ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย

 

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเลยเพิ่งจะมีปรากฏแน่ชัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองเลยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ส่วนประวัติความเป็นมาของจังหวัดก่อนหน้านี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและการสร้างบ้านแปลงเมืองซึ่งเป็นเมืองโบราณในท้องที่จังหวัดเลยปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านและเมืองเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานที่ได้จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยอาจได้รับการบันทึกไว้ในรูปของสมุดข่อยคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งพงศาวดาร ซึ่งย่อมจะมีสาระรายละเอียดที่ไม่ตรงกันนัก เพราะเป็นการบันทึกจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ตลอดทั้งหลักฐานประเภทจารึก เช่น ศิลาจารึก จารึกที่ฐานพระเจดีย์ เป็นต้น ก็มักเป็นจารึกที่จัดทำขึ้นใหม่แทนของเก่าที่สูญหายไป

 สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

               ดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม มี ละว้า มอญ ขอม เป็นต้น  ต่อมาจึงมีหลักฐานเกี่ยวกับการอพยพของชนเผ่าไทยเข้ามายังดินแดนนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองและชนเผ่าไทยได้ตั้งถิ่นฐานจนก่อตั้งเป็นอาณาจักรใหญ่กระจายอยู่ทั้วทุกทิศ เช่น อาณาจักรโยนก อาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรอิสานปุระเป็นต้น

              กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ที่เป็นจังหวัดเลยจนสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นกลุ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า เป็นชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก

              อาณาจักรโยนกเป็นอาณาจักรใหญ่ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงดินแดนแคว้นตังเกี๋ยของประเทศจีนและรัฐฉานของพม่า มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๘ ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรนี้ทรงพระนามว่า พญาสิงหนวัติ เป็นเจ้าชายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพผู้คนลงมาสร้างอาณาจักรโยนก

              กษัตริย์ในราชวงศ์พระเจ้าสิงหนวัติปกครองโยนกนครสืบมาจนถึงสมัยพระองค์พังค-ราช  พวกขอมดำซึ่งมีอำนาจอยู่ทางใต้ของอาณาจักรโยนกตีได้โยนกนคร  พระองค์พังคราชต้องอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ที่เวียงสีทวง ๑๙ ปี  พรหมกุมารราชโอรสจึงปราบปรามขอมดำขับไล่ออกไปจากอาณาจักรแล้วอัญเชิญพระองค์พังคราชกลับมาปกครองโยนกนครใหม่ ส่วนพรหมกุมารหรือพระเจ้าพรหมตามที่ขนานนามในภายหลังได้สร้างเมืองชัยปราการที่ริมแม่น้ำฝาง ทำให้อาณาจักรโยนกเชียงแสนมีอำนาจยิ่งขึ้น

              พระเจ้าพรหมครองเมืองชัยปราการจนสวรรคตแล้ว  พระองค์ชัยศิริราชโอรสครองราชย์สืบต่อมา ในสมัยนี้พระเจ้าอนุรุทมหาราช กษัตริย์พม่ามีอำนาจยิ่งใหญ่ตีได้อาณาจักรโยนกและเมืองชัยปราการไว้ในอำนาจ พระองค์ชัยศิริก็อพยพผู้คนลงใต้อันเป็นดินแดนของพวกมอญและขอม เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๗

การตั้งเมืองด่านซ้าย

             เมื่ออาณาจักรโยนกล่มสลายแล้ว  ชาวโยนกเชียงแสนที่รักอิสระต่างพากันอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ บางพวกอพยพไปรวมกำลังกับพระองค์ชัยศิริ บางพวกก็อพยพไปหาที่อยู่อาศัยทางแคว้นพางคำ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้นำผู้คนอพยพมุ่งลงไปทางทิศตะวันออก เมื่อเข้าสู่ดินแดนลานช้างแล้วจึงบ่ายหน้าลงไปทางทิศใต้ (สันนิษฐานว่าจะนำผู้คนอพยพผ่านไปตามหมู่บ้านห้วยไฮ ห้วยลึก นากอก บ้านเมืองฮำและเมืองบ่อแตน ปัจจุบันอยู่ในแขวงไชยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) แล้วนำไพร่พลข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมัน จนถึงบริเวณที่ราบจึงได้พากันหยุดพัก ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวาซึ่งยังมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) และพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้ายสร้างบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่าจะอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยในปัจจุบัน) แล้วต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคูซึ่งอยู่ทางทิศใต้  เมื่อมีกำลังคนมากขึ้นจึงคิดที่จะขยับขยายไปหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ ครั้นได้นำเอานามหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามให้หมู่บ้านหนองคูเสียใหม่เป็น “เมืองด่านซ้าย” แล้วจึงนำไพร่พลอพยพไปเมืองบางยาง (เชื่อว่าอยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก) ส่วนพ่อขุนผาเมืองขณะที่พ่อขุนบางกลางหาวเลื่อนขึ้นไปตั้งหมู่บ้านหนองคู พ่อขุนผาเมืองก็ได้นำผู้คนอพยพออกจากบ้านด่านขวาข้ามภูน้ำรินไปตั้งเมืองโปงถ้ำและอพยพต่อไปตั้งเมืองภูครั่ง (โปงถ้ำสันนิษฐานว่าเป็นถ้ำเขียะในปัจจุบัน เป็นถ้ำเล็ก ๆ อยู่ข้างถนนสายเลย-ด่านซ้าย ห่างจากหมู่บ้านโคกงามไปทางด่านซ้ายประมาณ ๑ กิโลเมตร และบริเวณที่หยุดพักไพร่พลตั้งเมืองเป็นการชั่วคราวคงจะเป็นที่เนินด้านขวาของทางหลวงสายโคกงาม-ด่านซ้าย  อยู่ในความควบคุมของแขวงการทางด่านซ้าย ต่อมาได้อพยพไปสร้างเมืองบนภูครั่งซึ่งเป็นที่ราบอยู่บนยอดเขาภูครั่ง ภูครั่งเป็นภูเขาลูกใหญ่มีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่อยู่บนยอดเขา อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอภูเรือ และอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย อนึ่งคำว่า “เขียะ” นั้นหมายถึงจั๊กจั่นชนิดหนึ่งแต่ตัวเป็นสีเขียว) ครั้นพ่อขุนบางกลางหาวได้พาผู้คนอพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางแล้ว พ่อขุนผาเมืองจึงได้อพยพผู้คนติดตามไปจนไปตั้งหลักแหล่งได้ที่เมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้ปกครองเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเป็นผู้ปกครองเมืองราด ขณะเมื่อพ่อขุนบางกลางหาวปกครองเมืองบางยาง ก็ได้ตั้งเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกตามราชธานีสมัยโบราณด้วย

การตั้งเมืองเซไล

ชาวไทยที่มีผู้นำสืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองอาณาจักรโยนกอีกกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขตลานนาไทยต่อแดนลานช้าง คนไทยกลุ่มนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ สืบเชื้อสายต่อมาหลายชั่วอายุคน จนถึงสมัยที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไท ปกครองอาณาจักรสุโขทัย เนื่องจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพญาลิไท ใน พ.ศ.๑๘๙๐  นั้น มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น ดังปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔) ว่าเมื่อพญาเลอไทสวรรคตแล้ว พญาลิไท ซึ่งเป็นอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ต้องยกทัพมาล้อมเมืองสุโขทัย และเอาขวานประหารศัตรูทั้งหลายแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงสุโขทัย ในระยะแรกครองราชย์ พญาลิไทต้องปราบปรามพวกพ้องของผู้คิดชิงอำนาจ พร้อมกับการทำนุบำรุงบ้านเมือง ชาวไทยกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือนอยู่เขตชายแดนอาณาจักรลาน-นาต่อแดนลานช้าง จึงเกรงว่าพญาลิไทอาจจะทรงคิดกอบกู้พระราชอำนาจ ยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองทางด้านนี้ และมีความเห็นว่าหมู่บ้านของตนเป็นทางผ่านและอยู่ใกล้แดนลานช้าง ทั้งตนเองก็ได้ผูกสัมพันธไมตรีมีความสนิทสนมรักใคร่เป็นสหายต่อกันกับเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางจึงคิดที่จะขจัดปัญหายุ่งยากซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นทั้งสองฝ่ายให้หมดสิ้นไป จึงนำผู้คนอพยพออกเดินทางผ่านเข้าไปในแดนลานช้างของพระสหายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วจึงมุ่งหน้าเดินลงไปทางทิศใต้ เมื่อข้ามลำแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำเหือง) ได้แล้วก็วกลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ครั้นไปถึงริมแม่น้ำสายใหญ่เห็นมีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน จึงได้พาผู้คนหยุดพักสร้างบ้านตั้งเมืองขึ้นโดยให้ชื่อว่า “เมืองเซไล” (คำว่า “เซ” ในภาษาท้องถิ่นสมัยนั้น ใช้เรียกแม่น้ำขนาดย่อม หรือลำห้วยขนาดใหญ่ ซึ่งไปตรงกับคำว่า “แคว” ในภาษาของภาคกลาง ส่วนคำว่า “ไล ไหล หรือเลอว” อันเป็นสำเนียงเสียงพูดของผู้คนในสมัยนั้น สันนิษฐานว่า คงจะหมายถึงลักษณะของน้ำที่กำลังไหล หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นคำว่า “เซไล” ก็คงจะหมายถึงน้ำที่กำลังไหลเชี่ยวหรือชะสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง

ผู้นำในการอพยพจนสร้างเมืองเซไลครั้งนั้น  แม้จะมีฐานะเป็นเพียงนายบ้านผู้ปกครองหมู่บ้านแต่ก็คงจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สิงหนวัติเช่นกัน เพราะในยุคนั้นมีคำเรียกขานผู้นำว่า “เจ้าฟ้าร่มขาว” คำว่า “เจ้าฟ้า” แสดงฐานะความเป็นเจ้าผู้ครองนคร “ร่มขาว” ก็คือ ร่มหรือสัปทนที่ทำด้วยผ้าขาว ซึ่งใช้กางกั้นเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของผู้มียศศักดิ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การอพยพลงไปจนตั้งเมืองเซไลโดยเจ้าฟ้าร่มขาวนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนายบ้าน ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าฟ้าร่มขาว เป็นผู้นำในการอพยพ ทั้งนี้ จากหลักฐานการสร้างวัดกู่ ซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมสร้างขึ้นในบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอโฮงการ และอยู่ริมฝั่งเซไล (ปัจจุบันยังพอมีซากอิฐหลงเหลือไว้ให้พบเห็น) สำหรับชื่อเมืองว่าเซไลนั้น คงจะเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ที่ได้มาพบอยู่สองฟากฝั่งเซไลและชื่อแม่น้ำแห่งนี้ก็ไม่มีมาก่อน นอกจากคำว่าเซไลซึ่งเกิดมาจากคำอุทานที่ผู้คนอพยพทั้งหลายได้มาพบเห็นในการเดินทางมาแสนไกลแล้วได้มาหยุดพักลงอาบกิน  ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งหลายที่มีมาเหือดหายไปจนหมดสิ้น ต่างเลยพากันถือเอาคำอุทานมาเป็นชื่อของเมืองและของแม่น้ำถือเป็นศิริมงคลแก่พวกของตนแต่นั้นเป็นต้นมา

เมืองเซไลที่ได้สร้างขึ้นในสมัยนั้นไม่มีกำแพง ป้อมปราการ หรือปราสาทราชมณเฑียรแต่อย่างใดคงมีแต่หอโฮงการซึ่งเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ใช้เป็นทั้งที่พักและที่ว่าการเมืองของเจ้าผู้ครองเมืองเท่านั้น (หอโฮงที่ได้ก่อสร้างในสมัยนั้น ถึงจะไม่มีซากปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานแต่ก็สันนิษฐานว่าคงจะอยู่ในบริเวณหอหลวง อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านทรายขาวในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดกู่คำ และพระธาตุกุดเรือคำไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามลำน้ำเลย ๒๐๐ เมตรเศษ ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) สำหรับบ้านเรือนของราษฎรให้ปลูกสร้างเรียงรายขึ้นไปทางทิศเหนือ จนไปจดชายเขตหนองน้ำเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ต่อมาเจ้าเมืองได้นำชาวเมืองสร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอโฮงการเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๐ ให้ชื่อว่า “วัดกู่” (วัดกู่ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยโบราณนั้นปัจจุบันยังพอมีซากอิฐเหลืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย บางส่วนอยู่ในบริเวณหอหลวงของชาวบ้านทรายขาว) ระหว่างที่นำผู้คนบุกเบิกสร้างบ้านเมืองใหม่ริมฝั่งเซไล เจ้าเมืองคนแรกของเมืองเซไลก็ได้ไปมาหาสู่เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางพระสหายอยู่ไม่ขาด หลังจากสร้างวัดกู่เสร็จเรียบร้อยลงไปได้หลายปี นายบ้านจึงมีบุตรชายซึ่งเกิดจากภรรยาผู้มีเชื้อสายเดียวกันหนึ่งคน ระหว่างนั้นเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางก็ได้ลงมาเยี่ยม ครั้นได้มารู้ว่านายบ้านได้บุตรชายทั้งเกิดในวันเวลาเดียวกันกับบุตรชายของตน ซึ่งเกิดจากมเหสีเอกก็ยินดีเป็นยิ่งนัก จึงให้ผูกสัมพันธ์กันไว้เช่นตนทั้งสอง นายบ้านได้เฝ้ารักษาเลี้ยงดูบุตรชายมิว่าจะไปมาในที่ใด ๆ นายบ้านผู้เป็นบิดาก็ให้ผู้คนคอยติดตามไปกางร่ม (สัปทน) สีขาวกันแดดบังฝนจนเป็นสมญาเรียกกันในหมู่ชาวเมืองเซไลว่า "เจ้าฟ้าร่มขาว" ครั้นเจ้าฟ้าร่มขาวเติบใหญ่จนถึงวัยบวชเรียน บิดาก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยโรคชราทั้งตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป เจ้าฟ้าร่มขาวบุตรชายก็ได้ขึ้นครองเมืองเซไลแทนบิดาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ประมาณพ.ศ.๑๙๓๕)

ครั้นเจ้าฟ้าร่มขาวได้ขึ้นครองเมืองเซไล ได้นำชาวเมืองเซไลพัฒนาบ้านเมืองด้วยการขุดลอกหนองน้ำเล็กทางชายเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และนำดินส่วนใหญ่มาถมยกระดับที่ลุ่มทางด้านทิศใต้ใกล้ฝั่งน้ำให้เป็นสันคันคูกั้นน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เมื่อการขุดลอกขยายหนองน้ำเล็ก ๆ ออกไปจนกว้างขวางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชาวเมืองไปหาพันธุ์บัวหลวงมาลงปลูกเอาไว้ แล้วขนานนามว่า "สระบัวหลวง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้หลังจากนั้นก็ได้พิจารณาเห็นว่า "วัดกู่" ที่บิดาสร้างเอาไว้ใกล้หอโฮงการด้านริมฝั่งเซไล ได้ถูกน้ำเซาะกัดเข้ามาจนจะถึงตัวพระอุโบสถ มิวันใดวันหนึ่งคงต้องพังทลายลงไปตามกระแสเซไล พอดีในระหว่างนั้นเจ้าฟ้าร่มขาวได้บุตรชาย ซึ่งกำเนิดจากนางเทวี หนึ่งคนในขณะที่อายุล่วงเลยวัยกลางคนไปแล้ว เลยให้ชื่อว่า "ท้าวหล้าน้ำ" เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางก็ได้ลงมาเยี่ยมและต่อจากนั้นมาอีกไม่นาน  เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางได้ทิวงคตในระยะที่เมืองเซไลได้ก่อสร้างวัดขึ้นบนสันคันคูด้านทิศใต้ของสระบัวหลวง  ก็ได้มีเหตุแปลกประหลาดเกิดขึ้นคือ มีเรือทองคำปราศจากฝีพายเป็นพาหนะนำอัฐิเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางมาถึงเมืองเซไล แล้วเรือได้พุ่งเข้าฝั่งเพื่อจอดแต่ความแรงหัวเรือได้พุ่งเข้าหาตลิ่งไปโผล่ขึ้นบนฝั่งทางด้านหน้าวัดใหม่ที่กำลังสร้าง เจ้าฟ้าร่มขาวเกรงชาวเมืองจะมาทำลายเลยให้ก่อสถูปครอบหัวเรือทองคำเอาไว้ ส่วนอัฐิของเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางพระสหายก็ให้นำไปเก็บไว้ในหอโฮงการ รวมไว้กับอัฐิบิดาของตน เมื่อการก่อสร้างวัดและสถูปเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้ขนานนามวัดว่า "วัดกู่คำ" และขนานนามพระสถูปซึ่งสร้างครอบหัวเรือทองคำว่า "พระธาตุกุดเรือคำ" ซึ่งสร้างเสร็จราว พ.ศ.๒๐๐๐ แต่ตามหลักฐานซึ่งได้จารึกเอาไว้ที่วัดกู่คำว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ นั้น

สันนิษฐานว่า เจ้าฟ้าร่มขาวประสงค์ให้ชาวเมืองทั้งหลายได้รำลึกถึงคุณความดีของบิดา ซึ่งนำพาผู้คนอพยพลงมาบุกเบิกสร้างบ้านเมือง จนได้ตั้งเมืองเซไลและสร้างวัดกู่ขึ้นไว้เป็นวัดแรก เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ ถึงวัดกู่จะพังทลายลงไปในกระแสแม่น้ำเลยตามกาลเวลา และเจ้าฟ้าร่มขาวก็ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยเจตนาจะนำชื่อวัดเก่ามาตั้งเป็นชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งพอดีกับเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางทิวงคต ด้วยความรักกันอย่างแน่นแฟ้น ถึงจะมีแต่เพียงกระดูกหรือเถ้าถ่านก็ยังมาถึงกัน  เจ้าฟ้าร่มขาวก็จึงนำเอาชื่อของทั้งสองมารวมเข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็นชื่อวัดว่า "วัดกู่คำ" แต่นำเอา พ.ศ.๑๙๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ตั้งวัดกู่ของบิดามาจารึกเอาไว้เป็นอนุสรณ์ ส่วนคำจารึกซึ่งติดไว้ที่ป้ายพระธาตุกุดเรือคำ  ซึ่งได้มีการบูรณะปั้นด้วยปูนพอกสถูปองค์เดิมขึ้นใหม่จนผิดรูปผิดร่างเดิมไปด้วยฝีมือของหลวงพ่อเนียม ชาวบ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดกู่คำ ราวปี พ.ศ.๒๕๑๙ ต่อมาได้ถึงแก่มรณภาพที่วัดบ้านเกิด หลวงพ่อเนียมได้ทำการบูรณะด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีความมั่นคงและสวยงาม จึงได้มีการเสริมรูปร่างขององค์พระสถูปให้แปลกตาออกไป ในคำจารึกที่แผ่นป้ายบอกไว้ว่า "สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๒๐๐" นั้น เป็นการจารึกผิดพลาดอย่างแน่นอน พระธาตุกุดเรือคำน่าจะสร้างราว พ.ศ.๒๐๐๐ มากกว่า

