งโขง แลจะส่งข่าวถึงหัวเมืองทั้งปวงได้โดยรอบคอบ มีระยะทางไม่สู้ห่างไกลทุกทิศ แต่เมื่อไต่สวนถึงประเทศที่นั้นก็ไปได้ความว่าเปนที่ไม่บริบูรณดี และมีไข้เจ็บชุกชุม มีความสงสารตัวเธอแลไพร่พลทั้งปวง ซึ่งขึ้นไปอยู่ด้วยจะได้ความลำบาก เจ็บป่วย จึ่งขอหาฤาตามความเห็นต่อไป…" และได้ทรงหารือกับกรมหมื่นประจักษ์

ศิลปาคมว่า หากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจะถอยลงมาอยู่ที่นครราชสีมาและให้ข้าหลวงไพร่พลอยู่ที่บ้านหมากแข้งก็ได้ แต่จะมีผลเสียทำให้หัวเมืองลาวเห็นว่า ฝ่ายเราย่อท้อต่อฝรั่งเศส และได้ทรงให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมตัดสินพระทัยเอง

          กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) สรุปความว่า กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงมีความเห็นว่าภูมิประเทศของบ้านหมากแข้ง เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ ดังความตอนหนึ่งว่า

          "…ข้าพระพุทธเจ้า ใด้ภักที่นี้ด้วยเวลาเดินทาง ๒ ครั้ง ต้องภักอยู่ ๒ เวลา ทั้ง ๒ คราวเพราะชอบภูมที่จริง ๆ ครั้นใด้มาอยู่จิงจังเข้าก็ยิ่งชอบมากขึ้น แต่เปนธรรมดาที่ ๆ ใดห่างจากบ้านเมืองที่ราษฎรค้าขายก็จำเปนที่จะหาอาหารลำบาก แต่บัดนี้ ก็บริบูรณกว่าเมืองอื่น ๆ ที่ใด้เห็นและพวกที่ใปมายังซ้ำกล่าวว่า ที่หนองคายเดี๋ยวนี้ ตลาดร่วงโรยใป สู้ที่นี้ใม่ใด้ จะยอให้หรืออย่างใร ใม่ทราบเกล้าฯ แต่ถ้าจะยอก็ละเอียดพอรับใด้คือ ใด้เดินตรวจดูในปี ๑๑๓ มีเรือนราษฎรอพยพเข้ามาจากหนองคาย และออกมาจากหนองละหาร - กุมภวาปี ขรแก่น เปนอันมาก กลางคืนแลดูเหนใฟรายใบ คล้ายแพที่จอดในลำน้ำกรุงเทพ จนมีพยานใด้ว่าเมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ พระยาใตรเพชรัตนสงครามข้าหลวงหนองคายสั่งให้คนเข้ามาซื้อศีศะหอมที่บ้านหมากแข้ง ๑ บาท ใด้ถามใด้ความว่า ที่โน่นใม่มีใครปลูกเพราะขายใม่ใด้…"

          ส่วนทางด้านความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่บ้านหมากแข้ง มีโรคภัยน้อยกว่าที่หนองคาย และในที่สุดกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงกราบบังคมทูลฯ ในตอนท้ายด้วยความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อความจงรักภักดีในแผ่นดิน และองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีความยากลำบากสักปานใดก็ตามดังความว่า

          "…จะคิดถึงการแผ่นดินแล้ว เท่านี้ยังเพียงนี้ ถ้ายิ่งกว่านี้จะทำอย่างไรสู้แลกกับมันตัวต่อตัวดีกว่า เหนดีกว่านอนให้ฝีในท้องกินตาย…"

๒๗

 

          ในที่สุดบ้านหมากแข้งก็ได้เป็นสถานที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วยกับความเห็นของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ตามพระราชหัตถเลขาที่ ๑๒๘/๒๘๐๘ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓ (พ.ศ.๒๔๓๗)

ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า   

          "…ถึง กรมดำรงราชานุภาพ ด้วยตามที่เธอได้ขอให้จดหมายไปถึง      กรมหมื่นประจักษ์

ศิลปาคมอันได้ส่งสำเนามาให้ดูแต่ก่อนแล้ว บัดนี้ ได้รับคำตอบยืนยันว่า บ้านหมากแข้งเป็นที่สมควรแลสมัคใจที่จะอยู่ในที่นั้น มีปันซ์ แลยูดี อไรเจือปนต่าง ๆ ได้ส่งสำเนามาให้ดูด้วย เมื่อตรวจสอบแผนที่ฤามีความเห็นที่จะอธิบายโต้แย้งอีกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบจะได้ตอบกรมหมื่นประจักษ์…"

          และได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ ๒/ ๓๔๕๐ ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ความว่า

          "…ด้วย ได้รับหนังสือ ลงวันที่ ๒ มกราคมนี้ ซึ่งตอบช้าไป เพราะเหตุใดเธอคงจะทราบอยู่แล้วการซึ่งเธอเหนว่า บ้านหมากแข้งเปนที่สมควรจะตั้งอยู่ โดยอธิบายหลายประการนั้น ก็ให้ตั้งอยู่ที่นั้นจัดการเต็มตามความคิดที่เห็นว่าจะเป็นคุณแก่ราชการ…"

 

บ้านหมากแข้งที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ดเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) ได้ทรงเล่าถึงเมืองอุดร (ขณะเป็นบ้านหมากแข้ง) ในขณะนั้นไว้ว่า

          "…เวลานี้ที่ว่าการมณฑล ที่ว่าการอำเภอ ศาล เรือนจำ โรงทหาร โรงพัก ตำรวจภูธร ออฟฟิศ ไปรษณีย์ โทรเลข และบ้านเรือนข้าราชการอยู่ติดต่อเป็นระยะลำดับกันไป มีตลาดขายของสดและมีตึกอย่างโคราชของพ่อค้า นายห้างบ้าง มีวัดเรียกวัดมัชฌิมาวาสตั้งอยู่บนเนิน และมีบ่อน้ำใหญ่สำหรับราษฎรได้ใช้น้ำทุก ๆ ฤดูกาลด้วย มีบ้านเรือนราษฎรมาตั้งอยู่หลังบ้านข้าราชการ มีถนนตัดตรง ๆ ไปตามที่ตั้งที่ทำการและตลาดเหล่านี้หลายสาย และเมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าจะมาคราวนี้ มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่งและเมื่อรื้อที่ว่าการบัดนี้ ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ถนนสายนี้ จะบรรจบกับถนนเก่าเป็นถนนยาวและงามมาก…"

          และได้ทรงอธิบายถึงหนองนาเกลือว่า

          "เป็นหนองใหญ่  เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น ได้ขนานนามว่าหนองประจักษ์"

          กองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้งในเวลานั้น นายสังข์ นุตราวงศ์ ทนายความอดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมคนเก่าแก่เมืองอุดรธานี ได้เล่าให้ฟังว่า

          "…ที่ทำการมณฑลและสถานที่ราชการต่าง ๆ นั้น ตั้งอยู่บริเวณใกล้หนองน้ำใหญ่ที่มีชื่อว่า หนองนาเกลือ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นหนองประจักษ์ในภายหลัง) บริเวณศาลาว่าการมณฑลและศาลประจำมณฑลอยู่ติดกัน และหันหน้าที่ทำการไปทางทิศเหนือ เพราะทั้งนี้ เนื่องจากเตรียมรับข้าศึกหากจะมีการรบกับฝรั่งเศส ส่วนที่ประทับของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมนั้น อยู่บริเวณที่เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรงข้ามกับวัดวัชฌิมาวาสวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวพวนสืบต่อจากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม บริเวณที่เป็นทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าลักษณะคล้ายทุ่งนาผสมป่าละเมาะ มีต้นไม้ใหญ่อยู่อย่างประปราย

          นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นสำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมทหารส่วนเรือนจำนั้นตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานีในเวลานี้ และสำหรับหนองนาเกลือนั้นในเวลานั้นเป็นหนองน้ำที่กว้างใหญ่ เมื่อคนจะข้ามมาติดต่อกับส่วนราชการที่ตั้งศาลาว่าการมณฑลจากฝั่งหนองนาเกลือด้านตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกก็จะต้องจ้างเรือแจวที่มีผู้มารับจ้างที่หนองนาเกลือเพราะในเวลานั้นน้ำลึก มีปลา และจรเข้ชุกชุม…"

          ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิรูปการปกครองนั้น (ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕) การปกครองของประเทศไทยในส่วนภูมิภาคเป็น "ระบบกินเมือง" จึงได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นแบบเทศาภิบาล โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕

(ร.ศ. ๑๑๑) โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ (เฉพาะในมณฑลลาวพวน เรียกว่า ข้าหลวงต่างพระองค์) ต่อมาได้ทรงเลิกตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ มีตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลแทนขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งสามารถแบ่งเบาพระราชภาระในการปกครองแผ่นดินลงได้ทั้งยังสามารถอำนวยความสุขร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์ได้เป็นอย่างดี

          ดังนั้น บ้านหมากแข้งในฐานะกองบัญชาการมณฑลลาวพวน จึงมีข้าหลวงใหญ่ปกครองตามลำดับ คือ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (ร.ศ. ๑๑๒ - ๑๑๘) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา

(ร.ศ. ๑๑๘ - ๑๒๕) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองมณฑลจากข้าหลวงใหญ่ (หรือข้าหลวงต่างพระองค์) เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

          ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ (ร.ศ. ๑๑๘) ปีกุน เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ โดยมีเมืองต่าง ๆ รวม ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ คือ เมืองหนองคาย หนองหาน ขอนแก่น ชนบท หล่มศักดิ์ กมุทาสัย สกลนคร ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน นครพนม มุกดาหาร

          ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลอุดรและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองที่จัดแบ่งไว้ในมณฑลอุดรมีมากเกินความจำเป็นในการปกครอง จึงทรงรวมหัวเมืองในมณฑลเป็นบริเวณซึ่งมีฐานะเท่าจังหวัดเพื่อให้เหมาะสมแก่การปกครอง และโปรดให้ยุบเมืองจัตวาบางเมืองลงเป็นอำเภอ ส่วนอำเภอใดที่เคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองที่ตั้งเป็นบริเวณหรือสมควรจะให้ขึ้นกับบริเวณใดก็ให้รวมเข้าไว้ในบริเวณนั้น โดยโปรดให้แบ่งออกเป็น ๕ บริเวณ คือ

          (๑) บริเวณหมากแข้ง มี ๗ เมือง คือ บ้านหมากแข้ง  เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย เมืองโพนพิไศรย เมืองรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการบริเวณที่บ้านหมากแข้ง

          (๒) บริเวณพาชี มี ๓ เมือง คือ เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองขอนแก่น

          (๓) บริเวณธาตุพนม มี ๔ เมือง คือ เมืองนครพนม เมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองมุกดาหาร ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองนครพนม

(๔) บริเวณสกลนคร มี ๑ เมืองคือ เมืองสกลนคร ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองสกลนคร

(๕) บริเวณน้ำเหือง มี ๓ เมือง คือ เมืองเลย เมืองบ่อแตน เมืองแก่นท้าว ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองเลย

ลักษณะการปกครองที่รวมเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และจัดแบ่งการบริหารออกเป็น ๕ บริเวณ ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด ส่วนเมืองที่อยู่ในสังกัดบริเวณมีฐานะเทียบเท่ากับอำเภอนั้นอาจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดการปกครองในมณฑลอุดรให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณ ควบคุมเจ้าเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีข้าหลวงตรวจการประจำเมืองควบคุมอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าอำนาจจากส่วนกลางได้ขยายออกไปควบคุมอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้ผลดียิ่งขึ้น สามารถควบคุมเจ้าเมืองและตรวจตราทุกข์สุขของราษฎรได้อย่างทั่วถึง

 

 

ขบถผู้มีบุญที่มณฑลอุดร

          ในระหว่างปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๔ จนถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้มีเหตุการณ์สำคัญขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือมีขบถที่เกิดขึ้นเรียกว่า ขบถผู้มีบุญ หรือผีบุญ ในมณฑลอุดรและมณฑลอิสาน เนื่องจากมีผู้พบลายแทง ความว่า

          "…ราวเดือน ๓ เพ็ญ ถึงเพ็ญเดือน ๔ จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง เงินทองทั้งปวงจะกลายเป็นกรวดทรายไปหมด ก้อนกรวดในหินแลงจะกลับเป็นเงินทอง หมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคนแล้วท้าวชัยมิกราชผู้มีบุญ (คือ ผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากจะพ้นภัยก็ให้คัดลอก หรือบอกความลายแทงให้รู้กันต่อ ๆ ไป ใครอยากจะมั่งมีก็ให้เก็บกรวดหินและรวบรวมไว้ให้ท้าวชัยมิกราชชุบเป็นเงินทอง ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าหมูเสีย อย่าให้มันกลายเป็นยักษ์…"

          จึงได้เกิดมีผู้มีบุญประมาณ ๑๐๐ คน ทั่วมณฑล มณฑลอุดรและมณฑลอีสานได้มีราษฎรพากันเข้ามาเป็นพวกเป็นจำนวนมาก บรรดาผู้มีบุญได้กำเริบเสิบสานถึงกลับพาพรรคพวกเข้าปล้นและเผาเมืองเขมรราฐ ในจังหวัดอุบลราชธานี และขยายความรุนแรงไปทั่วมณฑลอุดรและมณฑลอิสาน

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พันเอกพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ (จัน อินทรกำแหง) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาเป็นข้าหลวงพิเศษ ผู้ช่วยปราบปรามผีบุญทั้ง ๒ มณฑล โดยใช้ทหารบก พลตระเวน และทหารพื้นเมืองจากมณฑลนครราชสีมา, มณฑลอุดร,

มณฑลอีสาน และมณฑลบูรพา สามารถปราบปรามขบถผู้มีบุญได้สำเร็จในเวลารวดเร็ว

          ดังนั้น มณฑลอุดรจึงมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านหมากแข้งเหมือนเมื่อครั้งเป็นมณฑลลาวพวน, มณฑลฝ่ายเหนือและมีสมุหเทศาภิบาล ปกครองสืบต่อมา ๕ คน

          พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดร ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๙ – ๒๔๕๕ ในระยะเวลานี้มณฑลอุดรยังคงแบ่งการปกครองออกเป็น ๕ บริเวณ และมีผู้ปกครองดังนี้ คือ

          (๑) บริเวณหมากแข้ง พระรังสรรคสรกิจ (เลื่อน) เป็นข้าหลวงบริเวณมีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ “เมืองอุดรธานี” พระประทุมเทวาภิบาล (เสือ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุรักษ์ประชาราษฎร์ เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง แบ่งออกเป็น ๘ อำเภอ คือ

          ๑. อำเภอหมากแข้ง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองอุดรธานี)

          ๒.อำเภอหนองค่าย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองหนองคาย)

          ๓. อำเภอท่าบ่อ

๔. อำเภอหนองหาร

  • ๕. อำเภอเมืองกมุทธาไสย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอหนองบัวลำภู)

๖. อำเภอโพนพิสัย

๗. อำเภอกุมภวาปี

๘. อำเภอรัตนวาปี

(๒) บริเวณธาตุพนม พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) เป็นข้าหลวงบริเวณมี

เมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ “เมืองนครพนม” พระยาพนมนครานุรักษ์ (กา พรหมประกาย ณ นครพนม) เป็นผู้ว่าราชการเมือง มีอำเภอปกครอง ๑๑ อำเภอ คือ

          ๑. อำเภอเมืองนครพนม

          ๒. อำเภอมุกดาหาร

  • ๓. อำเภอหนองสูง (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองสูงและตำบลหนองสูงใต้ ขึ้นกับอำเภอคำชะอี)
  • ๔. อำเภอเมืองชัยบุรี (ปัจจุบันยุบขึ้นเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน)

      ๕. อำเภอเมืองท่าอุเทน (ต่อมาเปลี่ยนเป็น อำเภอท่าอุเทน)

          ๖. อำเภอเมืองเรณูนคร

          ๗. อำเภออาจสามารถ

          ๘. อำเภอเมืองอากาศอำนวย

          ๙. อำเภอเมืองกุสุมาลย์มณฑล

๑๐. อำเภอเมืองโพธิไพศาล (ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนคร)

          ๑๑. อำเภอรามราช (ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน)

          (๓) บริเวณสกลนคร หลวงวิสัยสิทธิกรรม (จีน) เป็นข้าหลวงบริเวณ มีพระยาประจันต-

ประเทศธานี (โหง่นคำ ต้นสกุล พรหมสาขา ณ สกลนคร) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุบาลสกลเขต (เมฆ พรหมสาขา ณ สกลนคร น้องชาย พระยาประจันตประเทศธานี) เป็นปลัดเมือง ได้แบ่งอำเภอปกครองออกเป็น ๕ อำเภอ คือ

          ๑. อำเภอเมืองสกลนคร

          ๒. อำเภอพรรณานิคม

          ๓. อำเภอวาริชภูมิ

  • ๔. อำเภอวานรนิวาส

๕. อำเภอจำปาชนบท (ปัจจุบัน คือ อำเภอพังโคน)

          (๔) บริเวณพาชี (หรือภาชี) ขุนผดุงแคว้นประจันต์ (ช่วง) เป็นข้าหลวงบริเวณ มีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ เมืองขอนแก่น ผู้ว่าราชการเมืองเวลานั้นว่าง มีอำเภอในสังกัด ๔ อำเภอ คือ