บันทึกในสมุดข่อยที่นายหำ อุทธตรี หรือ "พ่อตู้แพทย์" แห่งบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พบในขณะบรรพชา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ที่วัดกู่คำ บ้านทรายขาว กล่าวถึงการปกครองเมืองเซไลโดยแบ่งออกเป็น ๕ ยุค ดังนี้

ยุคที่ ๑  เจ้าฟ้าร่มขาว มีภรรยาชื่อนางเทวี เชื้อสายเดียวกัน มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวหล้าน้ำ" มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๑.๑  ขุดลอกหนองน้ำ นำบัวลงปลูกให้ชื่อว่า "สระบัวหลวง"

๑.๒  สร้างพระธาตุกุดเรือคำ

ยุคที่ ๒  ท้าวหล้าน้ำ มีภรรยาเป็นชาวเมืองเซไล ชื่อ นางหล้า และมีบุตรชาย หญิง ๒ คน ชื่อ "ท้าวศิลา และนางชฎา" เล่ากันว่า นางหล้าเป็นลูกของนางสีดาซึ่งเกิดมาจากนางสีดา ได้ไปดื่มน้ำในรอยเท้าช้างชื่อมโนศิลา และรอยเท้ากวาง นางสีดาให้กำเนิดบุตรีฝาแฝดผู้พี่ชื่อนางหล้า ผู้น้องชื่อนางลุน และผู้น้องได้มาเสียชีวิตลงในคราวเดินเสี่ยงทางไต่งวงงาของพญาช้าง เลยเหลือแต่นางหล้าซึ่งเป็นลูกของช้าง และต่อมานางหล้าก็คือนางผมหอมซึ่งมีนิวาสถานอยู่ที่ภูหอ สัญลักษณ์กิ่งอำเภอภูหลวง ในปัจจุบันนี้ ในสมัยของท้าวหล้าน้ำได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

๒.๑  สร้างวัดเทิง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างมีเหลือซากอิฐและหุ่นพระประธานอยู่ข้างที่ทำ

การประปาบาดาลบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย)

๒.๒  เมืองเซไล มีชื่อเรียกเป็นสร้อยต่อว่า "เซไลไซ้ข่าว" ทั้งนี้เนื่องจากคล้ายเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองลม (หล่มสักเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์) ซึ่งจะต้องสืบข่าวคราวหรือส่งข่าวไปยังเมืองลม

ยุคที่ ๓  ท้าวศิลา มีภรรยาชื่อนางสุขุม มีเชื้อสายเป็นชาวเมืองหลวงพระบาง มีลูกชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวสายเดือน" มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

๓.๑  สร้างวัดทุ่ง หรือในปัจจุบันนี้เรียก "ทุ่งนาคันทง" แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่หลักฐานอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พอจะมีเหลือไว้ให้ได้เห็นคือต้นโพธิ์ อยู่ในบริเวณสวนกล้วยของเอกชนลึกเข้าไปทางซ้ายของทางหลวงจังหวัด สายวังสะพุง-ทรายขาว ประมาณ ๑๕ เมตร และอยู่ห่างจากหมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประมาณ ๕๐๐ เมตร

๓.๒  ในยุคนี้เมืองเซไลมีสร้อยเรียกต่อไปใหม่ "เซไลส่วยขาว" เนื่องจากชาวเมืองเซไลแต่ละครัวเรือนจะต้องส่งส่วยด้วยผ้าขาวเรือนละ ๑ วา (ประมาณ ๒ เมตร) ส่วนการส่งส่วยผ้าขาวจะได้ส่งไปทางกรุงศรีอยุธยาหรือเมืองหลวงพระบางยังไม่มีหลักฐานระบุให้แน่ชัด

ยุคที่ ๔  ท้าวสายเดือน มีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดาชื่อ นางบัวเซีย มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวเดือนสุข" และมีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๔.๑  สร้างวัดตาล (ปัจจุบันคือวัดโพธิ์เย็นซึ่งอยู่ด้านหลังวัดกู่คำ ห่างประมาณ ๒๐๐ เมตร)

๔.๒  ชาวเมืองเซไลยังต้องส่งส่วยผ้าขาวอยู่เป็นประจำ

ยุคที่ ๕ ท้าวเตือนสุขมีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดาชื่อ นางบัวลม (ไม่ปรากฏว่ามีบุตร) มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๕.๑ ท้าวเตือนสุขได้ครองเมืองเซไลด้วยความสงบร่มเย็นมาจนอายุล่วงเลยวัยกลางคน เมืองเซไลก็เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพงฝนฟ้าไม่ตกชาวเมืองไม่ได้ทำนามาหลายปี  ทั้งมีโรคระบาดเกิดขึ้นโดยทั่วไป ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พากันไปเรียนท้าวเตือนสุขให้พิจารณาหาทางแก้ไข ท้าวเตือนสุขได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเมืองเซไลได้มาถึงกาลเวลาดับสิ้น จึงได้เกิดเหตุอาเพศขึ้นมาเช่นนี้จึงได้พาผู้คนอพยพออกจากเมืองเซไลเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่ โดยได้พากันเดินทางลงไปตามลำแม่เซไล ครั้นไปถึงบริเวณที่ราบแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล เห็นมีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งบ้านเรือนประกอบกับท้องน้ำของลำห้วยก็อุดมไปด้วยสารแร่ทองคำ  จึงให้ผู้คนที่อพยพมาตั้งหลักฐานสร้างบ้านเรือนขึ้นอยู่อาศัย เสร็จแล้วได้ขนานนามหมู่บ้านใหม่ตามสภาพที่ตนได้พาผู้คนมาอยู่อาศัยว่า "บ้านแห่" ส่วนลำห้วยก็ให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน" (คำว่า "แห่" ภาษาและสำเนียงเสียงพูดของชาวอีสานนั้น บางคำที่ใช้พยัญชนะ "ห" นำ จะเป็นตัว "ฮ" คำว่า "แห่" จึงเป็น "แฮ่" ด้วย ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แต่นายแพทย์อุเทือง ทิพรส นายแพทย์สาธารณสุขคนแรกของจังหวัดเลย ได้เขียนไว้ในเรื่องบ้าน "แฮ่" ว่า เนื่องจากในท้องน้ำหมานมีสารแร่ทองคำ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของพวกตนว่า "บ้านแฮ่" ทั้งนี้เพราะตัว "ร" ของชาวอีสานนั้นคือตัว "ฮ" นั่นเอง ซึ่งก็ถูกด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ในการตั้งชื่อลงทะเบียนหมู่บ้าน ผู้จัดทำฟังสำเนียงชาวอีสานไม่เข้าใจ "บ้านแห่" จึงกลายเป็น "บ้านแฮ่" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนคำว่า "หมาน" ความหมายในภาษาอีสานนั้นหมายถึงความมีโชคดีเป็นต้น)

๕.๒  ครั้นพาผู้คนสร้างบ้านตั้งถิ่นฐานได้มั่นคงพอสมควร  ท้าวเตือนสุขจึงนำชาวบ้านสร้างวัด เสร็จแล้วขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นศิริมงคลแก่หมู่บ้านของตนว่า "วัดศรีภูมิ" (สร้างปีพุทธ-ศักราช ๒๒๒๐) เมื่อได้พากันสร้างวัดเสร็จแล้ว ต่อมาราว ๒ ปี จึงได้พากันหล่อพระประธานด้วยโลหะขึ้นอีกองค์หนึ่งด้วยฝีมือช่างจากทางเหนือ (ซึ่งจะเห็นได้จากฝีมือช่างสกุลลานนากับลานช้างผสมกัน โดยถือเอาแบบเชียงแสนยุคปลายสังฆาฏิยาวพระพักตร์กลมค่อนข้างแป้นและสั้น  เปลวรัศมียอดพระเศียรยาว  พระวรกายไม่สง่าดังพระพุทธรูปแบบเชียงแสนทั่วไป และโลหะที่ใช้หล่อคงจะไม่พอ ดังจะเห็นได้จากสีของโลหะที่องค์พระจากฐานถึงพระศอจะเป็นนาก ซึ่งเป็นการหล่อชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งต่างหาก ส่วนพระพักตร์และพระรัศมีนั้น สีของนากจะอ่อนไปจึงเป็นสีค่อนข้างเหลืองมองด้วยตาเปล่าเห็นได้เด่นชัด ซึ่งก็เป็นการหล่อที่แปลก แต่ก็เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าสูงสุดชิ้นหนึ่งของชาวเมืองเลยที่ได้มีการสร้างขึ้นมาเมื่อปีพุทธสักราช ๒๒๒๒ เป็นของคู่บ้านคู่เมืองมีชื่อเรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" ซึ่งประดิษฐานอยู่บนกุฏิเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ จะนำออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น อนึ่งสำหรับพระประธานซึ่งปั้นด้วยปูนในพระอุโบสถเดิมพอกปูนขาวผสมยางบงและหนังเน่า คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน และได้มาบูรณะขึ้นใหม่ในคราวรื้อพระอุโบสถ เพื่อสร้างใหม่ รูปพระพักตร์ตลอดจนทรวดทรงช่างได้ถือเอาแบบพระพุทธรูปมิ่งเมืองมาเป็นหลัก เลยทำให้ผู้พบเห็นพระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถวัดศรีภูมิปัจจุบันนี้ว่า เอาแบบมาจากพระพุทธรูปมิ่งเมือง)