๑. อำเภอเมืองขอนแก่น

๒. อำเภอเมืองมัญจาคีรี

๓. อำเภอชนบท

๔. อำเภอภูเวียง

          (๕) บริเวณน้ำเหือง พระรามฤทธี (สอน ต้นสกุล วิวัฒน์ปทุม) เป็นข้าหลวงบริเวณพระศรีสงคราม (มณี เหมาภา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง ตั้งที่ทำการบริเวณ ณ เมืองเลย มีอำเภอปกครอง ๓ อำเภอ

๑. อำเภอเมืองเลย

๒. อำเภอท่าลี่

๓. อำเภออาฮี (ปัจจุบันยุบเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าลี่)

 

ตั้งเมืองอุดรธานีเป็นเมืองจัตวา

          เนื่องจากลักษณะการปกครองที่แบ่งเป็นบริเวณมีฐานะเทียบเท่าเมืองดังกล่าว แต่ชื่อยังคงใช้คำว่า "บริเวณ" อยู่นั้น เพื่อให้การเรียกชื่อไม่สับสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระบรมราชโองการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทย จัดดำเนินการให้รวมหัวเมืองมณฑลอุดรเข้าเป็นเมืองจัตวารวม ๗ เมือง คือ

          (๑) ให้รวมเมืองกมุทาไสย เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาร อำเภอบ้านหมาแข้ง ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า "เมืองอุดรธานี" เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลอุดร

(๒) หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่ก่อนว่า บริเวณพาชีนั้น ให้เปลี่ยนเรียกว่า "เมืองขอนแก่น"

          (๓) หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า บริเวณน้ำเหืองนั้นให้เปลี่ยนเรียกว่า "เมืองเลย"

          (๔) หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า บริเวณสกลนครนั้นให้เปลี่ยนเรียกว่า "เมืองสกลนคร"

          (๕) หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า บริเวณธาตุพนมนั้น ให้เปลี่ยนเรียกว่า "เมืองนครพนม"

(๖) เมืองหนองคาย

(๗) เมืองโพนพิสัย

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองมณฑล

อุดรเข้าเป็นเมืองจัตวา ๗ เมืองนั้น จะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการบริหารการปกครองที่มีการแบ่งการปกครองเป็นบริเวณและจังหวัด เนื่องจากการบริหารงานในบริเวณมีฐานะเทียบเท่าจังหวัดดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นพระองค์จึงทรงจัดรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดยุบมาจากบริเวณ ส่วนเมืองที่อยู่ในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ การจัดระเบียบบริหารการปกครองดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้การปกครองแบบเทศาภิบาลได้รับผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการรับการบริหารการปกครองให้รัดกุมยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในเวลาต่อมา

 

พิธีตั้งเมืองอุดรธานี วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐)

                พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พร้อมกับกรมการเมืองข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน จัดพิธีตั้งเมืองอุดรธานี ณ สนามกลางเมือง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ สำหรับความละเอียดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวปรากฏตามพระหัตถเลขาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ราชเลขานุการ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละองธุลีพระบาท ตามหนังสือศาลาว่าการมหาดไทย ที่ ๒๑๐ / ๘๘๐ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ ดังต่อไปนี้

 

                                                         (สำเนา)

                                                                               

ที่ ๒๑๐ / ๘๘๐                                                                       ศาลาว่าการมหาดไทย

 

                                                   วันที่ ๒๗ เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๗

 

กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ทรงทราบ

                ด้วยเกล้าฯ ได้รับใบบอกพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดรที่ ๓/๓๑ ลงวันที่ ๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ ว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกมุทธาไสย ๑ เมืองกุมภวาปี ๑ เมืองหนองหาร ๑ อำเภอบ้านหมากแข้ง ๑ ตั้งเป็นเมืองจัตวา "เรียกว่าเมืองอุดรธานี" นั้น พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ เห็นว่าการที่ตั้งเมืองใหม่เช่นนี้ควรต้องมีการพิธีเพื่อให้เป็นศิริสวัสดิมงคลและแสดงความรื่นเริง เพราะฉนั้นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์แลข้าราชการจึงได้พร้อมกันออกทรัพย์รวมเป็นเงิน ๘๒๗ บาท ได้เริ่มจัดการพิธีเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.  ๑๒๖ เวลาบ่าย ๔ โมงได้อาราธนาพระสงฆ์ ๕๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ที่ปรำสนามกลางเมืองอุดรธานีเวลาค่ำมีการมะโหรศพและดอกไม้เพลิง ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ เวลาเช้าข้าราชการได้พร้อมกันถวายอาหารบิณฑบาตร์และเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ๕๐ รูป เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจึงได้อ่านประกาศตั้งเมืองที่ปรำพิธีพร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือนตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนทั้งหลาย เมื่อเสร็จการอ่านประกาศแล้วพระสงฆ์ ๕๐ รูป ได้สวดไชยันโต แคนวงและพิณพาทย์ได้ทำเพลงสรรเสริญพระบารมี ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนได้โห่ถวายไชยมงคล ๓ ครั้ง เมื่อถึงเวลาค่ำได้มีการเลี้ยงและการละเล่นจุดดอกไม้เพลิง รุ่งขึ้นวันที่ ๒ เมษายน ได้มีการเลี้ยงอาหารกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและมีการละเล่นเหมือนอย่างวันก่อน รวมเวลาที่กระทำพิธีตั้งเมืองอุดรธานี ๓ วัน พระยาศรีสุริย

ราชวรานุวัตร์ และบรรดาข้าราชการที่ได้ออกทรัพย์มีนามและจำนวนเงินตามบาญชีซึ่งได้ถวายมาพร้อมกับจดหมายนี้พร้อมกัน  ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล มีความใบบอกดังนี้

                ขอได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

 

                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

                                                             ดำรง

                                                เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 

                                                                                                                ป,พ,

                                                                                                                ก.ท.

 

 

 

 

 

 

 

 

                             สำเนาที่ ๑๓๘๐ กระทรวงมหาดไทยรับวันที่ ๒๒ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗

                                บาญชีรายนามผู้ที่ออกทรัพย์ในงานเปิดเมืองอุดรธานี

 

รายนาม

ตำแหน่ง

เมือง

จำนวนเงิน

หมายเหตุ

 

 

 

.

.

 

พระยาศรีสุริยราช

ข้าหลวงเทศา

หมากแข้ง

๑๗๐

-

 

พระยาสุนทร

ข้าหลวง

นครพนม

๓๕

-

 

พระยาพิไสยสรเดช

นายอำเภอ

โพนพิสัย

๑๐

-

 

พระรามฤทธิ์

ข้าหลวง

เมืองเลย

๑๐

-

 

ขุนวรภักดิ์พิบูลย์

ข้าหลวงมหาดไทย

อุดรธานี

๒๐

-

 

หลวงพิไชย

พธำมรงค์

อุดรธานี

๑๐

-

 

หลวงวิตร์

ข้าหลวงสรรพากร

อุดรธานี

๒๐

-

 

นายสดจำรอง

-

อุดรธานี

๑๐

-

 

หลวงบริรักษ์

ข้าหลวงคลัง

อุดรธานี

๒๐

-

 

หม่อมเจ้าคำงอก

ผู้ช่วยข้าหลวงคลัง

อุดรธานี

-

 

ขุนอักษรเลขา

เลขานุการ

อุดรธานี

๑๐

-

 

ขุนประจิตร์รัฐกรรม

ว่าที่ยกรบัตร์เมือง

อุดรธานี

๑๕

-

 

ขุนไตร

-

อุดรธานี

-

 

นายถึง

เสมียน

อุดรธานี

-

 

ขุนสวัสดิ์

-

อุดรธานี

๔๔

-

 

นายต่อม

เสมียน

อุดรธานี

-

 

หลวงผลานันตกิจ

ข้าหลวงธรรมการ

อุดรธานี

๑๕

-

 

ขุนศรีเกษตร์

ว่าที่ผู้พิพากษา

อุดรธานี

๒๐

-

 

นายบุญช่วย

ยกรบัตร์ศาล

อุดรธานี

-

 

ขุนภิมโทรเลข

ผู้รั้งสารวัด

อุดรธานี

๑๐

-

 

นายสิ้น

-

อุดรธานี

-

 

นายสาร

-

อุดรธานี

-

 

หมื่นแสดง

พนักงานไปรสนีย์

หนองคาย

๑๐

-

 

นายโพ

พนักงานไปรสนีย์

อุดรธานี

-

 

นายจารณ์

ผู้พิพากษา

เมืองเลย

๑๐

-

 

ทำการร้อยเอกยิ้ม

แทนผู้บังคับการ

อุดรธานี

 

 

 

นายเปีย

พนักงานบาญชี

อุดรธานี

-

 

นายจันดี

เสมียนตำรวจ

อุดรธานี

-

 

นายร้อยอือรุมเอกดัล

ครูตำรวจ

อุดรธานี

๕๐

-

 

รายนาม

ตำแหน่ง

เมือง

จำนวนเงิน

หมายเหตุ

 

 

 

.

.

 

ขุนอภัยบริพัตร์

ปลัดเมือง

ขอนแก่น

๑๐

 

 

นายวินเด

ล่าม

อุดรธานี

๑๐

-

 

นายเจียก

เสมียนตรา

อุดรธานี

๑๐

-

 

นายถึก

พนักงานแผนที่

อุดรธานี

-

 

นายอนุชาติวฒาธิคุณ

นายอำเภอ

เพ็ญ

๑๐

-

 

นายบุญเพ็ญ

ปลัดอำเภอ

หนองหาร

-

 

พระวิจารณ์กมุทธกิจ

นายอำเภอ

กมุทธไสย

-

 

ขุนสมัคใจราษฎร์

นายอำเภอ

กุมภวาปี

๑๐

-

 

ขุนธนภารบริรักษ์

แพทย์

อุดรธานี

-

 

นายทอง

ภารโรง

อุดรธานี

-

 

พระบริบาลภูมิเขตร์

นายอำเภอ

อุดรธานี

๑๒

-

 

ขุนธนสาร

สมุหบาญชี

อุดรธานี

-

 

นายเขียน

ปลัดอำเภอ

อุดรธานี

-

 

นายกำปั่น

เสมียน

อุดรธานี

-

 

นายผอง

เสมียน

อุดรธานี

-

 

นายสิง

เสมียน

อุดรธานี

-

 

ขุนประจงอักษร

สัสดี

อุดรธานี

-

 

นายสาลี

ว่าที่อักษรเลข

อุดรธานี

-

 

นายทอง

หมอ

อุดรธานี

-

 

นายเด่น

ศุภมาตรา

อุดรธานี

-

 

นายโสม

คนใช้

อุดรธานี

-

 

นายยา

-

อุดรธานี

-

 

สุวรรณราช

ปลัดอำเภอ

วังสะพุง

-

 

ขุนวิจิตร์คุณสาร

นายอำเภอ

หนองคาย

๑๐

-

 

หลวงทรงสาราวุธ

นายอำเภอ

มุกดาหาร

๑๐

-

 

ขุนผดุงแคว้นประจัน

ข้าหลวง

สกล

๒๐

-

 

ขุนผลาญณรงค์

ผู้พิพากษา

สกล

๑๐

-

 

นายจันที

ปลัดอำเภอ

อุดรธานี

-

 

ขุนศรีสุนทรกิจ

ปลัดอำเภอ

อุดรธานี

-

 

นายมณี

ผู้พิพากษา

นครพนม

-

 

ขุนพิพิธคดีราษฎร์

ผู้พิพากษา

ขอนแก่น

๑๐

-

 

หลวงพิไสย

ข้าหลวง

ขอนแก่น

๓๐

-

 

รายนาม

ตำแหน่ง

เมือง

จำนวนเงิน

หมายเหตุ

 

 

 

.

.

 

หลวงพินิจ

นายอำเภอ

วังสะพุง

-

 

หลวงณรงค์

ยกรบัตร์

เลย

๑๐

-

 

นายปลื้ม

นายอำเภอ

มัญจาคีรี

๑๐

-

 

พระศรีทรงไชย

นายอำเภอ

ภูเวียง

-

 

พระศรีชนบาล

นายอำเภอ

ชนบท

๑๐

-

 

ขุนสุรากิจจำนงค์

นายอำเภอ

ท่าอุเทน

๑๐

-

 

หลวงสุราการ

รั้งนายอำเภอด่านซ้าย

 

-

 

นายหริ่ง

ผู้ช่วยข้าหลวงสรรพากร

อุดรธานี

-

 

พระกุประดิษฐบดี

ผู้ว่าราชการ

ท่าบ่อ

๑๐

-

 

ขุนมหาวิไชย

นายอำเภอ

พอง

๑๕

-

 

ขุนอภิบาลนิติสาร

-

 

-

 

พระอุดมสรเขตร์

ปลัดเมือง

ขอนแก่น

๑๐

-

 

 

 

รวม

๘๒๗

-

 

 

          ในสมัยพระศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดร ท่านได้ก่อร่างสร้างเมืองอุดรธานีให้มีความเจริญสืบต่อจาก พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์

ศิลปาคม และพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ เป็นอันมาก อาทิเช่น ท่านได้นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนตัดถนนหนทาง วางผังเมืองอุดรขึ้นใหม่หลายสาย และท่านได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ยังไม่มีชื่อ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ทรงประทานชื่อว่า วัดโพธิสมภรณ์ เป็นวัดธรรมยุติวัดแรกในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งชาวจังหวัดอุดรธานีเรียกกันสืบมาว่า วัดโพธิ์เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพธิ์ เนติโพธิ์)

          นอกจากนั้นทางด้านการศึกษาของกุลบุตร ได้ส่งเสริมให้ราษฎรมรฑลอุดรส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงเรียนที่อาศัยบริเวณของวัดมัชฌิมาวาสและต่อมาได้ขยายมาอยู่บริเวณที่เป็นวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีในปัจจุบัน

          สำหรับการจัดการศึกษาให้แก่กุลสตรี พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพธิ์ เนติโพธิ์) และคุณ

หญิง ได้ชักชวนพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชนบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาสมทบทุนกับรายได้ของมณฑลเพื่อสร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีหลังใหม่ เนื่องจากเห็นว่าโรงเรียนอุปถัมภ์นารีหลังเก่าคับแคบ ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าว่า สตรีราชินูทิศ เพื่อเป็นการระลึกถึงและบำเพ็ญพระกุศลถวาย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราช-โองการ โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ดเป็นภาค เรียกว่า ภาคอีสาน ตั้งที่บัญชาการมณฑลภาคที่เมืองอุดรธานี มีเจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาวโรหิต) ดำรงตำแหน่งอุปราชภาคอีสาน และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

          ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย จึงได้ทรงประกาศยกเลิกภาคอีสาน และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรี ย้ายไปดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ

          พ.ศ. ๒๔๗๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอดุลยเดชสมยามเมศรวรภักดี (อุ้ย นาครธรรพ) เป็น

สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร

          พ.ศ. ๒๔๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) เป็นผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลอุดรคนสุดท้าย

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

          ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ทำให้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองปรากฏตามพระราชบัญญัติ ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกมณฑลเสียคงให้มีแต่ จังหวัดและอำเภอ โดยกำหนดให้การดำเนินงานในแต่ละจังหวัดมีคณะบุคคลเป็นผู้บริหาร เรียกว่า “กรมการจังหวัด”  ประกอบด้วย

(๑) ข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นประธานโดยตำแหน่ง

(๒) ปลัดจังหวัด

(๓) หัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด

ซึ่งมีจำนวนมากน้อยกว่ากันตามคุณภาพแห่งงานของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้การบริหารราช

การในจังหวัดจะมีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดบริหารร่วมกันเป็นคณะ

          สำหรับความมุ่งหมายของการบริหารราชการจังหวัด โดยคณะกรมการจังหวัด ตามพระ-ราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือชุมนุมกฎหมายปกครองว่า

          “ (๑) เพื่อให้มีการประสานงานระหว่าง หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ส่งมาประจำจังหวัด

            (๒) เพื่อไม่ให้แก่งแย่งกันว่างานนั้น ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของตน โดยกำหนดให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน กล่าวคือ จะถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ของตน กฎหมายก็กำหนดให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของจังหวัด

            (๓) เพื่อให้ช่วยกันส่งเสริมจังหวัดของตนให้เจริญ เพราะกรมการจังหวัดทุกคนสามารถที่จะออกความเห็น แนะนำ คัดค้าน และอธิบายเรื่องที่เกี่ยวแก่จังหวัดตามที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันได้”

          ดังนั้นมณฑลอุดรจึงถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๖ คงฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี

          ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี คือ ได้เกิดมีคณะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายที่จังหวัดอุดรธานี ทำการปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ได้มีการเคลื่อนไหวโดยในตอนกลางดึกบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดได้มีผู้เอาธงแดงคอมมิวนิสต์ไปปักบนต้นก้ามปู ในตอนเช้าทางราชการก็ได้ให้พนักงานเอาลงมาสลับกันอยู่หลายคืนและมีทีท่าจะก่อความวุ่นวาย ดังปรากฏในประวัติพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขต (จิตร จิตตะยโศธร) อดีตข้าหลวงประจำจังหวัดอุดรธานี ในหนังสือเมืองในภาคอีสานว่า

          “…ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาเผยแพร่ลัทธิคอมมูนิสต์ที่จังหวัดอุดรธานี ได้มีการเนรเทศบ้างฟ้องศาลลงโทษบ้าง เป็นจำนวนมากราว ๕๐ คน…”

          ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๘๔ จัดการรวมจังหวัดต่าง ๆ ยกขึ้นเป็นภาค จำนวน ๕ ภาค จังหวัดอุดรธานีขึ้นกับภาค ๓ ซึ่งมีที่ทำการภาคอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยภาค ๓ ในเวลานั้นมีจังหวัดสังกัดรวม ๑๕ จังหวัด

          ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๙๔ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเขตภาคขึ้นใหม่ เป็น ๙ ภาค จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่ตั้งภาค ๔ และต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒๔๙๕ ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้คือ

(๑)  ภาค

(๒) จังหวัด

(๓) อำเภอ

โดยกำหนดให้รวมท้องที่หลายจังหวัดตั้งเป็นภาค มีผู้ว่าราชการภาคคนหนึ่งเป็นหัวหน้า

ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการบริหารส่วนภูมิภาค จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่ตั้งภาค ๔ ได้มีส่วนราชการต่าง ๆ มาตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดอุดรธานีเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒๔๙๕ ได้กำหนดให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ผู้เดียว ยกเลิกคณะกรมการจังหวัดในฐานะองค์คณะบริหารราชการภูมิภาค โดยได้เปลี่ยนสภาพคณะกรมการจังหวัดมาเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น

          ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ย้ายผู้ว่าราชการ และรองผู้ว่าราชการภาคไปประจำกระทรวง

          ในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในส่วนกลางและในราชการส่วนภูมภาค ได้ยกเลิกภาค คงเหลือจังหวัดและอำเภอ ดังนั้นจังหวัดอุดรธานีจึงมีฐานะจังหวัดเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้

ประวัติศาสตร์จังหวัดหนองบัวลำภู

ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอดีต

ดินแดนส่วนที่เป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน ได้ปรากฏหลักฐานแห่งการอยู่อาศัยของ

มนุษย์มานานนับพันปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนที่มนุษย์จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ เริ่มจากการดำรงชีวิตแบบเร่รอนในสังคมล่าสัตว์ ที่มนุษย์อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผาหรือริมฝั่งน้ำ แสวงหาอาหารด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ และพืชผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เร่ร่อนเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ ภาพเขียนสี และภาพสลักหินในเขตอำเภอโนนสังที่ถ้ำเสือตก ถ้ำจันใดถ้ำพรานไอ้ ถ้ำอาจารย์สิน และถ้ำยิ้ม หรือภาพเขียนสี ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา ที่ถ้ำสุวรรณคูหาและ  ถ้ำภูผายา เป็นต้น เรื่อยมาจนถึงการดำรงชีวิตในสังคมกสิกรรมที่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ทำเครื่องประดับ และหล่อโลหะแบบง่ายๆ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย และกุดคอเมย ในเขตอำเภอโนนสัง ซึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด รวมทั้งเครื่องมือเหล็กต่างๆ ที่มีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี ชุมชนโบราณในลักษณะนี้มีปรากฏอยู่หลายแห่งในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู

เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ หรือเมื่อมนุษย์เริ่มมีอาการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ชุมชนโบราณค่อยๆ มีพัฒนาการเข้าสู่ชุมชนเมือง มีการติดต่อแลกเปลี่ยน ค้าขายระหว่างกัน วัฒนธรรม

แบบทวารวดีเข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-

พ.ศ. ๑๕๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาหินทราย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และใบเสมาหินทรายวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น เมื่อสิ้นสมัยทวารวดี วัฒนธรรมขอมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลสืบแทน (ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ - พ.ศ. ๑๗๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยขอม เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึก  พระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และจารึกอักษรขอมวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น

จังสันนิษฐานว่า ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอม ชุมชนโบราณในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง แต่คงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อสิ้นสมัยวัฒนธรรมขอม พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ปลอดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง และวัฒนธรรมล้านช้างหรือวัฒนธรรมไทย-ลาว ได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาแทน

ประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งเวียงจันทน์ ได้นำผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย โดยสร้างพระพุทธรูปและศิลาจารึกไว้ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา และมาสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นที่บริเวณหนองซำช้าง ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เชิงเขาภูพาน โดยสร้างวัดในหรือวัด

ศรีคูณเมือง สร้างพระพุทธรูป และสร้างกู่ครอบไว้ สร้างวิหาร ขุดบ่อน้ำ สร้างกำแพงเมืองดินล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" (ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณบ้านเหนือ ตำบลลำภู ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู) มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์แต่คน

ทั่วไปมักนิยมเรียกชื่อเมืองตามลักษณะภูมิประเทศว่า "เมืองหนองบัวลุ่มภู" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๑๑๗ ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดา นำกองทัพไทยเพื่อไปช่วยกองทัพกรุงหงสาวดีตีเวียงจันทน์ เมื่อเสด็จประทับพักแรมที่บริเวณหนองซำช้างหรือหนอง-บัวลำภูในปัจจุบัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวร เป็นไข้ทรพิษ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเสด็จนำกองทัพไทย กลับสู่กรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๓๑๐ ในสมัยพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งตรงกับต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี พระวอ พระตา ขุนนางผู้ใหญ่แห่งเวียงจันทน์ เกิดความขัดแย้งภายในกับราชสำนัก จึงนำกำลังคนอพยพเข้ามาอาศัยเมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน โดยบูรณะและปรับปรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงหินบนเขาภูพานไว้ป้องกันข้าศึก และเปลี่ยนชื่อเป็น "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์ จึงยกทัพมาโจมตีสู้รบกันอยู่ประมาณ ๓ ปี ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้ กองทัพเวียงจันทน์จึงขอให้กองทัพพม่าช่วยเหลือ จึงสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานได้สำเร็จ โดยพระตาเสียชีวิตในที่รบ พระวอจึงนำกำลังคนอพยพตามลำน้ำชีไปสร้างเมืองใหม่ที่บ้านดอนมดแดง หรือเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงกลับไปขึ้นกับเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๓๒๑ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ได้สำเร็จนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือหนองบัวลำภู จึงขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - พ.ศ. ๒๓๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏยกทัพไปยึดเมืองนครราชสีมา ครั้นรู้ว่าทางกรุงเทพฯ เตรียมยกทัพใหญ่มาต่อสู้จึงถอยกลับมาตั้งรับที่หนองบัวลำภู ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนพ่ายแพ้กลับเวียงจันทน์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย ได้แต่งตั้งพระวิชโยดมภมุทธเขต มาสร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานขึ้นใหม่มีฐานะเป็นเมืองเอก ชื่อเมือง "ภมุทธไสยบุรีรัมย์" หรือ "ภมุทาสัย" โดยมีพระวิชโยดม-ภมุทธเขต เป็นเจ้าเมืองคนแรก การปกครองเมืองในลักษณะนี้ เรียกว่า "ระบบกินเมือง"

พ.ศ. ๒๔๓๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ได้ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคจากระบบกินเมือง โดยรวมหัวเมืองเป็นมณฑลต่างๆ รวม ๖ มณฑล ได้แก่ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลลาวกลาง และมณฑลภูเก็ต มีข้าหลวงใหญ่ (เฉพาะมณฑลลาวพวนเรียกข้าหลวงต่างพระองค์) เป็นผู้รับผิดชอบมณฑล เมืองกมุทาสัยถูกจัดเป็นหัวเมืองเอก ๑ ใน ๑๖ หัวเมือง ของมณฑลลาวพวน ซึ่งในขณะนั้นมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีกระทรวงวังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ บัญชาการมณฑลลาวพวน

 

พ.ศ. ๒๔๓๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนแปลงการ

ปกครองหัวเมืองส่วนภูมิภาค เป็นมณฑลเทศาภิบาลและเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ หรือข้าหลวงต่างพระองค์เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ. ๒๔๔๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑล

ลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองกมุทาสัย เป็น ๑ ใน ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ

พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่าย

เหนือ เป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดร เป็น ๕ บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านหมาก-แข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี และบริเวณน้ำเหือง เมืองกมุทาสัย ถูกรวมอยู่

ในบริเวณบ้านหมากแข้ง ซึ่งประกอบด้วย ๗ เมือง คือ เมืองหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาสัย เมืองโพนพิสัย และเมืองรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการบริเวณบ้านหมากแข้ง โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณควบคุมเจ้าเมืองต่างๆ ซึ่งมีข้าหลวงตรวจราชการประจำเมือง ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ

ให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทาสัย เป็นเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือเมือง "หนองบัวลำภู" หนองน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองที่เดิมชื่อหนองซำช้างจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นหนองบัวลำภู หรือ หนองบัวลำภูตามชื่อเมือง และยังคงขึ้นอยู่กับบริเวณหมากแข้ง

พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้

กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่างๆ ในบริเวณหมากแข้งตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองอุดรธานี ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ เมืองหนองบัวลำภู จึงกลายเป็น "อำเภอหนองบัวลำภู" ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุทธกิจ เป็นนายอำเภอคนแรก

อำเภอหนองบัวลำภู มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ มีชุมชนราษฎรหนาแน่นขึ้น

ประกอบกับมีอาณาเขตกว้างขวาง พื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ไม่สะดวกในการปกครอง

ดูแลราษฎร ทางราชการจึงได้ยกฐานะชุมชนที่มีความเจริญแต่อยู่ห่างไกล แยกการปกครองออกจากอำเภอหนองบัวลำภู จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ รวม ๕ กิ่งอำเภอ ตามลำดับดังนี้

- กิ่งอำเภอโนนสัง         (พ.ศ. ๒๔๙๑)

- กิ่งอำเภอศรีบุญเรือง   (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)

- กิ่งอำเภอนากลาง       (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)

- กิ่งอำเภอสุวรรณคูหา  (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๐)

ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหล่านี้มีฐานะเป็นอำเภอ

เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจมายังส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในด้าน

การปกครอง การให้บริการของรัฐ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ท้องที่เจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อความมั่นคงของชาติ จึงได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดอุดรธานี มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก สมควรแยกอำเภอหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอสุวรรณคูหา ออกจากการปกครองของจังหวัดอุดรธานี ตั้งขึ้นกับจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๖  คณะรัฐมนตีได้มีมติเห็นชอบให้หลักการจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

และต่อมาคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ตามร่างเสนอของนายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย และคณะแล้วประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖

 

จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน

จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่ทางทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๐ เป็นระยะทาง ๖๐๘ กิโลเมตร หรือตามเส้นทางกรุงเทพฯ - ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ประมาณ ๕๑๘ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๔๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๕๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒.๔ ล้านไร่ ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ทางตอนบนจะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง แล้วลาดลงไปทางทิศใต้ และทิศตะวันออก ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย และลูกรัง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย ๓๕ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ย ๑๕ องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๙๒๘ มิลลิเมตรต่อปี

ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองเป็น ๖ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง ประกอบด้วย ๕๘ ตำบล ๖๓๑ หมู่บ้าน ๙๗,๘๑๖ หลังคาเรือน ประชากรรวม ๔๘๗,๐๕๕ คน เฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ ๑๓๑.๕๓ คน ต่อตารางกิโลเมตร มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน

ประวัติศาสตร์จังหวัดมุกดาหาร

 

เดิมดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เต็มไปด้วยป่าดงพงไพร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกคนป่าอันสืบเชื้อสายมาจากขอม เช่น พวกข่า ส่วย กระโซ่ เมืองสำคัญส่วนมากตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น กรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองพวน (เชียงขวาง) ตลอดทั้งดินแดนสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก ซึ่งเป็นเผ่าไทยที่อพยพลงมาทางใต้ แต่แยกออกเป็นอาณาจักรต่าง ๆ เช่น อาณาจักรโยนก อาณาจักรเชียงแสน อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง เป็นต้น

จนถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ เมื่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สวรรคต พระยาเมืองแสนได้ชิงเอาราชสมบัติขึ้นครองเวียงจันทน์ พระมเหสีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์องค์เดิมได้พาโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าองค์หล่อ และเจ้าองค์หน่อ (เจ้าหน่อกุมาร) อพยพหลบหนีตามลำน้ำโขงมาอาศัยอยู่กับ พระครูโพนเสม็ด เมื่อเจ้าองค์หล่อเจริญวัยขึ้น มีความโกรธแค้นพระยาเมืองแสนซึ่งชิงเอาราชสมบัติ จึงพาบ่าวไพรไปอยู่เมือง ญวน ซ่องสุมผู้คนคอยหาโอกาสแก้แค้นพระยาเมืองแสน ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นว่าพระครูโพนเสม็ดมีผู้คนรักใคร่เกรงกลัวนับถือมาก หากปล่อยไว้อาจจะคิดแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดจะกำจัดพระครูโพนเสม็ดเสีย เมื่อพระครูโพนเสม็ดรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนจะคิดทำร้ายจึงรวบรวม ผู้คนได้ ๓ พันเศษ พาเจ้าหน่อกุมารพร้อมด้วยมารดา (พระมเหสีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์) อพยพลงมาตามลำน้ำโขง เมื่อเห็นว่าที่ใดทำเลดีอุดมสมบูรณ์ก็ให้ผู้คนที่ติดตามแยกย้ายกันตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นตามความสมัครใจในแถบถิ่นสองฝั่งแม่น้ำโขง จึงเกิดเป็นเมืองต่าง ๆ ขึ้นและแผ่ขยายต่อมาออกไปทั่วภาคอีสานในปัจจุบัน

ท่านพระครูโพนเสม็ด อพอพผู้คนลงมาตามลำน้ำโขง เมื่อถึงที่ใดก็มีคนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ ท่านพระครูโพนเสม็ดได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ และได้แบ่งคนจำนวนหนึ่งให้อยู่อุปฐากพระธาตุพนม แล้วได้อพยพต่อไปถึงนครจำบากนาคบุรีศรี (นครจำปาศักดิ์) จึงได้ยกเจ้าหน่อกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรูเปลี่ยนนามนครจำบากนาคบุรีศรี เป็นนครจำปาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๖

เมืองมุกดาหารได้ก่อกำเนิดขึ้นในยุคนี้ โดยได้อพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ จากเมืองไร่เมืองปุงบ้านน้ำน้อยอ้อยหนู ลงมาตามลำน้ำโขงและตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ ณ บ้านหลวงโพนสิม (บริเวณธาตุอิงฮ้งแขวงสุวรรณเขตในปัจจุบัน) เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรู สถาปนานครจำปาศักดิ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๕๖ จึงได้ตั้งเจ้าเมืองขึ้นคือ

๑) ตั้งเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ เป็นเจ้าเมืองหลวงโพนสิม (ต่อมาได้อพยพมาตั้งเมืองมุกดาหาร)

๒) ตั้งให้ท้าวสุด เป็นพระชัยเชษฐฯ เจ้าเมืองหางโค (เมืองเชียงแตง)

๓) ตั้งให้เจ้าแก้วมงคล (จารย์แก้ว) เป็นเจ้าเมืองเมืองทง (ภายหลังเปลี่ยนนามเป็นเมืองสุวรรณภูมิ และต่อมาได้แยกเป็นเมืองร้อยเอ็ด สารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฯลฯ

๔) ตั้งให้ท้าวมั่น เป็นหลวงเอกอาษาเจ้าเมืองสาลวัน (ต่อมาแยกเป็นเมืองสาลวัน เมืองคำทองใหญ่ เมืองคำทองน้อย ซึ่งอยู่ในแขวงสาลวันและแขวงวาปีคำทองในประเทศลาวปัจจุบัน)

๕) ตั้งให้อาจารย์โสม เป็นเจ้าเมืองอิ๊ดตะบือ (เมืองอัตบือ)

เมืองต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีบุตรหลานสืบสกุลเป็นเจ้าเมืองต่อ ๆ กันมา และได้แตกแยกออกเป็นเมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

ฝ่ายเมืองหลวงโพนสิม เมื่อเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ถึงแก่กรรมแล้ว เจ้ากินรีได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาอีกจนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงได้อพยพข้ามโขงมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก มูลเหตุที่เจ้ากินรีจะย้ายเมืองมาตั้งใหม่มีอยู่ว่า วันหนึ่งนายพรานจากบ้านหลวงโพนสิมได้ข้ามโขงมาล่าสัตว์ตรงปากห้วยบังมุก ได้พบต้นตาลต้นหนึ่งมี ๗ ยอด และเห็นกองอิฐปรักพังอยู่บริเวณใต้ต้นตาล ๗ ยอดนั้น จึงสันนิษฐานว่าคงเป็นบ้านเมืองในสมัยโบราณมาก่อนนายพรานจึงนำไปเล่าให้เจ้ากินรีฟัง เมื่อเจ้ากินรีมาตรวจดูเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสมที่จะตั้งบ้านตั้งเมือง จึงได้ชักชวนพรรคพวกมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก

วันหนึ่งขณะที่เจ้ากินรีควบคุมบ่าวไพร่ในกลางป่าอยู่ใกล้ต้นตาล ๗ ยอด เจ้ากินรีได้พบพระพุทธรูป ๒ องค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงให้สร้างวัดขึ้น ในบริเวณนั้นและตั้งชื่อว่า วัดศรีมุงคุณ (วัดศรีมงคล) เพื่อเป็นมงคลนามแก่ชาวเมืองและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ไปไว้ในโบสถ์แล้ว วันรุ่งขึ้นอีกวันเมื่อพระภิกษุประจำวัดจะเข้าไปสักการะ ก็ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก (องค์เหล็ก) เมื่อค้นดูรอบ ๆ บริเวณวัด ปรากฏว่าพระพุทธรูปเหล็กกลับไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่เดิมแต่จมลงไปในดิน และวันต่อ ๆ มาก็ค่อย ๆ จมลงในดิน เหลือแต่ยอดพระโมฬี เจ้ากินรีจึงให้สร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้นและถวายพระนามว่า พระหลุมเหล็กส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่คงประดิษฐานอยู่ในโบสถ์วัดศรีมงคล เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเจ้ากินรีตั้งเมืองขึ้นใหม่ ตอนกลางคืนจะเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสลอยออกจากต้นตาล ๗ ยอด แล้วลอยกลับมาที่ต้นตาลตอนเช้ามืดแทบทุกคืน เจ้ากินรีจึงเรียกนามแก้วศุภนิมิตรนั้นว่า แก้วมุกดาหาร เพราะอยู่ใกล้ห้วยบังมุก (บัง แปลว่า ลำห้วย) และตั้งนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร เมื่อเดือน ๔ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๓ (มุกดาหาร หมายถึง แก้วไข่มุก) เป็นต้นมา และมีเจ้าปกครองสืลบต่อกันมาตามลำดับ รวม ๘ คน คือ

เจ้ากินรี

เจ้ากินรี ได้เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ พระวอ พระตา   เจ้าเมืองหนองบัวลำภู (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี) เกิดวิวาทกับเจ้าผู้ครองนครเวียง-จันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพมาตามลำน้ำโขงเพื่อปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์และนครเวียงจันทน์ให้ขึ้นอยู่ในอาณาจักรธนบุรีบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ตามลำน้ำโขงและเมืองมุกดาหารจึงรวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้นมา   เจ้ากินรีได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาจันทร์ศรีสุราชอุปราชาพัณฑาตุราช มีบุตรธิดา รวม ๗ คน คือ ท้าวกิ่ง ท้าวอุ่น ท้าวชู และธิดาอีก ๔ คน

เจ้ากินรีได้แต่งตั้งกรมการเมืองขึ้น คือ

๑. ท้าวกิ่ง  เป็นอุปฮาด

๒. ท้าวอุ่น เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวชู   เป็นราชบุตร

เจ้ากินรีได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗

พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (กิ่ง)

ท้าวกิ่งผู้เป็นบุตรเจ้ากินรีและเป็นอุปฮาดเมืองมุกดาหาร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองในอันดับ ๒ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุง-รัตนโกสินทร์)

พระยาจันทร์สุริยวงษ์ได้ขอพระราชทานแต่งตั้งกรมการเมืองมุกดาหารตามตำแหน่งคือ

๑. ท้าวอุ่น   เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด

๒. ท้าวชู   เลื่อนขึ้นเป็นราชวงษ์

๓. ท้าวแผ่น   เป็นราชบุตร

พร้อมกับได้แต่งตั้งกรมการเมืองและท้าวเพี้ยชั้นผู้น้อยครบตามตำแหน่ง คือ เมืองแสน เมืองจันทร์ (ตำแหน่งฝ่ายทหาร) เมืองซ้าย เมืองขวา เมืองกลาง (ตำแหน่งฝ่ายมหาดไทย) ชาเนตร   ชานนท์ ชาบัณฑิต (ตำแหน่งหน้าที่ในการร่างและอ่านหนังสือราชการ) เมืองมุก เมืองฮาม (ตำแหน่งควบคุมเรือนจำ) นาเหนือ นาใต้ (ตำแหน่งรวบรวมเสบียงอาหารใส่ยุ้งฉางไว้รับศึกสงคราม

พระยาจันทร์สุริยวงษ์ มีบุตรธิดา หลายคน คือ

ภรรยาคนที่ ๑ ชื่อ เจ้านางยอดแก้ว มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ ท้าวพรม ท้าวทัง ท้าวคำ นางคิม นางเฮ้า นางรุน

ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ เจ้านางประทุม (เจ้านครจำปาศักดิ์) มีบุตรธิดารวม ๒ คน คือ      นางอ่อน ท้าวจีน

ภรรยาคนที่ ๓ ซึ่งเป็นชาวบ้านคำป่าหลาย มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ ท้าวตู้ ท้าวไข่    ท้าวปาน ท้าวเม้า ท้าวปุ่น นางไอ่

ภรรยาคนที่ ๔ ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองหล่ม มีธิดาคนเดียว คือ นางอั้ว

ครั้นอยู่ต่อมาอุปฮาด (อุ่น) และราชวงษ์ (ชู) ได้ถึงแก่กรรม พระยาจันทร์สุริยวงษ์ จึงได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรให้บุตร ๓ คน ขึ้นเป็นกรมการเมือง คือ

๑. ท้าวพรหม   เป็นอุปฮาด

๒. ท้าวทัง       เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวคำ       เป็นราชบุตร

พ.ศ. ๒๓๔๙ เจ้าอนุวงษ์ (เจ้าอนุรุทธกุมาร) แห่งนครเวียงจันทน์ เจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ร่วมกันบูรณะพระอุโบสถในวัดพระธาตุพนม

พ.ศ. ๒๓๕๐ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ให้ท้าวขัตติยะวงษาร่วมมือกับเจ้าเมืองมุกดาหารสร้างวัดท่งเว้าขึ้นในเขต เมืองมุกดาหาร (วัดท่งเว้า ปัจจุบันเป็นวัดร้างตลิ่งพังจนพระพุทธรูปจมลงไปในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่า เวินพระฯ อยู่ในแขวงสุวรรณเขตตอนใต้ตรงข้ามกับบ้านท่าใค้  อ.เมืองมุกดาหาร)

พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ เป็นขบถต่อกรุงเทพพระมหานคร (สมัยรัช-กาลที่ ๓) โดยให้อุปราชติสสะแห่งนครเวียงจันทน์กรีธาทัพตีเมืองกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ ให้เจ้านครจำปาศักดิ์ตีเมืองอุบล สุรินทร์ และสังขะ ให้ชานนท์ตีเมืองตามลำแม่น้ำโขง เช่น เมืองมุกดาหารและเขมราฐกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แต่ถูกกองทัพไทยซึ่งมีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์  สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพปราบปรามจนสงบราบคาบ

พ.ศ. ๒๓๘๓ พระยาจันทร์สุริยวงษ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเดือนเจียง (เดือนอ้าย) แรม ๕ ค่ำ

พระจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม)

ท้าวพรหม อุปฮาดเมืองมุกดาหาร ซึ่งเป็นบุตรเจ้าเมืองได้เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารในลำดับที่ ๓ ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๓ ได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งกรมการเมืองขึ้นใหม่ คือ

๑. ท้าวคำ          เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด

๒. ท้าวสุราช       เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวจีน         เป็นราชบุตร (บุตรพระยาจันทร์ฯ เจ้าเมืองลำดับที่ ๒ มารดาเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ พ.ศ. ๒๓๘๘เนื่องจากกองทัพญวนได้เข้ารุกรานดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่เนือง ๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จึงได้เกณฑ์ทัพเมืองอุบล ๔,๓๐๐ คน ทัพเมือง   เขมราฐ ๑,๗๐๐ คน ทัพเมืองมุกดาหาร ๑,๑๐๐ คน ทัพเมืองนครพนม ๕๐๐ คน ทัพเมืองสกลนคร ๑,๓๐๐ คน ฯลฯ ยกไปตีเมืองพิน เมืองนอง เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) เมืองผาบัง เมืองเชียงฮ่ม กวาดต้อนผู้คนมาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น เช่น เมืองเรณูนคร เมืองหนองสูง เมืองกุฉินารายณ์ เมืองวาริชภูมิ ฯลฯ

เจ้าเมืองมุกดาหารได้ขอให้ท้าวสิงห์ เป็นพระไกรสรราชเจ้าเมืองหนองสูงขึ้นเมืองมุกดาหารส่วนท้าวสายเมืองนครพนมขอให้เป็น พระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนคร

พระจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม) มีบุตรธิดา คือ นายสะ ท้าวแท่ง ท้าวขว้าง นางคิม นางหล้า

พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม) ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕

เจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ดำรงรัฐสีมามุกดาธิบดี (เจ้าหนู)

เมื่อเจ้าเมืองมุกดาหารถึงแก่อนิจกรรม ตำแหน่งเจ้าเมืองได้ว่างมา ๓ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหนูซึ่งเป็นเจ้านคร เวียงจันทน์ เป็นราชนัดดา (หลานของเจ้าอนุวงศ์) เป็นพระโอรสของเจ้านันทเสน ซึ่งไปรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารและพระราชทานสัญญาบัตรให้เจ้าหนู เป็นเจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ดำรงรัฐสีมามุกดาธิบดี (เนื่องจากไม่ไว้ในลูกหลานเจ้าอนุ จึงไม่ยอมให้กลับไป ปกครองเวียงจันทน์เลยตั้งมาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร) ปรากฏว่ากรมการเมืองไม่พอใจ ที่   เจ้าหนูเป็นเจ้าเวียงจันทน์มาปกครองเมืองมุกดาหาร จึงเกิดมีการทะเลาะเบาะแว้งบาดหมางกันอยู่เสมอ เจ้าจันทรเทพฯ (เจ้าหนู) จึงขอพระราชทานสัญญาบัตรให้

๑. ท้าวจีน          เลื่อนขึ้น เป็นอุปฮาด (ท้าวจีนเป็นบุตรเจ้าเมืองมุกดาหารลำดับที่ ๒)

๒. เจ้าวีรบุตร (บุตรเจ้าหนู)         เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวแท่ง        เป็นราชบุตร (ท้าวแท่งเป็นบุตรเจ้าเมืองมุกดาหาร ลำดับที่ ๓)

ส่วนท้าวคำฮุปฮาดคนเดิม ซึ่งชาวบ้านชาวเมืองคิดว่าจะได้เป็นเจ้าเมือง เจ้าหนูได้ขอ  พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็น พระพฤติมนตรี ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าจันทร์เทพฯ (เจ้าหนู) ได้ขอยกบ้านแขวงบางทรายขึ้นเป็นเมืองพาลุกา-กรภูมิ (ปัจจุบันคือหมู่บ้านพาลุกา ต. บ้านหว้าน) ขึ้นเมืองมุกดาหาร (พาลุกา เป็นภาษาบาลีมาจาก  คำว่า พาลุกะ แปลว่า ราย) และขอพระราชทานให้ท้าวทัด (บุตรท้าวทังราชวงษ์เมืองมุกดาหาร)

ฉะนั้นเมืองมุกดาหารจึงมีเมืองขึ้นในยุคนั้น คือ

๑. เมืองหนองสูง พระไกรสรราช (สิงห์)     เป็นเจ้าเมือง

๒. เมืองพาลุกากรภูมิ พระอมรฤทธิธาดา (ทัด)  เป็นเจ้าเมือง

ดินแดนของเมืองมุกดาหารในยุคนั้นกว้างขวาง อาณาเขตจดแดนญวนรวมถึงเมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองเซโปน (ตะโปน) และเมืองวังมล

พ.ศ. ๒๔๐๙ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ดินแดนญวนและเขมรกำลังจะรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของกรุงสยามทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาว) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเดชดัษกร หลวงอินทนอนันต์ ขุนวิสูตรและมิสเตอร์ โดยชักชวนชาวอังกฤษมาสำรวจทำแผนที่ตามลำน้ำโขงตั้งแต่เมืองหลวงพระบางถึงเมืองมุกดาหาร

เนื่องจากเจ้าจันทร์เทพฯ เป็นเจ้าเชื้อสายเวียงจันทน์และมีนิสัยชอบมากชู้หลายเมีย จึงเกิดความแตกแยกในเมืองมุกดาหาร ครั้งหนึ่งเจ้าจันทร์เทพนั่งคานหาม (เสลี่ยง) เข้าไปนมัสการพระธาตุพนม เกิดวิวาทกับเจ้าอาวาส (พระครูพรหมา) วัดพระธาตุพนมอย่างรุนแรง

พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สวรรคตเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) ขึ้นครองราชย์เจ้าจันทร์เทพจึงถูกกล่าวโทษ โดยพระพฤติมนตรี ที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหารอุปฮาดราชบุตรถวายฎีกาไปที่กรุงเทพฯ ให้ท้าวสีหาบุตร ท้าวสุริโยมหาราช เพี้ยเมืองแสน เพี้ยเมืองกลาง และท้าวอุทธา ถือใบบอก (คำกราบบังคมทูล) ลงไปกรุงเทพฯ เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๙

เจ้าจันทร์เทพฯ ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองและถึงแก่พิราลัยขณะเดินทางกลับพระนคร

เจ้าจันทร์เทพฯ มีบุตรและธิดาคือ เจ้านางบุญมี เจ้านางจำเริญ เจ้าวีรบุตร

 

พระพฤติมนตรี (คำ)

พระพฤติมนตรี เป็นบุตรพระยาจันทร์สุริยวงษ์ (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหาร เคยเป็นราชบุตร ราชวงษ์ และอุปฮาดเมืองมุกดาหารตามลำดับ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารแล้วพระพฤติมนตรี ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ “พระจันทร์สุริยวงษ์” ตามทำเนียบนามและได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรให้-

๑. ท้างแท่ง        เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด (บุตรเจ้าเมืองในลำดับที่ ๓)

๒. ท้าวบุญเฮ้า    เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวเล          เป็นราชบุตร (บุตรท้าวสุวอ)

พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น  กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงใหญ่มาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบล อาณาเขตและอำนาจของข้าหลวงใหญ่ควบคุมถึงนครจำปาศักดิ์และเมืองมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดศึกฮ่อทางเมืองหนองคายและเวียงจันทน์จึงให้เกณฑ์กองทัพเมืองมุกดาหารไปในการปราบปรามศึกฮ่อซึ่งมีเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเป็นแม่ทัพ

พ.ศ. ๒๔๒๒ พระธิเบศวงศา (ดวง) เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์เกิดวิวาทบาดหมางกับพระไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกุฉินารายณ์ถวายฎีกาขอร้องไม่ยอมขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ มาจากกรุงเทพฯ ให้เมืองกุฉินารายณ์ขึ้นเมืองมุกดาหาร อีกเมืองหนึ่ง

พระพฤติมนตรี (คำ) เจ้าเมืองมีบุตรธิดาคือ ท้าวสุริยวงษ์ (เสือ) นางโถน นางถ่วนคำ   ท้าวโอด ท้าวจันทร์ นางขาว พระพฤติมนตรีเจ้าเมืองได้ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๒๒

พระจันทร์สุริยวงษ์ (บุญเฮ้า)

เมื่อพระพฤติมนตรี เจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรมนั้น ท้าวแท่ง อุปฮาดก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ท้าวบุญเฮ้า ราชวงษ์ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “พระจันทร์สุริยวงษ์” เจ้าเมืองสืบแทนต่อมา ท่านเป็นบุตรของพระราชกิจภักดี (บัว) ผู้ช่วยราชการเมืองมุกดาหารและเป็นบุตรเขยของท้าวแท่ง (อุปฮาด) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นเจ้าเมืองเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ร.ศ. ๙๘ (พ.ศ. ๒๔๒๒) ได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรตั้งกรมการเมือง คือ

๑. ท้าวเล (ราชบุตร)        เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด

๒. ท้าวสุริยวงษ์ (เสือ)     บุตรเจ้าเมือง (คำ) เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) บุตรอุปฮาด (แท่ง) เป็นราชบุตร

พ.ศ. ๒๔๒๒ พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงขึ้นเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรมจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาด (ลุน) เป็นพระไกรสรราช เจ้าเมืองหนองสูงสืบแทนต่อมา

พ.ศ. ๒๔๒๕ ทัพญวนได้รุกรานดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้า ให้เมืองมุกดาหารแต่งกองราชตระเวณรักษาด่านทางเหนือตั้งแต่เซบั้งไฟ ทางใต้ถึงท่าซะคุคะ ทางตะวันออกจดด้านตึงยะเหลา เขาหลวงแดนญวน และให้เมืองท่าอุเทนรักษาด่านตั้งแต่เซบั้งไฟถึงแม่น้ำปากซัน ฯลฯ

พ.ศ. ๒๔๒๖ พระธิเบศวงศา (ดวง) เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ ขึ้นเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรม เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนใหม่ขอยกเมืองกุฉินารายณ์กลับไปขึ้นเมืองกาฬสินธุ์อย่างเดิม (เมืองกุฉินารายณ์ขึ้นเมืองมุกดาหาร ๔ ปี)

พ.ศ. ๒๔๒๙ พระอมรฤทธิ์ธาดา (ทัด) เจ้าเมืองพาลุกากรภูมิถึงแก่กรรม จึงขอพระราช-ทานสัญญาบัตรให้ราชวงษ์ (กุ) เป็น พระอมรฤทธิ์ธาดา เจ้าเมืองพาลุกาภูมิ ขึ้นเมืองมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๓๐ ฮ่อมารุกรานเมืองหลวงพระบางและเมืองหนองคายอีกครั้งหนึ่ง ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรเมืองมุกดาหาร (ภายหลังเป็นพระยาศศิวงศ์ประวัติ) เป็นนายกองคุมพลเมืองมุกดาหาร พร้อมด้วยท้าวไชยกุมาร (แป้น) กรมการเมืองมุกดาหาร และเพี้ยอินทฤาไชย (ต้นตระกูล สวัสดิวงศชัย) กรมวังเมืองมุกดาหารได้นำกำลังไพร่พลไปสมทบกับกองทัพของพระยามหาอำมาตย์    (หรุ่น  ศรีเพ็ญ) และกองทัพใหญ่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่

พระจันทร์สุริยวงษ์ (บุญเฮ้า) มีบุตรธิดาคือ พระวรบุตร นางโง่น นางเป็น ท้าวเทพ นางไข่คำ นางหล้า ท้าวที นางพิม นางอุดทา นางพา ท้าวหนูขาว พระจันทร์ (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองได้ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งหีบศิลาหน้าเพลิงจากกรุงเทพฯ มาพระราชทานเพลิงศพ

พระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ)