๕.๓  หลังจากชาวเมืองเซไลได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแฮ่ ก็มีชาวเมืองเซไลบางส่วนที่ยังรักในถิ่นฐานเดิม จึงได้พากันอพยพกลับไปเมือเซไลส่วยขาว ครั้นได้พากันบูรณะที่อยู่อาศัยให้ดีแล้วเห็นว่าเมืองเซไลได้หมดสภาพความเป็นเมือง ทั้งได้เลิกยกเลิกส่งส่วยผ้าขาวไปเป็นเวลานาน จึงได้พากันขนานนามให้หมู่บ้านของตนเสียใหม่ในถิ่นเดิมว่า "บ้านทรายขาว" แล้วพากันอยู่กินด้วยปกติ

สุขมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

 

 สมัยกรุงศรีอยุธยา

            ประวัติของจังหวัดเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามมากเท่าใด คงมีเหตุการณ์ที่น่าจะกล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เมื่อพ.ศ.๒๐๙๑  ปีแรกที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าผู้ครองกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ยกกองทัพออกรบกับพม่า เพื่อป้องกันพระนครและได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าของพม่า จนต้องเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีเพราะถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์ซบกับคอช้าง การรบครั้งนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ และเมื่อกลับไปถึงกรุงหงสาวดีแล้วไม่นานก็สวรรคต พระเจ้าบุเรงนองขึ้นครองราชสมบัติที่กรุงหงสาวดีแทน บุเรงนองเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงคราม จึงได้หาสาเหตุมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยแต่งพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกของไทย ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุยกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาและตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยได้หลายหัวเมือง รวมทั้งเมืองพิษณุโลกด้วยนอกจากยกกองทัพมารุกรานไทยแล้ว พม่ายังได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุตสู้พม่าไม่ได้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องพากองทัพหนีไปอยู่ในป่า ทัพพม่าเข้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้จึงเก็บทรัพย์สินและกวาดต้อนประชาชน รวมทั้งมเหสีและสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเมืองพม่า เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้พาทหารกลับเข้ามาอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุต และได้แต่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทูลขอพระเทพกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยผู้เป็นวีรกษัตริย์ไปเป็นมเหสี เพื่อเห็นแก่ความเป็นไมตรีของสองพระนครที่จะให้มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และจะได้เป็นกำลังในการต่อสู้ข้าศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ตกลงรับยินดีเป็นไมตรีกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตามที่ทูลขอมา แต่เป็นที่น่าเสียดายขณะที่พระเทพกษัตริย์เดินทางไปกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ถูกกองทัพพม่าเข้าแย่งชิงและกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีเสียก่อนที่จะไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต

          เพื่อเป็นสักขีพยานและแสดงออกซึ่งไมตรีจิตมิตรภาพ ระหว่างกษัตริย์ทั้งสองพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ ในบริเวณที่ลำน้ำอู้ไหลมาบรรจบกับลำน้ำหมัน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งเมืองด่านซ้าย ไว้เป็นอนุสรณ์โดยได้โปรดให้อำมาตย์ราชครู และพระราชาคณะเป็นตัวแทนของสองพระนครมาดำเนินการสร้าง แต่ก่อนที่จะสร้างพระธาตุศรีสองรัก ผู้แทนทั้งสองพระนครได้มีการทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานว่า ทั้งสองพระนครจะรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดุจเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตลอดไปชั่วกัปกัลป์ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในประวัติพระธาตุศรีสองรัก)

 

สมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            ในสมัยกรุงธนบุรีไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในท้องที่จังหวัดเลย

          สำหรับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ เพราะสมัยนั้นประเทศที่มีอำนาจทางตะวันตกกำลังล่าเมืองขึ้น เพื่อให้เป็นอาณานิคมของตนเหตุการณ์ที่สำคัญที่ปรากฏขึ้นมีดังนี้

          เหตุการณ์สงคราม

                การอพยพหนีภัยทางการเมือง  ในพ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไปทั้งหมด เมืองเชียงคานซึ่งตั้ง อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงดังกล่าวมาแล้ว ก็ต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศสด้วย ปรากฏว่า ชาวเมืองเชียงคานไม่พอใจและด้วยความรักอิสระเสรี รักความเป็นไทย จึงพร้อมใจกันอพยพข้ามมาตั้งเมืองที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเยื้องกับเมืองเดิมไปทางเหนือเล็กน้อย เมืองที่ตั้งใหม่เรียกว่า เมืองใหม่เชียงคาน คือที่ตั้งอำเภอเชียงคานปัจจุบัน ราษฎรที่อพยพข้ามมาครั้งนั้นไม่มีผู้ใดเกลี้ยกล่อมหรือบังคับ ทุกคนข้ามมายังดินแดนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยความเต็มใจ ไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของคนต่างชาติ ประมาณว่าผู้คนอพยพมาครั้งนั้นประมาณ ๔ ใน ๕ ของเมืองเชียงคานเดิม ต่อมาฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงคานเดิมเป็น เมืองสา-

นะคามจนทุกวันนี้ การอพยพหนีภัยการเมืองของชาวเมืองเชียงคานยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการอพยพข้ามฝั่งโขงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดเลย หรือพอจะกล่าวได้ว่าชาวเมืองเชียงคาน เป็นกลุ่มชนที่อพยพหนีภัยการเมืองรุ่นแรกของจังหวัดก็พอจะได้ หัวหน้าผู้อพยพครั้งนั้นได้แก่ พระอนุพินาศเจ้าเมืองเชียงคานนั่นเอง

            ศึกบ้านนาอ้อ  พ.ศ.๒๔๔๐ เมื่อฝรั่งได้ครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในพ.ศ.๒๔๓๖ แล้ว แม้จะได้ครอบครองเมืองสานะคาม (เชียงคาน) แล้วก็คงได้แต่เมืองที่เกือบร้าง เพราะผู้คนอพยพเข้าสู่พระราชอาณาจักรไทยข้ามฝั่งโขงมาตั้งเมืองเชียงคานขึ้นใหม่ที่ฝั่งตรงข้ามดังกล่าวแล้ว ฝรั่งเศสก็หาทางที่จะยึดดินแดนไทยอีก คือ เมืองเชียงคานที่ตั้งขึ้นใหม่ ถึงกับข้ามแม่น้ำโขงมาขู่เข็ญเจ้าเมืองเชียงคานใหม่ โดยหลอกว่าทางบางกอกได้ยกเมืองเชียงคานให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว เจ้าเมืองเชียงคานได้ออกอุบายให้ฝรั่งเศสไปยึดเมืองเลยให้ได้เสียก่อน เมื่อได้เมืองเลยแล้ว เมืองเชียงคานก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ เพราะเจ้าเมืองเชียงคานทราบดีว่าทางเมืองเลยมีกองทหารเตรียมมาแต่สมัย ร.ศ.๑๑๒  แล้ว ซึ่งฝรั่งเศสก็คงพ่ายแพ้แล้วจะได้หาทางซ้ำเติมทีหลังและได้ส่งข่าวให้ทางเมืองเลยทราบล่วงหน้า ฝรั่งเศสหลงกลได้ยกกำลังพลโดยมีฝรั่งเศสหนึ่งนายเป็นหัวหน้าและมีลูกน้องเป็นลาวเพียงไม่กี่คน ยึดบ้านนาอ้อ ยุยงให้ชาวบ้านแข็งเมืองต่อรัฐบาลไทย โดยสัญญาว่าจะปลดปล่อยบ้านนาอ้อให้เป็นเมืองนครหงส์ มีเจ้าเมืองกรมการเมืองเช่นเดียวกับเมืองเลย ซึ่งจะแต่งตั้งจากผู้ร่วมมือทั้งสิ้น ก็ปรากฏว่ามีชาวบ้านหลงเชื่ออยู่ไม่กี่คน สุดท้ายกองทหารจากเมืองเลยเข้าปราบปรามไม่กี่วันฝรั่งเศสก็แตกพ่ายหนีไปทางเวียงจันทน์ ประเทศลาว (เวลานี้ยังมีซากสนามเพลาะของทหารไทยอยู่ที่บ้านโพน ห่างจากบ้านนาอ้อราว ๒ กิโลเมตร)

            ศึกด่านซ้ายและท่าลี่ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจเดินทัพเข้ายึดอำเภอด่านซ้ายในปี พ.ศ.๒๔๔๖ และได้นำศิลาจารึกตำนานพระธาตุศรีสองรักล่องแม่น้ำโขง หวังว่าจะนำไปยังนครเวียงจันทน์ แต่เรือที่บรรทุกศิลาจารึกล่มที่แก่งฬ้า เขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย ศิลาจารึกจมน้ำหายไป