เมื่อเจ้าเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรม บรรดาอุปฮาด ราชวงษ์ถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว คงเหลือแต่ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรรักษาราชการแทนอยู่ ๒ ปี ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) เป็นบุตรอุปฮาด (แท่ง) ท่านจึงได้นำต้นไม้เงินสองต้นสูงต้นละสองศอก ต้นไม้ทองสองต้นสูงต้นละสองศอกและเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพมหานครพร้อมด้วยท้าวเผือก ท้าวแสง ท้าวมาต-  สุริยวงษ์ และท้าวสุริโย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรเมืองมุกดาหารเป็น “พระจันทร์เทพสุริวงษ์” เจ้าเมืองมุกดาหาร พระราชทานคณโฑทองคำ พานหมากถมเครื่องในทองคำ เสื้อเข็มทบดอกก้านแย่ง ผ้าม่วงจีนและเครื่องยศบรรดาศักดิ์ตามประเพณีท่านได้อัญเชิญสัญญาบัตรตราตั้งถึงเมืองมุกดาหารเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมการเมือง คือ

๑. ท้าวสุริยวงศ์ (เสริม)    เป็นอุปฮาด (บุตรอุปฮาดแท่ง)

๒. ท้าวแสง (บุตรเจ้าเมือง)         เป็นราชวงษ์

๓. ท้าวไชยกุมาร (แป้น)   เป็นราชบุตร

๔. พระราชากิจภักดี (คำ) เป็นผู้ช่วยราชการ

พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้มีการจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลขึ้นในภาคอีสาน เมืองมุกดาหารขึ้นอยู่กับมณฑลลาวพวน ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน (มีอำนาจเป็นที่สองของพระเจ้าแผ่นดินในภาคนี้) ประทับอยู่ ณ เมืองหนองคาย มณฑลพวนบังคับบัญชาหัวเมืองต่อไปนี้คือ เมืองหนองคาย เมืองหล่มศักดิ์ เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองหนองหาร เมืองสกลนคร เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองกมุทาไสย เมืองโพนพิสัย เมืองเชียงขวาง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองบริคัณฑนิคม (เมืองคำเกิดคำม่วน เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณฑนิคม ต่อมาอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศส)

ส่วนมณฑลอื่น ๆ ก็มี มณฑลลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบล) มณฑลลาวฝ่ายตะวันออก (นครจำปาศักดิ์) มณฑลลาวกลาง (นครราชสีมา) เป็นต้น

อนึ่ง เนื่องจากในสมัยพระจันทร์เทพฯ (เจ้าหนู) เป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ตกลงกับ    เจ้าเมืองอุบลคือเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ขอยกเมืองสองคอนดอนดงซึ่งเคยขึ้นเมืองอุบลมาขึ้นเมืองมุกดาหาร (เมือง สองคอนดอนดงปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) เมื่อมีการจัดการปกครองแบบมณฑลขึ้น ทางเมืองอุบลจึงขอให้เมืองสองคอนดอนดงกลับไปขึ้นเมืองอุบลอีกในปี พ.ศ. ๒๔๓๓

พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส อาณาเขตเมืองมุกดาหารจึงเหลืออยู่เฉพาะทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เนื่องจากทางราชการไม่ไว้ใจในราชการชายแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแหงสงคราม (จัน  อินทรกำแหง) มาเป็นข้าหลวงกำกับ   ราชการชายแดนด้านเมืองมุกดาหาร พระยากำแหงสงครามปฏิบัติราชการอยู่ที่ชายแดนเมืองมุกดาหารรวม ๓ ปี จึงเดินทางกลับ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะนั่งเรือกลับไปเมืองหนองคาย ตามลำน้ำโขงถูกฝรั่งเศสที่บ้านท่าแห่ (สุวรรณเขต) จับกุมในข้อหาว่านำทหารไทยรุกล้ำชายแดน พระยากำแหงฯ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านท่าแห่หลายเดือนพร้อมด้วยลูกน้องที่ติดตามคือ หลวงชำนาญ (นายเคลือบ  ทิพานนท์) ขุน ปัจจานึกพินาศ (นุ้ย  เทียมสุริยา) นายตุนและนายเหมาะ

พระยาศศิวงษ์ประวัติเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้คุมกำลังเมืองมุกดาหารไปรับราชการชายแดน เมื่อฝรั่งเศสได้รุกล้ำดินแดนของพระราชอาณาจักรสยาม ได้มีการปะทะกันที่แก่งเจ๊กและอีกหลายแห่ง กองทหารไทยจากกรุงเทพฯ ซึ่งมี พ.ต.แย้ม  ภมรมนตรี (บิดา พล.ท.ประยูร  ภมรมนตรี) เป็น    ผู้บังคับบัญชา ไม่ยอมจำนนและไม่ยอมถอนทหารกลับ แม้ทางกรุงเทพฯ จะยอมเซ็นสัญญายกดินแดนลาวทั้งหมดให้ฝรั่งเศสก็ตาม ทหารฝรั่งเศสปลดอาวุธและจับ พ.ต.แย้ม  ภมรมนตรี ส่งข้ามฟากมาขึ้นที่เมืองมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๔๒ ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และย้ายกองบัญชาการ มณฑลฝ่ายเหนือ จากเมืองหนองคายมาตั้งที่บ้านหมากแข้ง

ในปีเดียวกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์เสด็จกลับพระนคร พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนา (ม.จ.ชายวัฒนา  รองทรง พระองค์เจ้าหลานเธอในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์) ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่มณฑลฝ่ายเหนือแทน (ยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการ) จึงทรงปรับปรุงการปกครองมณฑลฝ่ายเหนือ โดยให้เมืองต่าง ๆ รวมกันเป็นบริเวณ คือ เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองเรณูนคร รวมกันเรียกว่าบริเวณธาตุพนม ให้แต่ละเมืองมี  ผู้ว่าราชการเมืองปกครองยุบตำแหน่งเจ้าเมืองส่วนข้าหลวงมาประจำเมือง และให้ข้าหลวงประจำเมือง ผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นกับข้าหลวงประจำบริเวณตั้งที่ทำการบริเวณที่เมืองนครพนม ตำแหน่งข้าหลวงจึงเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการของผู้ว่าราชการเมือง การลงนามในหนังสือราชการจึงต้องลงนามทั้งสองคน คือทั้งข้าหลวงประจำเมืองและผู้ว่าราชการเมือง บริเวณอื่น ๆ ในมณฑลฝ่ายเหนือมีบริเวณสกลนคร บริเวณน้ำเพือง เมืองเลย บริเวณภาชีขอนแก่น บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี)

ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองมุกดาหารคนแรก คือขุนพิทักษ์ธุรกิจ (จ๋วน) และ    ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม คือพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง  ภูมิรัตน์)

เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองใหม่ เจ้าเมืองมุกดาหาร คือ พระจันทรเทพสุริยวงษา (เมฆ) จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากมีอายุมาก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระจันทรเทพฯ เจ้าเมืองเป็น พระยาศศิวงษ์ประวัติ จางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงษ์ (แสง) บุตรพระยาศศิวงษ์ฯ เป็นพระจันทรเทพสุริยวงษา ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร

พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๐)

พระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง)

ราชวงษ์ (แสง) บุตรพระยาศศิวงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร ขึ้นกับบริเวณธาตุพนม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๒

พ.ศ. ๒๔๔๓ ให้เปลี่ยนนามมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร เลิกบริเวณต่าง ๆ ให้แต่ละเมืองขึ้นกับมณฑลอุดร เมืองมุกดาหารจึงขึ้นกับมณฑลอุดร (จัดการปกครองแบบบริเวณปีเดียว)

อนึ่ง ยังได้มีการยกเลิกตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตรในมณฑลอุดรด้วย โดยให้มี ตำแหน่งปลัดเมือง มหาดไทยเมือง ยกบัตรเมือง แทนเช่นมณฑลอื่นของกรุงสยามจึงแต่งตั้งให้

๑. อุปฮาด (เสริม) เป็นพระดำรงมุกดาหาร ตำแหน่งปลัดเมือง

๒. ราชบุตร (แป้น)         เป็นพระวิจารณ์อธิกรณ์ ตำแหน่งศาลเมือง

๓. ท้าวสุก                   เป็นหลวงวิจารณ์อักขรา ตำแหน่งมหาดไทยเมือง

๔. ท้าวเคน                  เป็นหลวงบุรินทร์มุกดารักษ์ ตำแหน่งนครบาลเมือง

๕.ท้าวแสง                   เป็นหลวงธนาการณกิจ ตำแหน่งคลังเมือง

๖. ท้าวหนู                   เป็นหลวงสมัครนครมุก ตำแหน่งโยธาเมือง

ส่วนเมืองขึ้นเมืองมุกดาหาร คือเมืองหนองสูง และเมืองพาลุกากรภูมิ ก็ได้แต่งตั้งกรมการเมือง

 คือ

เมืองหนองสูง      หลวงอำนาจณรงค์ (บุศร์) เป็นผู้รักษาเมือง

                      หลวงทรงฤทธิรอน (เสือ) เป็นปลัดเมือง

                      ขุนอมรศักดาเดช (พรหม)        เป็นคลังเมือง

 

เมืองพาลุกากรภูมิ หลวงเทวาสำแดงเดช (หล้า) เป็นผู้รักษาเมือง

                      หลวงอมรเรศรักษา (พัด) เป็นปลัดเมือง

                      หลวงอมรานุรักษ์ (หอม) เป็นคลังเมือง

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้มีการพระราชทานเหรียญปราบฮ่อแก่ผู้ที่ไปในราชการสงครามครั้งปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ข้าราชการเมืองมุกดาหารซึ่งได้รับเหรียญปราบฮ่อ คือ

๑. พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ)     จางวางเมืองมุกดาหาร

๒. พระดำรงมุกดาหาร (เสริม)      ปลัดเมือง

๓. พระวิจารณ์อธิกรณ์ (แป้น)      ยกบัตรเมือง                              

๔. หลวงพิทักษ์เทพสถาน           กรมวังเมืองมุกดาหาร (ตำแหน่งกรมวัง คือ ตำแหน่งในจวนเจ้าเมือง)

๕. เพี้ยอินทฤาไชย                   กรมการเมืองมุกดาหาร (ต้นสกุลสวัสดิวงศ์ชัย)

พ.ศ. ๒๔๔๔ พระอนุชาติวุฒาธิคุณ (แพ  ณ หนองคาย) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองมุกดาหาร แทนขุนพิทักษ์ธุรกิจ ในปีนี้ฝรั่งเศสซึ่งได้เมืองลาวเป้นเมืองขึ้น ได้มาตั้งเมืองที่บ้านท่าแห่ขึ้น ตั้งนามเมืองว่า "เมืองสุวรรณเขต" (เมืองสุวรรณเขต) ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองสุวรรณเขต       คนแรกที่ฝรั่งเศสแต่งตั้งขึ้นคือ "ท้าวฮ่อม" (ญาหลวงฮ่อม) ซึ่งเป็นบุตรหลานสืบสกุลไปจากเจ้าเมืองมุกดาหารและเมืองพาลุกากรภูมิ (ดูลำดับเครือญาติมุกดาหาร)

พ.ศ. ๒๔๔๕ พระดำรงมุกดาหาร (เสริม) ปลัดเมือง และพระวิจารณ์อธิกรณ์ (แป้น) ยกบัตรเมืองมุกดาหาร ถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งหีบศิลาหน้าเพลิงจากกรุงเทพฯ มาพระราชทานเพลิงศพ

พ.ศ. ๒๔๔๙ พระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง) ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการถึงเมืองมุกดาหาร ในเดือนมกราคม เดือนมีนาคม เป็นเดือนสิ้นปี

สมัยเป็นอำเภอมุกดาหาร

ได้มีการปรับปรุงการปกครองในมณฑลอุดรเป็นจังหวัดและอำเภอใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เมืองมุกดาหารถูกยุบลงเป็นอำเภอมุกดาหาร เมืองหนองสูงย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านนาแก เมืองพาลุกากรภูมิยุบลงเป็นตำบลบ้านหว้าน เมืองเรณูนครยุบลงเป็นตำบลเรณูนคร ตั้งอำเภอธาตุพนมขึ้นแทน ขึ้นจังหวัดนครพนม

เปิดที่ทำการอำเภอมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ผู้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอมุกดาหารคนแรก คือ หลวงทรงสราวุธ (เจิม  วิเศษรัตน์) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระบริหาราชอาณาเขต (เมื่อย้ายไปเป็นปลัดหนองคาย) ต่อมาภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เมื่อย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม) ท่านได้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม อีกครั้งสุดท้าย

เมื่อมีการตั้งจังหวัดและอำเภอขึ้นแล้ว ได้มีการตั้งกรมการพิเศษจังหวัดนครพนมขึ้นผู้ที่เป็นกรมการพิเศษส่วนมากเป็นเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการเมืองเก่า ๆ คือ

๑. พระยาศศิวงษ์ (เมฆ  ประวัติ)   เมืองมุกดาหาร

๒. พระพินิจพนมการ (ทองคำ)     เมืองนครพนม

๓. พระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ)      เมืองนครพนม

๔. พระศรีวรราช (แก้ว)             เมืองท่าอุเทน

๕. พระอารัญอาษา (ปาน)           เมืองกุสุมาลย์

๖. พระพินิจพจนกรณ์ (ทอนแก้ว)

๗. หลวงพิทักษ์ประชาชน (ตูม)

๘. หลวงสรรพกิจบริหาร (คำวัง)

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. ๒๕๒๕ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๒๑ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ ยกฐานอำเภอมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๕ เป็นต้นไป โดยให้แยกอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย กิ่งอำเภอดงหลวง และกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ ออกจากการปกครองของจังหวัดนครพนม  รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร

ประวัติศาสตร์จังหวัดนครพนม

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบัน เดิมคือ อาณาจักรสุวรรณภูมิ เป็นถิ่นเดิมของชาวลวะหรือละว้ายกเว้นดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเป็นอาณาเขตของชาติมอญ อาณาจักรสุวรรณภูมิ แบ่งแยกอำนาจการปกครองออกเป็น ๓ อาณาเขต คือ

๑. อาณาเขตทวาราวดี มีเนื้อที่อยู่ในตอนกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเลตะวันตกของอ่าวไทยจนถึงชายทะเลตะวันออก  มีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี

๒. อาณาเขตยางหรือโยนก อยู่ตอนเหนือ ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง

๓. อาณาเขตโคตรบูรณ์ ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  รวมทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองนครพนม ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะรวบรวมได้ความว่า เป็นเมืองสืบเนื่องมาจากนครอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และได้ย้ายมาตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อาณาจักรโคตรบูรณ์ เป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งในสมัยนั้น มีแคว้นต่าง ๆ ตั้งอยู่ลุ่มฝั่งแม่น้ำโขงหลายแคว้น เช่น แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นลานช้าง แคว้นเวียงจันทน์ แคว้นโคตรบูรณ์ แคว้นจำปาศักดิ์ เป็นต้น แต่ละแคว้นมีเจ้านครเป็นผู้ปกครอง

ส่วนตำนานของเมืองโคตรบูรณ์นั้น จากหลักฐานในพงศาวดารเหนือ คำให้การของชาวกรุงเก่าพงศาวดารเขมรและเรื่องราวทางอีสาน เขียนเป็นข้อความพาดพิงคล้ายคลึงกันเป็นนิทานปรัมปรา สรุปได้ความว่า พระยาโคตรบองมีฤทธิ์ใช้กระบองขว้างพระยาแกรกผู้มีบุญซึ่งขี่ม้าเหาะมา ขว้างไม่ถูกจึงหนีไปได้ธิดาพระเจ้าลานช้าง บางฉบับก็ว่า พระยาโคตรบองมาจากลพบุรีบ้าง มาจาก   เวียงจันทน์ มาจากเมืองระแทงบ้าง มาจากเมืองสวรรคบุรีบ้าง แต่ในฉบับคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พระยาโคตรบองเป็นโอรสพระร่วง หนีมาจากกรุงสุโขทัย ได้มาครองเมืองลานช้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้กับธิดาพระเจ้าเวียงจันทน์ แล้วพระราชบิดาจึงให้มาครองเมืองโคตรบูรณ์ เป็นเมืองลูกหลวงขึ้นแก่นครลานช้าง

แต่ฉบับเขียนไว้ทางภาคอีสานว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชประสงค์จะให้ราชบุตรองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าโคตะ (คงเป็นราชบุตรเขย) ครองเมือง จึงได้สร้างเมือง ๆ หนึ่งที่ปากน้ำหินบูรณ์ (ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทนในปัจจุบัน) ให้ชื่อเมืองศรีโคตรบูรณ์เป็นเมืองลูกหลวงขึ้น เมืองเวียงจันทน์ตั้งให้เจ้าโคตะเป็นพระยาศรีโคตรบูรณ์ สืบเป็นเจ้าครองนครมาได้หลายพระองค์ จนถึงพระองค์ที่มีฤทธิ์ด้วยกระบอง จึงได้พระนามว่า พระยาศรีโคตรบอง และได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าไม้รวก ห้วยศรีมังริมแม่น้ำโขงฝั่งซ้าย (คือเมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกในปัจจุบันนี้) เมื่อพระยาศรีโคตรบองถึงแก่อนิจกรรม เจ้าสุบินราช โอรสพระยาศรีโคตรบอง ครอบครองนครสืบแทนพระนามว่า พระยาสุมิตร ธรรมราช เมื่อถึงแก่อนิจกรรม เจ้าโพธิสารราชโอรสครองนครสืบแทน อำมาตย์ได้ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเมือง

จนถึง พ.ศ. ๒๒๘๖ เจ้าเมืองระแทงให้โอรส ๒ พระองค์ เสี่ยงบ้องไฟองค์ละกระบอก ถ้าบ้องไฟของใครไปตกที่ใดจะสร้างเมืองให้ครอง บ้องไฟโอรสองค์ใหญ่ไม่ติด จึงได้ครองเมืองระแทงแทน บ้องไฟองค์เล็กตกที่ห้วยขวาง (เวลานี้เรียกว่าเซบ้องไฟ) ใกล้เมืองสร้างก่อและดงเชียงซอน จึงดำรัสสร้างเมืองที่นั่น แต่อำมาตย์คัดค้านว่าทำเลไม่เหมาะประจวบกับขณะนั้นผู้ครองนครศรีโคตรบูรณ์ว่างอยู่ อำมาตย์จึงเชิญเจ้าองค์นั้นขึ้นครองนคร โดยมีพระนามว่าพระยาขัติยวงษาราชบุตรมหาฤาไชยไตร-ทศฤาเดชเชษฐบุรี ศรีโคตรบูรณ์หลวง ได้ซ่อมแซมบ้านเมือง วัด จนถึง พ.ศ. ๒๒๙๗ จึงพิราลัย เจ้า เอวก่านโอรสขึ้นครองนครแทน มีพระนามว่า พระบรมราชา พระบรมราชาครองนครโคตรบูรณ์ได้ ๒๔ ปี จึงพิราลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ ท้าวคำสิงห์ ราชบุตรเขยพระบรมราชาได้นำเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าเวียงจันทน์ พระเจ้าเวียงจันทน์โปรดให้ท้าวคำสิงห์ครองเมืองโคตรบูรณ์แทนพระบรมราชา และมีพระนามว่า พระนครานุรักษ์ ผู้ครองนครนี้เห็นเมืองศรีโคตรบูรณ์ มิได้ตั้งอยู่ที่ปากน้ำหินบูรณ์อย่างเก่าก่อน (คือขณะนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกปัจจุบัน) จึงให้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ เรียกว่าเมืองมรุกขะนคร นามเมืองศรีโครตบูรณ์จึงเลือนหายไปตั้งแต่นั้น

ในการที่ท้าวคำสิงห์ได้ครองเมืองโคตรบูรณ์ครั้งนั้น ท้าวกู่แก้ว โอรสพระบรมราชาซึ่งไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ตั้งแต่ชนมายุได้ ๑๕ ชันษา ทราบว่าท้าวคำสิงห์ได้ครองนครแทนบิดาก็ไม่พอใจ จึงทูลลาเจ้านครจำปาศักดิ์ขึ้นมาเกลี้ยกล่อมราษฎรได้กำลังคนเป็นอันมาก แล้วสร้างเมืองขึ้นที่บ้านแก้งเหล็ก ริมห้วยน้ำยม เรียกว่าเมืองมหาชัยกอบแก้วตั้งแข็งเมืองอยู่ พระนครานุ-รักษ์ (คำสิงห์) ทราบจึงไปขอกำลังจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) แต่ไม่ได้จึงไปขอจากเมืองญวนได้มา ๖,๐๐๐ คน แล้วจัดให้พลญวนพักอยู่ที่เมืองคำเกิด เพราะเกรงว่าท้าวกู่แก้วจะรู้ตัว ในระหว่างที่พระนครานุรักษ์เตรียมไพร่พลจะไปสมทบกับญวนนั้น ท้าวกู่แก้วทราบก่อนจึงยกไพร่พล ๔,๐๐๐ คน คุมเครื่องบรรณาการไปหาแม่ทัพญวนที่เมืองคำเกิดโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าเมืองมรุกขะนคร ฝ่ายญวนหลงเชื่อจึงสมทบไปตีเมืองมรุกขะนครแตก พระนครานุรักษ์จึงพาครอบครัวหนีข้ามแม่น้ำโขงไปอยู่ที่ดงเซกาฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้วแต่งคนไปขอกำลังจากเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าเวียงจันทน์ให้พระยาเชียงสาเป็นแม่ทัพมาช่วยโดยตั้งค่ายอยู่ที่บ้านหนองจันทน์ (ใต้เมืองนครพนมปัจจุบัน ๔ กิโลเมตร) ฝ่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรืองอีกค่ายหนึ่ง แล้วจัดไพร่พลทั้งสองค่ายกระจายเป็นปีกกาโอบถึงกันเพื่อจะโจมตีเมืองมรุกขะนคร ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม (เมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกปัจจุบัน) ฝ่ายทัพญวนซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจัดทำสะพานเป็นแพลูกบวบจะยกข้ามแม่น้ำโขงมาโจมตีทัพ พระยาเชียงสา ฝ่ายพระยาเชียงสาใช้ปืนยิงตัดสะพานแพบวบขาด แล้วยกกำลังเข้าสู้รบกับญวนกลางแม่น้ำโขงถึงตะลุมบอน พระยาเชียงสาได้ชัยชนะฆ่าญวนตายเป็นจำนวนมาก ศพลอยไปติดเกาะ เกาะนี้จึงได้ชื่อเรียกกันต่อ ๆ มาว่า “ดอนแกวกอง”  มาจนทุกวันนี้ พระยาเชียงสาได้เกลี้ยกล่อมท้าวกู่แก้วให้   ยินยอมแล้วให้ท้าวกู่แก้ว ครองเมืองนครมรุกขะนครต่อไป ส่วนพระนครานุรักษ์นั้น พระยาเชียงสานำไป เวียงจันทร์ด้วยและให้ครองเมืองใหม่ซึ่งอยู่ที่บ้านเวินทราย

 

สมัยกรุงธนบุรี

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๑ พระเจ้าศิริบุญสาร แห่งเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพไปตีพระตา พระวอที่บ้านกู่บ้านแกแขวงจำปาศักดิ์ ฆ่าพระวอตาย พระตาเห็นเหลือกำลังจึงขอกองทัพกรุงธนบุรีมาช่วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบปรามได้เมืองเวียงจันทน์ เมืองหนองคาย เมืองมรุกขะนคร ส่วนพระเจ้าศิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์และพระบรมราชาเจ้าเมืองมรุกขะนครหนีไปอยู่เมืองคำเกิด

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเสร็จจากการปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางและได้นำบรรดาโอรสพระเจ้าศิริบุญสารลงไปกรุงธนบุรีด้วย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดา-      ภิเษกขึ้นเสวยราชย์แล้ว ได้ทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระเจ้าศิริบุญสารอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างดี พระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งอยู่ที่เมืองคำเกิดได้ ๕-๖ ปี ทรงชราภาพ ทราบว่า โอรสอยู่ด้วยความผาสุกจึงเสด็จกลับเมืองเวียงจันทน์ หวังจะขอสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงนิพนธ์โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เจ้าศิริ-บุญสารกลับจากเมืองคำเกิด จับพระยาสุโภ ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้รักษาเมืองอยู่ฆ่าแล้วเข้าตั้งอยู่ในเมือง ท้าวเฟี้ยขุนบางไม่ยินยอมด้วย จึงหนีลงมากรุงเทพฯ กราบทูลฯ ให้ทราบ) แต่ไม่ทรงวางพระทัย จึงตั้งให้เจ้านันทเสนโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าศิริบุญสารที่อยู่กรุงเทพฯ ให้กลับไปครองเมือง มรุกขะนครสืบแทน

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๓๗ เจ้านันทเสนแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้คบคิดกับพระบรมราชาทำหนังสือขอกำลังจากญวนเพื่อมารบกับกรุงสยาม ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินญวนมีความจงรักภักดีต่อกรุงสยาม จึงส่งหนังสือนั้นไปถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเจ้า    นันทเสนและพระบรมราชาลงไปเฝ้าที่กรุงเทพฯ เมื่อได้ไต่สวนความจริงแล้ว จึงยกโทษให้และได้แต่งตั้งให้พระเจ้าอินทวงษ์อนุชาเจ้านันทเสนให้ไปครองเมืองเวียงจันทน์แทน

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๓๘ เกิดศึกพม่าทางเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยต้องไปปราบปรามเจ้า       นันทเสนกับพระบรมราชาขออาสาไปในกองทัพ ยกกองทัพไปถึงเมืองเถิน พระบรมราชา (พรหมมา) ก็ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวสุดตาซึ่งเป็นโอรสของพระบรมราชาจึงนำเครื่องราชบรรณาการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็นพระบรมราชาครองเมืองมรุกขะนครและให้เปลี่ยนนามเมืองเสียใหม่ว่า "เมืองนครพนม" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ การที่พระราชทานชื่อว่าเมืองนครพนมนั้นอาจเนื่องด้วยเมืองนี้เป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงให้ใช้คำว่า นคร ส่วนคำว่า พนม นั้นอาจจะเนื่องด้วยจังหวัดนี้มีพระธาตุพนมประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็น     ปูชนียสถานสำคัญหรืออีกประการหนึ่ง อาจจะเนื่องด้วยจังหวัดนี้เดิมมีอาณาเขตเกินไปถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือบริเวณเขตเมืองท่าแขกแห่งประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนไปถึงแดนประเทศญวน จึงนำเอาคำว่า "พนม" มาใช้เพราะพนมแปลว่า ภูเขา ส่วนคำว่า "นคร" นั้นอาจรักษาชื่อเมืองไว้คือเมืองมรุกขะนครนั่นเอง

ต่อมาปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้พระยามหา-อำมาตย์ (ป้อม  อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพ ส่วนทางนครเวียงจันทน์ก็ให้พระยาสุโภเป็นแม่ทัพยกกำลังมา สมทบกองทัพพระยามหาอำมาตย์ เพื่อโจมตีบ้านกวนกู่ กวนงัว ซึ่งเป็นกบฏและเมื่อได้ชัยชนะจึงได้กวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่เมืองนครพนม โดยที่บ้านหนองจันทร์เป็นที่ทำเลไม่เหมาะพระยามหา-อำมาตย์จึงให้ย้ายเมืองนครพนมมาตั้งที่บ้านโพธิ์ค้ำ หรือ โพธิ์คำ (เข้าใจกันว่าคงจะเป็นคุ้มบ้านใต้ในเมืองนครพนมนี่เอง)

จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญมากเป็นพระพนมครานุรักษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม อยู่ได้ ๗ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ราชบุตรทองทิพย์บุตร    พระพนมนครานุรักษ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทน และในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่โดยเริ่มแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล มีมณฑลลาวกาว (เขตอุบลราชธานีปัจจุบัน) มณฑลลาวเฉียง (เขตเชียงใหม่) และมณฑลลาวพวนเป็นต้น เมืองนครพนมขึ้นอยู่ในเขต   ปกครองมณฑลลาวพวน ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนประทับอยู่ ณ เมืองหนองคาย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ปรับปรุงระเบียบการปกครองข้อบังคับการปกครองหัวเมืองโดยแต่งตั้งให้มีผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมือง คือแทนที่จะเรียกว่าอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ดังแต่ก่อนพร้อมได้แต่งตั้งตำแหน่งกรมการในทำเนียบขึ้นเรียกว่าปลัดเมืองยกกระบัตรเมือง ผู้ช่วยราช-การพร้อมได้แต่งตั้งตำแหน่งกรมการในทำเนียบขึ้นเรียกว่า  ปลัดเมืองยกกระบัตรเมือง ผู้ช่วยราชการเมืองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดโต๊ะเป็น พระพิทักษ์พนมนคร ดำรงตำแหน่งปลัดเมือง ส่วนข้าหลวงประจำบริเวณซึ่งเป็นข้าราชการที่กระทรวงมหาดไทยส่งมาประจำนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นข้าหลวงดูแลราชการเมืองควบคุม และให้ข้อปรึกษาแนะนำผู้ว่าราชการเมือง กรมการเมืองปรับปรุงการงานให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ที่จัดและเปลี่ยนแปลงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระจิตรคุณสาร (อุ้ย  นาครทรรพ) ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครพนม ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพนมนครานุรักษ์ ต่อมาทางราชการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ โดยมีมณฑล จังหวัด อำเภอ และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผู้ปกครองบังคับบัญชา ฉะนั้น พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย  นาครทรรพ) จึงนับว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมามีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป

การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงขอนำคำจำกัดความของ "การเทศาภิบาล" ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า

"การเทศาภิบาล" คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลางซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ”

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้

การเทศาภิบาล นั้น หมายความว่า เป็นระบบ การปกครองอาณาเขต ซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ ยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและ  ริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราชทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้น อยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักรทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑล ดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมาและก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่าและได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมาลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรีเมืองจันทบุรี ระยองและตราด

พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษสร้างทางรถไฟสายใต้

พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด

พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑลอีกด้วยเมื่อจะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น

๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วน     ภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่

๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓. ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

๑. จังหวัด

๒. อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

ประวัติศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ชนชาวไทยส่วนหนึ่งที่อพยพมาตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้าแตกได้อพยพลงมาทางใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ แถบลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี เรียกตัวเองว่า “ลานช้าง หรือ ล้านช้าง” ในระยะแรกที่อพยพเข้าสู่ดินแดนบริเวณนี้ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอมเช่นเดียวกันจนถึงรัชสมัยของพระเจ้ารามคำแหง ได้ทรงขยายอาณาเขตเข้าครอบคลุมลานช้างด้วยจนถึงปี พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย ขณะเดียวกันทางกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง หัวเมืองประเทศราชพากันกระด้างกระเดื่องในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ พระบรมราชา 

(ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพไปตีสุโขทัยไว้ในอำนาจได้

 

ชนชาติไทยในลานช้าง

ในระยะก่อนตั้งกรุงสุโขทัยมาจนถึงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้าได้ให้โอรสองค์ใหญ่ชื่อ “ขุนลอ” มาครองเมืองเซ่า (หลวงพระบาง) และได้มีกษัตริย์สืบทอดมาอีก ๒๒ พระองค์ จนถึงปี ๑๘๖๙ เจ้าฟ้างุ้มได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเซ่าเป็นเมืองลานช้าง แต่เนื่องจากระยะนั้นขอมยังมีอิทธิอยู่ในบริเวณนี้ ชาวไทยจึงได้รวมตัวกัน โดยสร้างสัมพันธ์ทางสายเลือด เพื่อต่อต้านอำนาจขอม ในปี พ.ศ. ๒๐๘๙ พระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์ลานช้าง ได้รับราชสมบัติลานนา (เชียงใหม่) ให้แก่โอรส คือ พระไชยเชษฐา  เพราะมีสิทธิทางฝ่ายมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่  พ.ศ. ๒๑๐๒ พระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์แย่งราชสมบัติกัน พระไชยเชษฐาจึงทิ้งเมืองเชียงใหม่และได้อันเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย และได้ยกกองทัพมาลานช้างบังคับให้น้องสละราชสมบัติลานช้างแล้วครอบครองราชสมบัติใช้พระนามว่า “ท้าวไชยเชษฐาธิราช” ส่วนทางเมืองเชียงใหม่เกิดความไม่สงบเพราะพระเจ้าบุเรงนองแผ่อำนาจขึ้นไปทางเมืองไทยใหญ่ แล้วมุ่งมาตีเมืองเชียงใหม่ ขณะนั้นเชียงใหม่มีพระเจ้าเมกุติเจ้าไทยใหญ่ เชื้อสายเจ้าเชียงใหม่ครองอยู่ พระเจ้าเมกุติยอมแพ้พม่าโดยไม่สู้รบเลยและสัญญาว่าจะส่งบรรณาการต่อบุเรงนองทุกปี พอทัพพม่าออกจากเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาธิราชก็ยกทัพเข้าเชียงใหม่ขับไล่พระเจ้าเมกุติออกจากราชบัลลังก์ บุเรงนองได้ยกทัพย้อนกลับมาอีก ขับไล่ทหารของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชออกจากเชียงใหม่ และประกาศถอดพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชออกจากบัลลังก์ลานช้าง พระไชยเชษฐาได้รวบรวมผู้คนและชักชวนเจ้าผู้ครองนครแถบนั้นเข้าเป็นพันธมิตร แล้วยกทัพไปตีเชียงแสน บุเรงนองก็ตามไปโจมตีเมืองต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรพระไชยเชษฐาได้จนหมดสิ้น พระไชยเชษฐาจึงหนีกลับไปลานช้าง

พ.ศ. ๒๑๐๓ พระไชยเชษฐาได้ทำไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในปี ๒๑๐๖ ได้ย้ายราชธานีไปเวียงจันทน์ สร้างค่ายคูประตูหอรบสร้างวัดพระธาตุหลวงและวัดพระแก้วเปลี่ยนชื่อเมืองเซ่าหรือลานช้าง เป็นหลวงพระบางพระไชยเชษฐามีนโยบายเป็นมิตรกับคนไทยด้วยกัน และได้รักษาสัมพันธไมตรีอันดีเมื่อคราวที่พม่ามารบไทย พระไชยเชษฐาได้ยกทัพมาช่วย ทำให้พม่าเคียดแค้นจึงได้ยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์ได้และพระไชยเชษฐาได้หายสาบสูญไป เหตุการณ์ระยะปี พ.ศ. ๒๑๑๒ ถึง ๒๑๓๓ พม่าได้ปกครองดินแดนลานช้างและพม่ากำลังเสื่อมอำนาจลงเพราะสิ้นบุเรงนอง ประกอบกับได้ทำสงครามติดพันกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (๒๑๓๓–๒๑๔๘) จึงทำให้ลานช้างปลอดจากอิทธิพลพม่า

ในปี พ.ศ. ๒๑๓๔ พระสงฆ์ของเวียงจันทน์ได้ขอให้พม่าส่งพระหน่อแก้วเชื้อพระวงศ์พระไชยเชษฐาธิราชคืนกลับมาเป็นกษัตริย์ เมื่อกลับถึงเวียงจันทน์พระหน่อแก้วได้ประกาศเอกราชจากพม่า แล้วจึงยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบางได้ไว้ในอำนาจ และมีความสงบอยู่เกือบร้อยปี

 

อพยพจากลานช้างสู่อีสาน

เหตุที่ทำให้คนไทยลานช้างต้องอพยพลงใต้นั้น เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุต (เวียงจันทน์) ถึงแก่พิราลัยเมื่อพุทธศักราช ๒๒๓๑ ซึ่งตรงกับรัช-สมัยของพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์มีพระราชโอรส ๑ องค์นามว่า เจ้าองค์หล่อ ซึ่งมีชนมายุ ๓ พรรษา และมีพระนางสุมังคละมเหสี กำลังทรงครรภ์อยู่ด้วย  ขณะนั้นมีเสนาบดี      ผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อว่า พระยาเมืองแสน มีอำนาจมากกว่าคนอื่นๆ ได้ราชาภิเษกให้แก่เจ้าองค์หล่อราชโอรสครองราชสมบัติ ต่อมาก็ยกตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน โดยอ้างว่าเจ้าองค์หล่อยังเยาว์นัก ประกาศว่าเมื่อเจ้าองค์หล่อเจริญวัยขึ้นจะถวายราชสมบัติ โดยสิทธิ์ขาดในภายหลัง ด้วยเลห์เหลี่ยมอันฉลาดแกมโกงของพระยาเมืองแสนๆ ก็ได้ครองบัลลังก์ โดยไม่มีการราชาภิเษกแต่อย่างใด ขับเจ้าองค์หล่อจากราชบัลลังก์อย่างเงียบๆ และคิดการจะรับเอามารดาของเจ้าองค์หล่อที่ทรงครรภ์มาเป็นภรรยาของตน แต่มารดาของเจ้าองค์หล่อทราบระแคะระคายจึงพาเจ้าองค์หล่อกับคนสนิทลอบหนีไปขออาศัยอยู่กับเจ้าครูโพนเสม็ด (สมเด็จเจ้าหัวครูโพนเสม็ดอยู่ในตำแหน่งเจ้าหัวครูยอดแก้ว "พระสังฆราช") ซึ่งเป็นที่เคารพและมีลูกศิษย์มาก เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเห็นว่าถ้าให้นางอาศัยอยู่ด้วยก็เกรงความครหานินทาทั้งไม่เป็นการปลอดภัยจึงส่งไปไว้ที่ตำบลภูชะง้อหอคำและได้ประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่งนามว่า “เจ้าหน่อกษัตริย์” ที่นั้น

ฝ่ายพระยาเมืองแสนเห็นว่า เจ้าหัวครูโพนเสม็ดมีผู้รักใคร่นับถือมาก เกรงว่าจะคิดการแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดการกำจัด แต่เจ้าหัวครูโพนเสม็ดรู้เสียก่อนจึงรวบรวมพวกพ้องเหล่าสานุศิษย์ประมาณ ๓,๐๐๐ คน เดินทางหลบไป เมื่อผ่านไปทางใดก็มีราษฎรอพยพตามไปด้วยจนเดินทางถึงแขวงเมืองบันทายเพชร์ ดินแดนเขมร ฝ่ายพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้สั่งให้มีการสำรวจสำมะโนครัวและให้เรียกเก็บเงินจากชาวเวียงจันทน์ ครัวละ ๒ ตำลึง เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเห็นว่า เป็นการเดือนร้อนแก่เหล่าศิษยานุศิษย์ จึงอพยพออกจากดินแดนเขมรจนบรรลุถึงเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี การเดินทางออกจากเมืองเวียนจันทน์จนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีนี้ เจ้าหัวครูโพนเสม็ดต้องอาศัยเจ้าแก้วมงคล (บรรพบุรุษชาวมหาสารคาม) เป็นแม่กองใหญ่ และจารย์หวด รองแม่กอง ในการควบคุมดูแลบริวารของท่านมาตลอดทาง

ฝ่ายนางเภา นางแพง ซึ่งเป็นธิดาของผู้ครองเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเมื่อบิดาของนางถึงแก่พิราลัยแล้ว นางก็เป็นผู้บัญชาราชการบ้านเมืองต่อมา จนกระทั่งถึงปีที่เจ้าหัวครูโพนเสม็ดมาถึงเมือง นางทั้งสองทราบข่าวก็มีความเลื่อมใจ จึงพาแสนท้าวพญาเสนามาตย์ออกไปอาราธนาเจ้าหัวครูโพนเสด็ดเข้ามาในเมืองครั้งเวลาต่อมานางและประชาชนมีความเคารพนับถือเจ้าหัวครูโพนเสม็ดมากขึ้น และนางทั้งสองก็ชราลงมากจึงอาราธนาให้เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

เมื่อเจ้าองค์หล่อได้เจริญวัยขึ้นหน่อยก็สามารถไปอยู่ที่ประเทศญวน ต่อมาได้เกลี้ยกล่อมสมัครพรรคพวกได้มากจึงยกกำลังมาล้อมเมืองเวียงจันทน์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๒๔๕ จับ  พระยาเมืองแสนประหารชีวิต เจ้าองค์หล่อได้ครองราชสมบัติต่อมา

ครั้น พ.ศ. ๒๒๕๒ ปรากฏว่าชาวเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี บางพวกได้ซ่องสุมพรรคพวกก่อการกำเริบเป็นโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสะดมในตำบลต่างๆ ทำให้ราษฎรผู้มีความสุจริตธรรมต้องเดือนร้อนทั่วไป เจ้าหัวครูโพนเสม็ดได้พยายามปราบปรามโดยการเที่ยวอบรมสั่งสอนในทางดีก็หาได้ผลไม่  ครั้นจะทำการบำราบปราบปรามโดยอำนาจอาชญาจักร์ก็เป็นการเสื่อมเสียทางพรหมจรรย์ ทั้งจะเป็นที่ครหานินทาของประชาชนทั้งหลาย จึงดำริหาวิธีที่จะระงับเหตุร้ายโดยละม่อมที่สุดก็เห็นว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งอยู่ที่ตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุก เวลานี้ก็ทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว และเป็นผู้ประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณอันดีงาน สมควรจะปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความร่มเย็นได้ จึงจัดให้ท้าวพระยาเสนาบดีแลบ่าวไพร่ออกไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาเข้ามายังเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี แล้วเจ้าหัวครูโพนเสม็ดก็กระทำพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินของนครกาละจำบากนาบุรีศรี และได้ถวายพระนามว่า “พระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร” และได้เปลี่ยนนามเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเป็นเมือง “นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี” ตั้งแต่นั้นมา เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ ได้จัดการปกครองแลปราบปรามยุคเข็ญสงบราบคาบลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วเป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามยุคเข็ญนั้น

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ ก็เริ่มดำริหาเมืองขึ้น โดยให้มีการสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่หลายเมือง แล้วจัดให้บรรดาบุคคลที่มีปรีชาสามารถแลมีผู้รักใคร่นับถือออกไปเป็นเจ้าเมือง (เจ้าเมืองสมัยนั้นก็เสมือนกษัตริย์เมืองขึ้น เพราะการแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนคำพูดที่ใช้ในสำนักของเจ้าเมืองนั้นๆ ก็ใช้เป็นราชาศัพท์) ให้จารย์หวดไปสร้างเมืองขึ้นชื่อเมืองโขงตั้งจารย์หวดเป็นเจ้าเมือง ให้ท้าวจันทร์ (นับว่าเป็นน้องจารย์แก้ว) ไป

รักษาเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง

 

 

 

สร้างเมืองบรรพบุรุษของชาวอีสาน

ส่วนจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคลให้ไปสร้างเมืองทง (สุวรรณภูมิ) ให้จารย์แก้วเป็นเจ้าเมือง (ชื่อของจารย์แก้วในภายหลังก็ได้นำมาใช้เป็นชื่อเจ้าเมืองและนายอำเภอเมืองนี้ ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เช่น พระยารัตนวงศา พระรัตนวงศาฯ หลวงรัตนาวงศา (เมืองนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเมืองสุวรรณภูมิแล้วยุบลงเป็นอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด ราว พ.ศ. ๒๔๕๔)

ครั้น พ.ศ. ๒๒๖๘ อาจารย์แก้วเจ้าเมืองทงก็ถึงแก่อนิจกรรม มีบุตรรวม ๓ คน คือ (๑) เจ้าองค์หล่อหน่อคำ (หลานเจ้านครน่าน)  (๒) ท้าวมือดำดล หรือท้าวมืด (๓) ท้าวสุทนต์มณี หรือท้าวทนต์ (ปรากฏในพงศาวดารว่าเหตุที่ชื่อท้าวมืดเพราะเวลาคลอดนั้นเป็นเวลาสุริยุปราคามืดมิดไปทั่วเมือง ที่ชื่อท้าวสุทนต์มณี เพราะเวลาตั้งครรภ์บิดาฝันว่าฟันของตนได้เกิดเป็นแก้วมณีขึ้น) เมื่อจารย์แก้วถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ ก็ตั้งให้ท้าวมืดเป็นเจ้าเมือง ท้าวทนต์เป็นอุปฮาช รักษาบ้านเมือง ต่อไปในภายหลัง ท้าวมืดดำดลเจ้าเมืองถึงแก่กรรมลง ท้าวสุทนต์มณีน้องชายได้เป็นเจ้าเมืองแทน ท้าวสุทนต์ผู้นี้นับว่ายังเป็นผู้ยังไม่สิ้นเคราะห์พอขึ้นเป็นเจ้าเมืองไม่ทันไรก็ถูกอิจฉา โดยท้าวเชียง ท้าวสูนบุตรของท้าวมืดซึ่งเป็นหลานชาย อยากเป็นเจ้าเมืองเสียเอง จึงพากันลงไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ณ พระนครศรีอยุธยา ขอกำลังมาทำการขับไล่ท้าวสุทนต์ผู้อา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพรหม พระยากรมท่าออกไปจัดการกับท้าวเชียง ท้าวสูน โดยมีพระประสงค์จะให้ประนีประนอมกันแต่โดยทางดี

ฝ่ายท้าวสุทนต์เจ้าเมืองเมื่อทราบข่าวว่ากองทัพกรุงยกมาก็ดำริเห็นว่า เราเป็นเมืองน้อยมีกำลังน้อยไม่สามารถต้านทานกำลังของกองทัพกรุงได้ ถ้าหากมีการต่อสู้กันขึ้นมา คงเป็นฝ่ายย่อยยับจึงอพยพครอบครัวออกไปอยู่ที่ทุ่งตะมุม (หรือขมุม หรือกระหมุม ที่นั่นได้เรียกว่าคงเมืองจอกมาจนทุกวันนี้) ในครั้งนั้นมีประชาชนที่จงรักภักดีติดตามท้าวทนต์ไปอยู่ที่ทุ่งตะมุมด้วยเป็นจำนวนมาก

ครั้นพระยาพรหม พระยากรมท่ามาถึงเมืองทงเมื่อทราบว่าท้าวทนต์ฯ ได้หนีไปแล้ว จึงมีใบบอกขอตั้งท้าวเชียงเป็นเจ้าเมืองท้าวสูนเป็นอุปฮาช ได้โปรดพระราชทานตามที่ขอ แต่นั้นมาเมืองทง (ทุ่ง) ก็เป็นอันขาดจากความปกครองของเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ ครั้นเรียบร้อยแล้วพระยาพรหม พระยากรมท่าก็ออกไปตั้งสำนักอยู่ที่ทุ่งสนามโนนกระเบา (ในท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ)

 

สร้างบ้านร้อยเอ็ด

เมืองร้อยเอ็ดได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ (ก่อนเมืองมหาสารคาม ๙๐ ปีบริบูรณ์) ปรากฏในพงศาวดารภาคอีสานของหอสมุดว่า สมัครพรรคพวกที่ไปขอขึ้นด้วยมากขึ้นทุกที ในที่สุดพระยาพรหม พระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนต์เป็นตระกูลสูงเก่าแก่ และมีความเฉลียวฉลาดประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมเป็นอันดีทั้งมีคนเคารพเลื่อมใสยอมตนเข้าเป็นพรรคพวกเป็นอันมาก สมควรจะเป็นเจ้าเมืองต่อไปอีกได้ จึงพร้อมด้วยเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าหมื่นน้อย เจ้าธรรมสุนทรซึ่งเป็นญาติของท้าวสุทนต์ กับท้าวเชียง ท้าวสูน มาว่ากล่าวประนีประนอมให้คืนดีกันจนเป็นผลสำเร็จแล้วพระยาพรหม พระยากรมท่าก็มีใบบอกขอยกเอาดงกุ่มขึ้นเป็นเมือง ขอท้าว 

สุทนต์เป็นเจ้าเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุทนต์เป็นพระขัติยะวงศาให้ยกดงกุ่มเป็นเมืองร้อยเอ็ดในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ นั้นเอง (เหตุที่ให้นามว่า ขัติยะวงศา เพราะท้าวแก้วต้นตระกูลเป็นผู้สืบสายจากกษัตริย์เวียงจันทน์) ต่อจากนั้นพระขัติยะวงศา (สุทนต์) ได้เริ่มอำนวยการให้ราษฎรแผ้วป่าดงกุ่มสร้างเมืองใหม่ตามมีพระบรมราชโองการ ต่อจากนั้นก็มีการสร้างวัดวาอาราม ปรับปรุงบ้านเมืองในด้านการปกครองการศาสนาตลอดจนส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๖ พระขัติยะวงศา (สุทนต์) ชราภาพลงมาก จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระนิคมจางวาง พระนิคมจางวาง (สุทนต์) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวศีลัง เป็นพระขันติยะวงศา เจ้าเมืองแทนบิดา ให้ท้าวภูเป็นอุปฮาช ท้าวอ่อนเป็นราชวงศ์ ต่อมาพระขัติยะวงศา (ศีลัง) มีความชอบในราชการสงครามจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาขัติยะวงศาพิสุทธาธิบดี และปี พ.ศ. ๒๓๘๐ หลังจากปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์สงบราบคาบแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเห็นว่า สามพี่น้องมีความชอบในราชการเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาขัติยะวงศา (ศีลัง) ขึ้นเป็นพระยาชั้นพานทองและพระราชทานพานทองคำขนาดใหญ่ ๑ ใบ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวภูเป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ให้ท้าวอ่อนเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในพระบรมหาราชวัง เมื่องพระรัตนวงศา (ภู)  ผู้นี้ถึงอนิจ-กรรมแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอ่อนมหาดเล็กออกมาเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิต่อไป

 

ตั้งเมืองมหาสารคามแยกออกจากร้อยเอ็ด

เมื่อพระยาขัติยะวงศาถึงแก่อนิจกรรมลง อุปฮาชสิงห์พร้อมด้วยท้าวจันทร์และราชวงศ์อินได้นำใบบอกไปขอศิลาหน้าเพลิง ณ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิชัยสุริวงศ์เป็นผู้รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดแทนบิดาหลังจากจัดการพระราชทานเพลิงศพบิดาเสร็จแล้ว อุปฮาชสิงห์ได้จัดให้มีการเล่นโปขึ้นที่หอนั่งในจวนของพระยาขัติยะวงศา และชักชวนให้พระพิชัยพี่ชายเล่นด้วย พอยามดึกสงัดพระพิชัยได้ถูกคนร้ายลอบแทงถูกสีข้างข้างซ้ายถึงแก่กรรม

ขณะนั้นพระรัตนวงศา (ภู) น้อยชายพระยาขัติยะวงศาได้มาทำการปลงศพพี่ชายที่เมืองร้อยเอ็ดด้วย ได้พร้อมกับกรมการเมืองทำการสืบหาตัวผู้ร้าย จับตัวเจ๊กจั๊นผู้ชึ่งเป็นผู้ร้ายได้ พระรัตนวงศา (ภู) สงสัยอุปฮาชสิงห์หลายชาย จึงจับตัวส่งไปกรุงเทพฯ พร้อมเจ๊กจั๊น ครั้นเดินทางใกล้ถึงเมืองนครราชสีมาอุปฮาชสิงห์ได้กินยาพิษถึงถึงแก่กรรมเสียก่อนยังมิได้มีการไต่สวนพิพากษาแต่อย่างใด คดีจึงเป็นอันระงับไป

ฝ่ายท้าวศรีวงศ์บุตรของอุปฮาชสิงห์ ซึ่งมีอายุ ๑๑ ปี เมื่อบิดาถูกส่งไปกรุงเทพฯ ญาติหวาดหวั่นว่าจะได้รับภัยด้วย จึงส่งตัวท้าวศรีวงศ์ไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิ และได้ถูกส่งตัวไปจนถึงเขตแขวงเมืองยโสธรนัยว่าไม่ได้ฝากฝังไว้กับใคร ชีวิตจึงต้องระเหเร่ร่อนได้รับความทรมานลำบากยากแค้น ถึงกับต้องอาศัยนอนตามถนนหนทางและศาลาวัดและเที่ยวขอทานประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ท้าวศรีวงศ์ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่เช่นนี้ ๖ เดือนเศษ  จึงได้พบกับสมภารทองสุก ซึ่งมีวัดใกล้เมืองยโสธร โดยพบขณะนอนหลับอยู่ใต้ธรรมาสน์บนศาลา จึงปลุกขึ้นมาสอบถามความเป็นมา เมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนต้องหลบหนีมาสมภารทองสุกเกิดความสงสารจึงชักชวนให้อยู่ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “ท้าวกวด” และทำการบรรพชาให้เป็นสามเณร ให้เล่าเรียนภาษาบาลี พระธรรมวินัย ภาษาไทย จนแตกฉาน ต่อมาได้อุปสมบทได้สองพรรษาก็ลาสิกขาบทออกไปทำราชการที่เมืองอุบลฯ ทำราชการมีความชอบจนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ท้าวมหาชัย