(แต่ภายหลังทราบว่าในปีที่แล้งที่สุดน้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดมาก มีผู้ไปพบศิลาจารึกนี้ที่แม่น้ำโขง และฝรั่งเศสได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง) ขณะนั้น พระมหาเถระชาวอำเภอด่านซ้ายผู้หนึ่งชื่อพระคูลุนแห่งวัดบ้านหนามแท่ง ตำบลด่านซ้าย พร้อมพระแก้วอาสา (กองแสง) เจ้าเมืองด่านซ้ายและเพียศรีวิเศษ ได้ขอคัดลอกไว้ก่อนที่ฝรั่งเศสจะนำไปเวียงจันทน์ แล้วเขียนลงในศิลาจารึกมีข้อความอย่างเดียวกันเวลานี้ก็ยังเก็บรักษาไว้ที่บริเวณวัดธาตุศรีสองรัก  ฉะนั้น ศิลาจารึกที่เห็นอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นศิลาจารึกฉบับคัดลอก ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๙ ฝรั่งเศสได้คืนเมืองด่านซ้ายให้ โดยแลกกับดินแดนเขมรที่เป็นของไทยบางส่วน ในระยะที่ฝรั่งเศสครอบครองเมืองด่านซ้าย ๓ ปีเศษนั้น ไทยได้อพยพอำเภอไปตั้งที่บ้านนาขามป้อม ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย เสร็จเรื่องแล้วจึงกลับคืนไปตั้งอำเภอที่เดิม

          ในระยะเวลาใกล้ ๆ กับที่ฝรั่งเศสยึดอำเภอด่านซ้ายนั้น กำลังทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่ที่บ้านหาดแดงแม่น้ำเหือง ได้ยกพลจะยึดอำเภอท่าลี่ เพราะเห็นว่าเคยเข้ายึดอำเภอด่านซ้ายสำเร็จอย่าง

ง่ายดายมาแล้ว แต่คราวนี้ฝ่ายไทยหลอกล่อให้ฝรั่งเศสเดินทัพมาอย่างสะดวก  พอจวนถึงที่ตั้งอำเภอก็ถูกหน่วยกล้าตายของชาวอำเภอท่าลี่ ซุ่มโจมตีถึงตะลุมบอน (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านท่าลี่) ฝรั่งเศสประสบกับความพ่ายแพ้และนับแต่นั้นมาไม่ปรากฏฝรั่งเศสได้ข้ามแม่น้ำเหืองมาก่อกวนอีกเลย

ผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว

        เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๗ ได้เกิดมีผีบุญขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน ๔ คน อ้างว่า คณะของตนได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงบำรุงสุขแก่มวลมนุษย์ซึ่งยากไร้และเต็มไปด้วยกิเลส ได้กำหนดสถานที่อันบริสุทธิ์ไว้ดำเนินการเพื่อแสดงอภินิหารประกอบพิธีกรรม  อบรมสั่งสอนผู้คนที่วัดบ้านหนองหมากแก้วในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) บุคคลในคณะของผีบุญ ๔ คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

        ๑.  นายบุญมา จัตุรัส  อุปสมบทได้หลายพรรษาเดินทางมาจากจังหวัดชัยภูมิ ได้ขนานนามของตนเองเป็น พระประเสริฐ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะ มีหน้าที่ทำน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ใส่ตุ่มไว้ให้ผู้คนได้ดื่มกินและอาบเป็นการสะเดาะเคราะห์ แล้วทำพิธีปลุกเสกลงเลขยันต์ในตะกรุด ซึ่งใช้ตะกั่วลูกแหมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ เสร็จแล้วมัวนออกแจกจ่ายให้ผู้คนร้อยเชือกผูกสะเอวติดตัวไว้ เป็นเครื่องรางของขลังชั้นยอดของพระประเสริฐในทางคงกระพันชาตรีป้องกันผีร้าย

         ๒. ทิดเถิก  บุคคลผู้คงแก่เรียนชาวบ้านหนองหมากแก้ว ได้ขนานนามตนเองเป็น เจ้าฝ่าตีนแดงมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า มีหน้าที่ทำผ้าประเจียดกันภัยอันทรงประสิทธิภาพเป็นมหา-อุตม์แม้ปืนผาหน้าไม้ตลอดจนมีดพร้ากะท้าขวานก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแก่ผู้ที่มีผ้าประเจียดอันทรงฤทธิ์ของเจ้าฝ่าตีนแดงได้ วิธีทำผ้าประเจียด ไม่ว่าบุคคลใดที่มีความประสงค์ก็ให้บุคคลเหล่านั้นไปจัดหาผ้าฝ้ายสีขาวขนาดกว้างยาว  ด้านละหนึ่งศอกของตนมาหนึ่งผืน เมื่อมาพร้อมหน้ากันครั้นได้เวลาสานุศิษย์ก็ให้ผู้ประสงค์รอคอยอยู่ข้างล่างศาลาแล้วเรียกขึ้นไปทีละคน ผู้ที่ขึ้นไปแต่ละคนจะต้องคลานเข้าไปหาเจ้าฝ่าตีนแดงและห้ามมองหน้า เมื่อคลานเข้าไปถึงที่ที่เจ้าฝ่าตีนแดงนั่งอยู่จึงคลี่ผ้าขาวที่จะมาทำผ้าประเจียดปูออกแล้วพนมหมอบก้มหน้านิ่งจนกว่าเจ้าฝ่าตีนแดงจะทำผ้าประเจียดเสร็จ ฝ่ายเจ้าฝ่าตีนแดงเมื่อเห็นผู้ที่ประสงค์อยากได้ผ้าประเจียดได้กระทำตามกฎซึ่งตนวางไว้ด้วยความเคารพก็ลุกขึ้นยกเท้าขวาหรือซ้ายย่ำลงไปในบม (บมคือภาชนะที่ทำด้วยไม้ มีลักษณะทรงกลมแบนและลึกคล้ายถาดซึ่งชาวอีสานใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกดีแล้ว เพื่อให้ไอน้ำออกก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในกระติบ) ที่มีขมิ้นกับปูนตำผสมกันไว้อย่างดี แล้วจึงยกเท้าข้างที่ย่ำลงไปในบมเหยียบผ้าขาวก็จะปรากฏรอยเท้าของเจ้าฝ่าตีนแดงอย่างชัดเจนเป็นอันเสร็จพิธีทำผ้าประเจียดนำไปใช้ได้ทันที  แต่ถ้าหากเหยียบผ้าขาวแล้วปรากฏรอยไม่ชัดเจน หรือไม่สบอารมณ์ของเจ้าฝ่าตีนแดง ผู้ที่ต้องการก็ต้องไปหาผ้าขาวมาทำใหม่จนกว่าจะได้ผ้าประเจียดชั้นดีไปไว้ใช้ต่อไป ครั้นได้ผ้าประเจียดไปแล้วจะต้องนำไปเก็บบูชาเอาไว้บนหิ้งพระ หรือเมื่อออกเดินทางจะต้องพับชายผูกคอไปเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวทุกครั้งจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด

           ๓. นายสายทอง อินทองไชยศรี ขนานนามตนเองเป็น เจ้าหน่อเลไลย์ อ้างว่า ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มาปราบยุคเข็ญโดยเฉพาะ มีวาจาสิทธิ์สามารถที่จะสาปผู้ละเมิดกฎสวรรค์ให้เป็นไปตามโทษานุโทษที่ตนพิจารณาเห็นตามสมควรได้ทันที ครั้งนั้นได้เกิดมีการขโมยเกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วจับขโมยได้ ชาวบ้านจึงควบคุมตัวไปให้เจ้าหน่อเลไลย์เป็นผู้ตัดสิน ผลของการตัดสินปรากฏว่า ขโมยได้ละเมิดกฎของสวรรค์ในข้อบังเบียดเครื่องยังชีพของมวลมนุษย์อย่างสุดที่จะอภัยให้ได้ โทษที่ขโมยพึงได้รับในครั้งนี้ก็คือ ต้องถูกสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ครั้นได้พิพากษาโทษให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้เห็นทั่วไปแล้ว พิธีสาปก็เริ่มขึ้นโดยเจ้าหน่อเลไลย์มีบัญชาให้สานุศิษย์ขุดหลุมขนาดพอฝังศพได้ในสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ ครั้นแล้วให้ไปนำตัวขโมยซึ่งได้ผูกมัดข้อมือเอาไว้อย่างแน่นหนา พาไปยืนที่ปากหลุม แล้วเจ้าหน่อเลไลย์ก็เริ่มอ่านโองการอัญเชิญเทวทูตให้ลงมาจากสรวง-สวรรค์ มาเป็นสักขีพยานในการที่ตนได้ดำเนินการสาปให้ขโมยต้องถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็นตามโทษานุโทษ พอเจ้าหน่อเลไลย์กล่าวคำสาปสิ้นสุดลงก็บัญชาให้สานุศิษย์ผลักขโมยลงไปในหลุม พร้อมกับช่วยกันรีบขุดคุ้ยโกยดินลงกลบฝังขโมยที่ต้องคำสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดสยดสยองของผู้คนที่ไปร่วมชมพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะผีบุญคล้อยหลังลับไป บรรดาญาติพี่น้องของขโมยก็รีบพากันขุดคุ้ยโกยดินนำขโมยที่ถูกฝังทั้งเป็นอาการร่อแร่ปางตายขึ้นมาปฐมพยาบาล แล้วรีบพากันอพยพหลบหนีบัญชาจากสวรรค์ของคณะผีบุญไปในคืนนั้นทันที และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นผลให้ไม่มีการลักขโมยใด ๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้วต่อไปอีกเลย ทั้งนี้ ด้วยทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาในประกาศิตจากสวรรค์ของเจ้าหน่อเลไลย์เป็นอย่างยิ่ง

           ๔.  นายก้อนทอง พลซา ชาวบ้านวังสะพุงซึ่งเป็นบุคคลที่ ๔ ขณะนั้นรับราชการในหน้าที่สารวัตร อำเภอวังสะพุง ได้ไปพบเห็นพิธีการต่าง ๆ ของคณะผีบุญจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนถึงกับได้ขออนุญาตลาบวชจากทางราชการมีกำหนด ๑๐ วัน ในระหว่างที่ทางราชการได้อนุญาตให้ลาบวชได้ นายก้อนทอง ฯ ได้ถือโอกาสหลบไปสมทบกับคณะผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วก็รีบทำความเพียรแต่ยังไม่ทันจะได้รับความสำเร็จจนถึงขั้นได้รับการขนานนาม ก็มาถูกทางบ้านเมืองเข้าทำการปราบปรามและจับตัวได้เสียก่อน

           คณะผีบุญซึ่งถือว่าตนเป็นผู้วิเศษได้กำหนดพิธีกรรมให้ชาวบ้านปฏิบัติ โดยถือเอาศาลาการเปรียญวัดบ้านหนองหมากแก้วเป็นศูนย์กลางทุกวันในเวลาเช้าและเย็น  ชาวบ้านทุกคนจะต้องมาร่วมเข้าพิธีสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำขาดไม่ได้ และในเวลากลางคืนทุกคืน บรรดาสาว ๆ หรือภรรยาของผู้ใดก็ตามที่มีใบหน้าและรูปร่างสวยงาม จะต้องอาบน้ำแต่งตัวให้สะอาดสดสวย แล้วนำพวงมาลัยดอกไม้สดและน้ำหอมผลัดกันเข้าไปมอบให้คณะผีบุญ  ต่อจากนั้นก็จะเริ่มพิธีฟ้อนรำบวงสรวงเวียนพรมน้ำอบน้ำหอมไปรอบๆ ตัวของผีบุญ หากผีบุญเกิดพึงพอใจอิสตรีนางใดในวงฟ้อนบวงสรวง ก็จะใช้พวงมาลัยดอกไม้สดเกี่ยวปลายไม้แล้วยื่นไปคล้องคอเอาไว้ เป็นเครื่องหมายให้ทุกคนได้ทราบว่า อิสตรีนางนั้นได้รับโปรดปรานจากผีบุญเป็นพิเศษ และนับเป็นวาสนาเป็นอย่างยิ่งที่ในคืนนั้นจะต้องเข้าเวรปรนนิบัติ ปรากฏว่าบรรดาสาวและไม่สาวต่างแย่งกันปรนนิบัติผีบุญเหล่านี้เป็นพิเศษทุกคืน คณะผีบุญชุดนี้ได้บัญญัติกฎข้อบังคับเอาไว้ ๓ ประการ ที่ชาวบ้านจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะหลงลืมไม่ได้นั้น มีดังต่อไปนี้

           ๑. จะต้องสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำทุกเช้าเย็น ขาดไม่ได้

           ๒. จะต้องฟ้อนรำบวงสรวงคณะผู้มีบุญเป็นประจำทุกคืน ขาดไม่ได้

           ๓. จะต้องหมั่นทำบุญให้ทานอยู่เป็นนิจ และจะต้องรำลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดาอยู่เสมอทั้งนี้ในการเรียกพ่อ-แม่ดังที่เคยเรียกกันมาเฉย ๆ นั้นเป็นการไม่เคารพ จะต้องพากันเรียกเสียใหม่ว่า คุณพ่อคุณแม่

           ด้วยพิธีกรรมที่คณะผีบุญได้นำชาวบ้านปฏิบัติต่อเนื่องกันมามิได้ขาด ครั้นนานวันเข้า กิตติศัพท์ก็ได้เลื่องลือไปไกล ทำให้มีผู้คนสนใจหลั่งไหลเข้าไปอย่างมากมาย บ้างที่สนใจเครื่องรางของขลัง ก็ต้องตระเตรียมสิ่งของเข้าไปจัดทำเอง อาทิเช่นต้องการตะกรุดก็ต้องหาตะกั่วลูกแหไปหลอมแล้วตีแผ่ออกให้พระประเสริฐทำตะกรุด ที่ป่วยเจ็บได้ไข้ก็ไปอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ที่ต้องการผ้าประเจียดก็ต้องหาผ้าฝ้ายสีขาวไปให้เจ้าฝ่าตีนแดง ครั้นคณะผีบุญได้พบผู้คนมากหน้าหลายตาและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เลยเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงตนลืมตัว หนักเข้าเลยพากันริอ่านหันไปทางการบ้านการเมือง ฝันเฟื่องที่จะเป็นเจ้าเข้าครองแผ่นดิน โดยประกาศอย่างอหังการว่า จะยกกำลังเข้าตีเอาเมืองเลยได้แล้วจึงจะยกกำลังเลยไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์ เพื่อตั้งตนเป็นเอกราช เมื่อได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วก็เรียกอาสาสมัครมาทำการคัดเลือก ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าตนได้รับบัญชามาจากสวรรค์ ไม่ต้องมีผู้คนมากก็สามารถที่จะกระทำการใหญ่ได้ เมื่อเลือกผู้คนรวมได้ ๒๓ คน พร้อมด้วยปืนแก๊บ ๑ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒ กระบอก พร้อมด้วยหอกดาบแหลนหลาวครบครัน ครั้นได้ฤกษ์พิชัยสงคราม คณะผีบุญก็ยกพลจำนวน ๒๓ คน ออกเดินทางจากบ้านหนองหมากแก้วแล้วมุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนืออ้อมผ่านหมู่บ้านนาหลักแล้วไปตั้งมั่นอยู่ริมลำห้วยทางด้านทิศเหนือของอำเภอวัง

สะพุง (บริเวณหมู่บ้านห้วยอีเลิศ ห่างจากที่ตั้งอำเภอวังสะพุง ประมาณ ๓ กม.)

           ระหว่างนั้น หลวงพิศาลสารกิจ นายอำเภอวังสะพุงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญโดยส่งนายบุญเลิศ เหตุเกตุ สารวัตรศึกษา (อดีตกำนันตำบลวังสะพุง ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ออกไปสอดแนมพฤติการณ์ดูความเหิมเกริมของคณะผีบุญอย่างใกล้ชิดแทบจะเอาชีวิตไม่รอดก็หลายครั้ง แล้วให้ทำรายงานเข้ามายังอำเภอทุกระยะ หลวงพิศาลสารกิจได้ทำรายงานความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญเข้าจังหวัดทุกระยะ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ในตัวจังหวัดเลยมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่เข้าไปกราบไหว้คณะผีบุญ ดังนั้น ทางจังหวัดเลยจึงได้ทำรายงานไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พร้อมกันนั้นก็ได้รายงานขอกำลังไปยังฝ่ายทหารที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคมอีกด้วย  ถ้าหากว่ากำลังทางฝ่ายตำรวจที่อุดรมีไม่เพียงพอ ขณะนัน พ.ต.อ.พระปราบภัยพาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีในสมัยนั้น ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบรุดมาจากจังหวัดอุดรธานีเข้าสมทบกับกำลังของจังหวัดเลย  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอวังสะพุง รีบวางแผนปราบปรามโดยด่วน ครั้นได้ทราบกำลังของคณะผีบุญพร้อมด้วยอาวุธจากนายบุญเลิศ เหตุเกตุ เป็นที่แน่นอนแล้ว กองกำลังตำรวจจากอุดรร่วมกับจังหวัดเลยและเจ้าหน้าที่อำเภอวังสะพุงก็เคลื่อนเข้าโอบล้อมคณะผีบุญทุกทิศทุกทาง ได้มีการปะทะกันเพียงเล็กน้อย คณะผีบุญก็แตกกระจัดกระจายจับผีบุญได้ทั้งคณะ แล้วควบคุมตัวขึ้นส่งฟ้องศาลฐานก่อการจลาจลสอบถามได้ความว่า พวกเขาทั้ง ๔ คนที่ตั้งตนเป็นผีบุญ เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในนิยายพื้นเมืองของชาวอีสานเรื่อง สังข์ศิลปชัย และจำปาสี่ต้น จนหลงตนลืมตัวไป ส่วนความรู้สึกที่แท้จริงนั้น ยังมีความรักในถิ่นฐานหาได้มีความคิดเป็นกบฏต่อแผ่นดินกำเนิดก็หาไม่ คณะตุลาการได้รับฟังเรื่องราวจากผู้ที่ได้ตั้งตนเป็นผีบุญทั้ง ๔ คน ได้เกิดความเห็นใจ จึงพิพากษาให้จำคุกผีบุญทั้ง ๔ คน คนละ ๓ ปี ส่วนบริวารให้ปล่อยตัวไป