ครั้น พ.ศ. ๒๓๙๙ ท้าวมหาชัยได้รับจดหมายของพระขัติยะวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเรียกให้กลับไปรับราชการที่เมืองร้อยเอ็ด จึงได้กลับไปรับราชการอยู่กับญาติของตน

พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแหงสงคราม (แก้ว สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมา (ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช) เป็นข้าหลวงแม่กองสักออกไปสักเลขทางหัวเมืองตะวันออกตั้งอยู่ที่เมืองยโสธรคราวนี้กรมการเมืองร้อยเอ็ดได้นำตัวเลขไปสักที่เมืองยโสธรเป็นจำนวน ๑๓,๐๐๐ คนเศษ

พระขัติยะวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเห็นว่า พลเมืองของร้อยเอ็ดมีมากขึ้นประกอบกับท้าวมหาชัยเป็นผู้มีความชอบในราชการหลายอย่าง ทั้งชื่อสัตย์มั่นคง มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม สมควรเป็นเจ้าเมืองได้ ถ้าแยกออกไปตั้งเมืองหนึ่งก็จะเป็นการสมควร จึงปรึกษาหารือกับกรมการเมืองแล้วเห็นชอบให้ตั้งเมืองใหม่ พระขัติยะวงศาจึงให้ท้าวมหาชัย (กวด) กับอุปฮาชภูไปสำรวจที่ตั้งเมือง และได้เลือกที่ดินระหว่างห้วยคะคางและกุดนางใย เพราะเป็นโคกเนินสูงน้ำไม่ท่วมถึง หน้าแล้งก็ได้อาศัยน้ำห้วยคะคางและกุดนางใย  หนองกระทุ่มเป็นที่ใช้สอย บริโภคของประชาชน  เมืองได้ถูกสร้างขึ้นในปี ๒๔๐๘ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วพระขัติยะวงศา ขอท้าวมหาชัย (กวด) เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวบัวทอง (พานทอง)  เป็นอรรคฮาช (ทั้งสองคนเป็นหลานพระยาขัติยะวงศา) ขอท้าวไชยวงศา (ฮึง) บุตรพระยาขัติยะวงศา (ศีลัง) เป็นอรรควงศ์ ขอท้าวเถื่อนบุตรพระขัติยะวงศา (จันทร์) เป็นอรรคบุตร และให้ท้าวมหาชัย (กวด) กับพวกทั้งสามคนทำใบบอกลงไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ ที่กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๑๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองมหาสารคาม ซึ่งเกิดใหม่และเป็นเมืองขึ้นของเมืองร้อยเอ็ดให้ยกไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ฐานะของอรรคฮาช อรรควงศ์ อรรคบุตร ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาชราชวงศ์ ราชบุตร พร้อมกันทันที และในปีนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต

พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้มีตราถึงเมืองมหาสารคาม และหัวเมืองตะวันออกว่า ให้ยกเลิกธรรมเนียมตั้งข้าหลวงกองสักที่มาสักเลขตามหัวเมือง และขอให้ไพร่บ้านพลเมืองไปอยู่ในความปกครองของเมืองใดก็ได้ตามใจสมัคร และโปรดเกล้าฯ ให้ทำสำมะโนครัวตัวเลขส่งไปยังกรุงเทพฯ ในปีนี้พลเมืองของร้อยเอ็ดได้พากันอพยพมาขอขึ้นอยู่กับเมืองมหาสารคามอย่างมากมาย

 

ไทยรบกับฮ่อ

พ.ศ. ๒๔๑๘ พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ ของหลวงพระบางซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของไทย และตระเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองเวียงจันทน์ และหนองคายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร)  เป็นแม่ทัพใหญ่ให้เกณฑ์กำลังทางหัวเมืองตะวันออกไปปราบฮ่อทางเมืองหนองคาย

พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ได้ส่งให้พระเจริญราชเดช (ท้าวมหาชัย กวด ภวภูตานนท์) เกณฑ์กำลังเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เป็นแม่ทัพหน้ายกไปสมทบทัพของพระพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบลราชธานี และพระยาชัยสุนทร (ทน) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ โดยให้ราชบุตร (เสือ)  เมืองร้อยเอ็ดเป็นนายกองผู้ช่วยพระเจริญราชเดช (มหาชัยกวด) ทัพไทยได้ยกข้ามโขงไปโจมตีและเกิดตลุมบอนกันจนฮ่อแตกกระจาย ผลปรากฏว่าราชบุตรเสือถูกฮ่อยิงถูกมือขวาโลหิตไหล พวกพลจึงเข้าพยุงกลับมา ส่วนพระเจริญราชเดชได้ถูกกระสุนปืนของฮ่อที่ต้นขาซ้าย และแขนซ้าย  ตกจากหลังม้าอาการสาหัสไพร่พลจึงเข้าพยุงขึ้นใส่บ่าจะพากลับที่พัก แต่พระเจริญราชเดชไม่ยอมกลับ โดยอ้างว่า  “กลับไปก็อายเขา  เมื่อถึงที่ตายก็ขอให้ตายในที่รบ ฯลฯ” จึงสั่งให้ไพร่พลพยุงขึ้นบนหลังม้าแล้วพยายามขับขี่ต่อไปอีก ในวันต่อมากองทัพไทยได้ยกเข้าตีค่ายโพธานาเลา ได้ชัยชนะอีก พวกฮ่อได้แตกหนีไป ไทยจับได้พวกฮ่อและ

สาตราวุธมากมาย

เมื่อเสร็จการปราบฮ่อแล้ว พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงใหญ่ภาคอีสานได้กลับ

ไปจัดราชการอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด  กองทัพอื่นๆ ก็กลับไปยังบ้านเมืองตามเดิม ส่วนพระเจริญ-

ราชเดช  ที่ถูกยิงและตกจากหลังม้านั้น มีอาการป่วยได้เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่คุ้มเจ้าราชวงศ์

เวียงจันทน์ และต่อมาได้กลับมารักษาตัวที่เมืองมหาสารคามและได้ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ อุปฮาช (ฮึง) ผู้เป็นอาพร้อมด้วยกรมการเมืองปรึกษากันเห็นว่า ท้าวสุพรรณ บุตรพระเจริญราชเดชสมควรจะเป็นเจ้าเมืองต่อไปได้ จึงเขียนใบบอกให้ท้าวสุพรรณนำลงไปยังกรุงเทพฯ ขณะที่ท้าวสุพรรณเดินทางไปยังไม่ถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่กลางทาง ตำแหน่งเจ้าเมืองมหาสารคามจึงได้ว่าง ต่อมาถึง ๒ ปี โดยมีอุปฮาช (ฮึง) รักษาการแทนอยู่

พ.ศ. ๒๔๒๒ ขุนหลวงสุวรรณพันธนากร (คำภา) ขุนสุนทรภักดีสมมุติตนเองขึ้นเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเที่ยวตามหัวเมืองตะวันออก อ้างว่าโปรดเกล้าฯ ให้มาชำระถ้อยความของราษฎรที่เกิดขึ้น แต่หนังสือที่ว่าเป็นท้องตรานั้นประทับเป็นรูปราชสีห์ถือเศวตฉัตรสองตัวเป็นเส้นลายทอง และถือหนังสือของขุนบรรเทาพินราชกรมมหาดไทยว่า ตนเป็นนายเวรของกรมพระบำราบปรปักษ์มาถึงอุปฮาช ราชวงศ์ราชบุตรเมืองมหาสารคามว่า ตนมาชำระคดีเรื่องขุนสุนทรและท้าวจันทร์ชมภู อุปฮาชฮึงและกรมการเมืองมหาสารคามมีความสงสัย เพราะเห็นว่ามีพิรุธแต่ครั้นจะกักตัวไว้ก็ไม่ปรากฏว่าทุจริต จึงได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราถึงหัวเมืองตะวันออกให้ทำการตรวจจับขุนแสวงฯ และขุนสุนทรภักดีส่งไปกรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้อุปฮาชฮึงเป็นพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม และในปีนี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ขึ้นในปกครองของเมืองสุวรรณภูมิแต่มาตั้งเมืองในเขตของเมืองมหาสารคาม

พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาเลาเป็นเมือง “วาปีปทุม” แต่บ้านนาเลาไม่เหมาะสมกับการตั้งเมือง จึงได้มาตั้งที่บ้านหนองแสง และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านวังทาหอขวางเป็นเมือง “โกสุมพิสัย”

พ.ศ. ๒๔๓๒ อุปฮาชผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคามสุรินทร์ ศรีสะเกษ ว่าแย่งเอาเขตของตนไปตั้งเป็นเมือง เฉพาะเมืองมหาสารคาม ถูกหาว่าขอเอาบ้านนาเลาตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ ข้าหลวงอุบลฯ ทำการไต่ส่วนว่ากล่าวในเรื่องนี้ แต่เมืองเหล่านี้ได้ตั้งมานานแล้วรื้อถอนไม่ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองวาปีปทุมเป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามไปตามเดิม โดยมิได้โยกย้ายประการใด

 

การจัดแบ่งเขตปกครอง

พ.ศ. ๒๔๓๓ โปรดเกล้าฯ แบ่งเขตปกครองหัวเมืองตะวันออกเป็น ๔ ส่วน หรือ

สี่กอง กองหนึ่งๆ มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้กำกับราชการ

๑. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีเมืองใหญ่ ๑๖ เมือง เมืองเล็กขึ้น ๓๖ เมือง อยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองหนองคาย

๒. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้น ๒๖ เมือง อยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์

๓. หัวเมืองลาวฝ่ายกลางมีเมืองใหญ่ ๓ เมือง เมืองขึ้น ๑๖ เมือง อยู่ในความ

ปกครองของข้าหลวงเมืองนครราชสีมา

๔. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองใหญ่ ๑๒ เมือง เมืองขึ้น ๒๙ เมือง ขึ้นอยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี (ภายหลังเรียกมณฑลอีสาน) เมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นอยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองอุบลฯ

พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดเกล้าฯ ให้นายรองชิต (เลื่อง ณ นคร ) จมื่นศรีบริรักษ์ มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ดเป็นครั้งแรก ตั้งอยู่ที่เมืองมหาสารคาม

พ.ศ. ๒๔๓๗ ทางการได้โอนเมืองชุมพลบุรีจากเมืองสุรินทร์มาขึ้นเมืองมหาสาร-

คาม (พ.ศ. ๒๔๔๓ ยุบเป็นอำเภอแล้วโอนกลับไปขึ้นเมืองสุรินทร์)

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเพื่อวางระเบียบแบบแผนการปกครองท้องที่ให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น แต่เวลานั้นมณฑลอีสานยังมิได้จัดการปกครองให้เป็นไปอย่างมณฑลอื่น

พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นบริเวณ ๕ บริเวณ คือ

๑) บริเวณอุบล

๒) บริเวณจำปาศักดิ์

๓) บริเวณขุขันธ์

๔) บริเวณสุรินทร์

๕) บริเวณร้อยเอ็ด

บริเวณร้อยเอ็ดแบ่งเป็น ๕ หัวเมือง คือ

๑) เมืองร้อยเอ็ด

๒) เมืองมหาสารคาม

๓) เมืองกาฬสินธุ์ (ยุบลงเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดมหาสารคาม ปี ๒๔๗๔ แล้ว กลับตั้งเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์อีก เมื่อปี ๒๔๙๐)

๔) เมืองกมลาไสย (ยุบลงเป็นอำเภอจนทุกวันนี้)

๕) เมืองสุวรรณภูมิ (ยุบลงเป็นอำเภอจนทุกวันนี้)

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เจ้าเมือง” เป็น “ผู้ว่าราชการเมือง” อุปฮาช เป็น ปลัดเมือง ราชวงศ์ เป็น ยกกระบัตร ราชบุตร เป็น ผู้ช่วยราชการเมือง

ชาเนตร เป็น เสมียนตราเมือง

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมืองมหาสารคาม ได้จัดการแบ่งเขตเมืองตั้งขึ้นเป็นอำเภอคือ (๑) อำเภออุทัยสารคาม (๒) อำเภอประจิมสารคาม ส่วนเมืองวาปีปทุม โกสุมพิสัย ก็คงให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามไปตามเดิม และได้ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอในปีนี้ เช่นเดียวกัน

พ.ศ. ๒๔๔๔ เมืองมหาสารคาม มีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครอง ๔ อำเภอ คือ อุทัยสารคาม ประจิมสารคาม วาปีปทุมและโกสุมพิสัย ยุบเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ลงเป็นอำเภอ

พยัคฆภูมิพิสัย และย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านนาข่าไปตั้งที่ตำบลปะหลานแต่นั้นมา แล้วโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากเมืองสุวรรณภูมิมาให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของร้อยเอ็ดในปีนั้น

พ.ศ. ๒๔๔๖ ยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองโดยทั่วไป

พ.ศ. ๒๔๕๑ ทางราชการได้สั่งให้เปลี่ยนคำที่เรียกว่า “บริเวณ”  เป็น “เมือง” ตามเดิม และปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เปลี่ยนคำที่เรียกว่า “ที่ว่าการเมือง” เป็น “ศาลากลางจังหวัด” และเปลี่ยนคำว่าคุ้มหรือบ้านของเจ้าเมืองเรียกว่า “จวนผู้ว่าราชการเมือง”

พ.ศ. ๒๔๕๔ ย้ายอำเภอประจิมสารคาม จากเมืองมหาสารคามไปตั้งทางทิศตะวันตก เมืองมหาสารคาม ไปติดตั้งกับหนองบรบือ เรียกใหม่ว่าอำเภอท่าขอนยาง และเปลี่ยนนามอำเภออุทัยสารคาม เรียกว่า อำเภอเมืองมหาสารคาม

พ.ศ. ๒๔๕๙  เปลี่ยนค่ำว่า “ผู้ว่าราชการเมือง” เป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และยกเลิกตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดปีนี้

พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้น ตั้งศาลารัฐบาลที่เมืองร้อยเอ็ด (ที่ทำการมณฑลเรียกว่า ศาลากลางรัฐบาลมณฑล) โอนเมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคามจากมณฑลอีสาน (ซึ่งเปลี่ยนเป็นมณฑลอุบลราชธานี) มาขึ้นมณฑลร้อยเอ็ดซึ่งตั้งใหม่ และในปีนี้ได้จัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นในจังหวัดมหาสารคามเป็นครั้งแรก

โอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาขึ้นในความปกครองของจังหวัดมหาสารคาม โอนอำเภอกันทรวิชัย (แล้วเปลี่ยนเป็นอำเภอโคกพระ) จากจังหวัดกาฬสินธุ์มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จังหวัดมหาสารคามจึงมี ๖ อำเภอ คือ

๑) อำเภอเมืองมหาสารคาม (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอตลาด)

๒) อำเภอเมืองวาปีปทุม

๓) อำเภอโกสุมพิสัย

๔) พยัคฆภูมิพิสัย

๕) อำเภอโคกพระ

๖) อำเภอท่าขอนยาง (ถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบรบือ)

พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัด (ต่อมาได้ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม เพราะได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ เสร็จในปี ๒๔๖๗)

พ.ศ. ๒๔๖๘ โปรดเกล้าฯ ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ดเป็นจังหวัด โอนจังหวัดทั้งสาม คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ไปขึ้นอยู่มณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๗๔ ทางราชการได้ยุบจังหวัดกาฬสินธุ์มารวมขึ้นในความปกครองของจังหวัดมหาสารคามอีก ๕ อำเภอรวมเป็น ๑๑ อำเภอ

 

เปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยา

ทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอาคเณ เป็นหัวหน้า ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตย

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม และในเดือนนี้รัฐบาลได้สั่งให้จัดตั้ง “สาขาสมาคมคณะราษฎร์ ขึ้นในจังหวัดต่างๆ จังหวัดมหาสารคามได้จัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “สาขาสมาคมคณะราษฎร์” ประจำจังหวัดมหาสารคาม

กันยายน ๒๔๗๖ จังหวัดมหาสารคามได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นเป็นครั้งแรก

พฤศจิกายน ๒๔๗๖ จังหวัดมหาสารคามได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยวิธีให้ผู้แทนตำบลทั่งทั้งจังหวัดเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง (มีผู้แทนตำบล ๑๑ อำเภอ

รวมกัน ๖๑ คน และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๖

พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลได้เปลี่ยนคำที่เรียกว่า ”ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็น “ข้าหลวงประจำจังหวัด” ภายหลังได้เปลี่ยนกลับไปใช้คำว่า” ผู้ว่าราชการจังหวัด” อีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งบัดนี้

พ.ศ. ๒๔๙๖ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ได้สร้างเสร็จและเปิดใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น ๙ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ดังนี้

๑. อำเภอเมืองมหาสารคาม

๒. อำเภอบรบือ

๓. อำเภอกันทรวิชัย

๔. อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย

๕. อำเภอนาดูน

๖. อำเภอวาปีปทุม

๗. อำเภอนาเชือก

๘. อำเภอเชียงยืน

๙. อำเภอโกสุมพิสัย และ

๑๐. กิ่งอำเภอแกดำ