           การตั้งเมืองเลย

           เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าผู้คนในแขวงนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาท้ายน้ำออกมาสำรวจเขตแขวงต่าง ๆ แล้วได้พิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีภูมิประเทศที่เหมาะสมแก่การสร้างป้อมด้วย เพราะมีภูเขาล้อมรอบและพลเมืองหนาแน่น พอจะตั้งเป็นเมืองได้ จึงนำความขึ้นถวายบังคมทูลเพื่อทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย"

       ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากเดิมมาเป็นแบบเทศาภิบาล โดยแบ่งเป็นมณฑลเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เมืองเลยจึงแบ่งการปกครองอีกเป็น ๔ อำเภอ อำเภอที่ตั้งตัวเมืองเรียกชื่อว่า "อำเภอกุดป่อง" ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น "บริเวณลำน้ำเลย" ใน พ.ศ.๒๔๔๙-๒๔๕๐  ได้เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลย เป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ.๒๔๕๐ จึงได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๐ ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหืองให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็นอำเภอเมืองเลยด้วย

        สำหรับอำเภอกุดป่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองเลยนั้น เรียกตามตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอในครั้งนั้น เหตุที่เรียกตำบลแห่งนี้ว่า "กุดป่อง" ก็เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองเลย ปัจจุบันนี้เกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำเลย มีลักษณะเป็นลำห้วยมีรูปโค้งเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีปากน้ำแยกออกจากลำแม่น้ำเลยทั้งสองด้าน มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ตรงกลางเป็นเกาะมีเนื้อที่ประมาณ ๙๐ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเมืองเลย ศาลาเทศบาลเมืองเลย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย

การจัดรูปการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การจัดรูปการปกครองก่อนจัดระบบมณฑลเทศาภิบาล

        ใช้วิธีซึ่งเรียกในกฎหมายเก่าว่า "กินเมือง" อันเป็นแบบเดิม คำว่า "กินเมือง" มาถึงชั้นหลังเรียกเปลี่ยนเป็น "ว่าราชการเมือง" ส่วนคำว่า "กินเมือง" ก็ยังใช้กันในคำพูดอยู่บ้าง วิธีการปกครองที่เรียกว่า "กินเมือง" นั้น หลักเดิมมาคงถือว่าผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภยันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้มอบให้เจ้าเมืองคนละเล็กละน้อย ทำให้เจ้าเมืองดำรงตนอยู่ได้โดยรัฐบาลในราชธานีไม่ต้องรับภาระ  จึงให้ค่าธรรมเนียมในการต่าง ๆ แทนตัวเงินสำหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองก็ได้รับผลประโยชน์ทำนองเดียวกันเป็นแต่ลดลงตามศักดิ์ ต่อมาบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้น ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงมีการหาผลประโยชน์เพิ่มพูนอย่างอื่น เช่น ทำไร่นา ค้าขาย เป็นต้น

        การเป็นเจ้าเมืองก็มักจะมีการสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่เคยเป็นเจ้าเมือง หรือเคยรับราชการงานเมืองมาแล้ว เช่น อาจเป็นบุตรชายเจ้าเมืองหรือถ้าไม่มีบุตรชายก็อาจให้บุตรเขยผู้ซึ่งเห็นว่ามีความรู้ความสามารถพอปกครองบ้านเมืองได้ ทำหน้าที่เจ้าเมืองแทน การแต่งตั้งเจ้าเมืองสำหรับเมืองเอก คงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส่วนเมืองเล็ก ๆ กรมการเมืองคงมีใบบอกหัวเมืองเอก และด้วยความเห็นชอบของเจ้าเมืองเอก สำหรับที่ทำการเจ้าเมืองก็เอาบ้านเรือนเป็นที่ว่าราชการด้วย บ้านเจ้าเมืองนิยมเรียกว่า "จวน" และมีศาลาโถงปลูกไว้หน้าบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า " ศาลากลาง" สำหรับประชุมปรึกษาราชการ เป็นศาลาสำหรับชำระความหรือตัดสินความ ทั้งจวนและศาลากลางนี้สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวรวมทั้งที่ดินก็เป็นของส่วนตัวด้วย เมื่อสิ้นสมัย เจ้าเมืองคนหนึ่งอาจเป็นด้วยเจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรมหรือเปลี่ยนเจ้าเมือง "จวน" เจ้าเมืองและศาลากลางเดิมก็ตกเป็นมรดกแก่ลูกหลาน  ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางใหม่ตามลำดับที่จะสร้างได้ บางทีก็สร้างห่างไกลจากที่เดิม แม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ใหม่ ตามสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ส่วนกรมการนั้นเพราะมักเป็นคหบดีในเมืองนั้น ซึ่งเมื่อตั้งบ้านเรือนอยู่ไหนก็คงอยู่ที่นั่น เป็นแต่เวลามีการงานจะต้องทำตามหน้าที่ จวนเจ้าเมืองอยู่ไหนก็ไปฟังคำสั่งที่นั่น บางคนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลก็มี โดยถือหลักเห็นเป็นผู้เหมาะสมที่จะรักษาสันติสุขของท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ และมุ่งให้ประชาชน "อยู่เย็นเป็นสุข" ปราศจากภัยต่างๆ เช่นโจรผู้ร้าย ปราบปรามนักการพนัน การเสพของมึนเมาเป็นสำคัญ มิได้พัฒนาด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าเหมือนในการดำเนินการปกครองในสมัยปัจจุบัน

             การบริหารงานปกครองสำหรับเมืองเล็กมิได้เป็นประเทศราช เช่น จังหวัดเลย คงมีการปกครองท้องถิ่นเป็นของตนเอง ในแต่ละเมืองจะมีเจ้าเมืองปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่สืบตระกูลกันเรื่อยมาดังกล่าวข้างต้น อำนาจการปกครองมีอย่างเต็มที่ตั้งแต่ระดับสูงสุดถึงระดับต่ำสุด และเนื่องจากเขตจังหวัดเลยอยู่ใกล้ชิดกับลาวมาก การจัดการปกครองบ้านเมืองบางอย่างคงได้รับอิทธิพลลาวอยู่มาก การบริหารบ้านเมืองได้แบ่งทำเนียบข้าราชการออกเป็น ๕ ขั้น คือ

             ๑. ตำแหน่งอาชญาสี่ เป็นตำแหน่งบังคับบัญชาสูงสุดของเมือง มี ๔ ตำแหน่ง คือ

                 เจ้าเมือง  เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในกิจการบ้านเมืองทั้งปวง

                 อุปฮาด ทำการแทนเจ้าเมืองในกรณีเจ้าเมืองไม่อยู่หรือไม่สามารถว่าราชการ       ได้ และช่วยราชการทั่วไป

                 ราชวงศ์  มีหน้าที่เกี่ยวกับอรรถคดี ตัดสินชำระความ และการปกครอง

                  ราชบุตร  มีหน้าที่ควบคุมเก็บรักษาผลประโยชน์ของเมือง

(เกี่ยวกับตำแหน่งรองเจ้าเมือง คืออุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรนี้ มีหลักฐานพอสืบได้จากคนเฒ่าคนแก่ ปรากฏให้ทราบว่าการปกครองสมัยก่อน จัดระบอบมณฑลเทศาภิบาล เช่น ในสมัยพระแก้วอาสา (กองแสง) ปกครองเมืองด่านซ้ายก็ดี และพระยาศรีอัครฮาด (ทองดี) ปกครองเมืองเชียงคานก็ดี มีตำแหน่งรองเจ้าเมืองดังกล่าว คือ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร อยู่ด้วย)

            ๒. ตำแหน่งผู้ช่วยอาชญาสี่  ได้แก่ตำแหน่งท้าวสุริยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสุทธิสารมีหน้าที่ในการพิจารณาคดีพิพากษาและการปกครองแผนกต่าง ๆ ของเมือง

            ๓. ตำแหน่งขื่อบ้านขางเมือง  มีทั้งหมด ๑๗ ตำแหน่ง เช่น เมืองแสน กำกับฝ่ายทหารเมืองจันทน์ กำกับฝ่ายพลเรือน เมืองขวา เมืองซ้าย เมืองกลาง มีหน้าที่ดูแลการพัสดุต่าง ๆ เช่น การปฏิสังขรณ์จัดและกำกับการสักเลก เป็นต้น

               ๔. ตำแหน่งเพียหรือเพี้ย  เป็นองครักษ์เจ้าเมือง เป็นพนักงานติดตามเจ้าเมือง

เป็นต้น

               ๕. ตำแหน่งประจำหมู่บ้าน  มี ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ท้าวฝ้าย ตาแสง นายบ้าน และจ่าเมืองเทียบได้กับตำแหน่งทางปกครองในปัจจุบันคือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรหมู่บ้านตามลำดับ

                สำหรับตำแหน่งขื่อบ้านขางเมือง ๑๗ ตำแหน่ง ดูชื่อแล้วคล้ายกับตำแหน่งข้าเฝ้า เมื่อมีวิญญาณเจ้าเข้าทรงเกี่ยวกับศาลเทพารักษ์ หรืออาฮักหลักเมืองของเมืองด่านซ้ายมาก ตำแหน่งข้าเฝ้าดังกล่าว มีถึง ๑๙ ตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง ข้าเฝ้าฝ่ายเจ้าเมืองจัง คือ "เจ้ากวน" (ผู้ชายซึ่งมีหน้าที่ให้วิญญาณเจ้าเข้าทรง) มี ๑๐ คน ได้แก่ แสนด่าน แสนหอม แสนฮอง แสนหนูรินทร์ แสนศรีสองฮัก แสนตางใจ แสนกลาง แสนศรีฮักษา แสนศรีสมบัติ และแสนกำกับ ข้าเฝ้าฝ่ายเจ้าเมืองกลาง คือ "นางเทียม" (ผู้หญิงซึ่งมีหน้าที่ให้วิญญาณเจ้าเข้าทรง) มี ๙ คน ได้แก่ แสนเขื่อน แสนคำบุญยอ แสนจันทน์ แสนแก้วอุ่นเมือง แสนบัวโฮม แสนกลางโฮง แสนสุข เมืองแสน และเมืองจันทน์ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้อาจเป็นตำแหน่งผู้มีหน้าที่ต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการบ้านเมืองในสมัยโบราณก็ได้ แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดมีหน้าที่อะไรแน่ชัด ที่พอทราบก็มีแสนด่าน และแสนเขื่อน เป็นหัวหน้าของแสนแต่ละฝ่ายเท่านั้น แม้ในทุกวันนี้การเข้าทรงก็ดี ตำแหน่งเจ้ากวนนางเทียม และแสนต่าง ๆ ก็ดีที่อำเภอด่านซ้าย ก็ยังคงมีอยู่เช่นสมัยก่อน

 ในแต่ละเมืองจะมีอำนาจเต็มที่ในการปกครอง การศาลและการเก็บส่วยสาอากร เช่น ในด้านการศาล คงให้มีการชำระความกันเอง โดยเจ้าเมืองและกรมการเมืองทำหน้าที่ลูกขุนพิจารณาคดี ส่วนการเก็บภาษีอากรก็คงให้อยู่ในอำนาจของแต่ละเมือง สำหรับเมืองซึ่งอยู่ในท้องที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นเมืองเล็กจะขึ้นตรงต่อเมืองเอก หรือเมืองใหญ่อีกต่อหนึ่ง การส่วยสาอากรก็ต้องส่งต่อเมืองเอกทุกปี และเจ้าเมืองตลอดข้าราชการมีการทำพิธีรับพระราช่ทานน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้ง หรือปีละครั้งเป็นอย่างน้อย

        การจัดรูปการปกครองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล

                       ลักษณะการเทศาภิบาล เป็นการปกครองซึ่งเปลี่ยนแปลงให้มีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วย ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลในพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความ  ร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงแบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับชั้น เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัด เป็นแผนกพนักงาน ทำนองการแบ่งงานของกระทรวงในราชการ อันเป็นวิถีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับทุกข์บำรุงสุขด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชนและได้มีการแก้ไขลักษณะปกครอง ให้เป็นไปตามพระราช-บัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ นั่นคือ ให้ตั้งทำเนียบข้าราชการเสียใหม่ ยกเลิกตำแหน่งทางการปกครอง คือ อาชญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ในตอนแรกคงใช้แบบเดิมอยู่ ต่อมาจึงค่อยยุบเลิกหมดใน พ.ศ.๒๔๕๐ โดยให้เรียกใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองตามลำดับแทน ตำแหน่งอื่น ๆ ก็ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย สำหรับส่วนราชการตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลแบ่งออกดังต่อไปนี้

มณฑล คือรวมเขตจังหวัดตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป มากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่ให้ความสะดวกในการปกครอง ตรวจตราบัญชาการของสมุหเทศาภิบาล จัดเป็นมณฑลหนึ่ง มีข้าราชการชั้นสูงเป็นผู้บัญชาการเป็นประธานข้าราชการมณฑลหนึ่ง นอกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ยังมีข้าหลวงรอง เป็นเจ้าหน้าที่แผนกการต่าง ๆ ของมณฑล และมีข้าราชการเจ้าพนักงานสำหรับช่วยปฏิบัติราช-การตามสมควรแก่หน้าที่ สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจหน้าที่ปกครองบัญชาการและตรวจตราภาวะการณ์ทั้งปวง และราชการในมณฑล ซึ่งมีบทบัญญัติของรัฐบาลมอบให้เป็นหน้าที่ของเทศาภิบาล รับข้อเสนอและสั่งราชการแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นผลสำเร็จเร็วกว่าที่จังหวัดจะบอกเข้ามายังกระทรวง และคอยฟังคำสั่งจากกรุงเทพ ฯ ดังแต่ก่อน นับเป็นผลดีแก่ทางราชการและประชาชน

จังหวัด  แต่ก่อนเรียกว่า "เมือง" รวมเขตอำเภอ (เมือง) ตั้งแต่สองอำเภอ (เมือง) ขึ้นไป ถึงหลายอำเภอ (เมือง) ก็มี จัดเป็นจังหวัดหนึ่ง รองถัดจากมณฑลลงมาให้มีอาณาเขตพอควรแก่ความเจริญและความสะดวกในการตรวจตราปกครองจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมีข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นตำแหน่งผู้ว่า-ราชการเมือง เรียกว่า "ข้าหลวงประจำจังหวัด" และต่อมาเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เป็นหัวหน้าและมีกรมการจังหวัดคณะหนึ่งช่วยบริหารราชการ

            อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน  เป็นส่วนรองถัดจากจังหวัดลงมาโดยลำดับชั้นทั้งท้องที่และเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปกครองใกล้ชิดกับประชาราษฎร ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค อำเภอหนึ่งมีนายอำเภอเป็นหัวหน้า กิ่งอำเภอมีปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้า ตำบลและหมู่บ้านมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครองดูแลตามลำดับ

การตั้งมณฑลเทศาภิบาล

มณฑลที่ตั้งขึ้นครั้งแรก  เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ คือก่อน พ.ศ.๒๔๓๗ มี ๖ มณฑล ได้แก่มณฑลลาวเฉียง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดร (เมืองเลยขึ้นอยู่ในเขตมณฑลนี้) มณฑลลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอีสาน มณฑลเขมร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มณฑลลาวกลาง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลนครราชสีมา และมณฑลภูเก็ต มณฑลที่ตั้งครั้งแรกนี้ยังมิได้จัดเป็นลักษณะเทศาภิบาล

           พ.ศ.๒๔๓๗  ได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ ๔ มณฑล คือมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี และมณฑลนครราชสีมา

           พ.ศ.๒๔๓๘   ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๓ มณฑล และแก้ไขให้เป็น

ลักษณะเทศาภิบาล ๑ มณฑล รวม ๔ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า และมณฑลภูเก็ต

           พ.ศ.๒๔๓๙  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๒ มณฑล และแก้ไขให้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ๑ มณฑล รวม ๓ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร และมณฑลบูรพา

           พ.ศ.๒๔๔๐  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๑ มณฑล คือ มณฑลไทรบุรี

           พ.ศ.๒๔๔๒  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์

           พ.ศ.๒๔๔๓  ได้แก้ไขการปกครองมณฑลที่มีอยู่ก่อน พ.ศ.๒๔๓๖ ให้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอีสาน (เคยเรียกว่ามณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ) และมณฑลอุดร (แบ่งเมืองออกเป็นบริเวณซึ่งมีบริเวณน้ำเหืองตั้งบริเวณที่เมืองเลย รวมอยู่ด้วย)

           พ.ศ.๒๔๔๙  ยุบมณฑลเพชรบูรณ์

พ.ศ.๒๔๔๙  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี

        พ.ศ.๒๔๕๐  ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

           พ.ศ.๒๔๕๑  จำนวนมณฑลลดลง ๑ มณฑล เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ

        พ.ศ.๒๔๕๕  แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด

           พ.ศ.๒๔๕๘  จัดตั้งมณฑลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลมหาราษฎร์

           ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมณฑลกรุงเทฯ เป็นกรุงเทพมหานคร (มณฑลกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๘)

           มณฑลทั้งหมดในราชอาณาจักรครั้งนั้น มีทั้งสิ้น ๒๑ มณฑลด้วยกัน

เมื่อได้มีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแล้ว ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการ

ปกครองให้เป็นลักษณะเทศาภิบาลขึ้นดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การปกครองดำเนินไปอย่างมีระเบียบและเกิดคุณประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองมากขึ้น การปกครองจึงใช้แบบเก่าของไทยเป็นหลัก คือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และวิธีการแบบใหม่ควบคู่ไปด้วย ได้ออกประกาศตักเตือนให้ราษฎรปฏิบัติตามแบบอย่างทางราชการ โดยให้ถือเป็นกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ก.  ประกาศให้ราษฎรเสียเงินค่าราชการประจำปี

  • ประกาศให้ราษฎรเมื่อมีคดีขึ้น ให้ฟ้องร้องต่อศาลที่ตั้งขึ้นในแต่ละท้องที่ เช่น ศาลหมู่-บ้าน ศาลอำเภอ ศาลเมือง และศาลข้าหลวง เป็นต้น
  • ประกาศให้ราษฎรเข้ารับราชการทหาร
  • ประกาศให้ราษฎรเลิกเล่นการพนันเลิกสูบฝิ่นและเลิกหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด เช่น เลิกสักตามร่างกาย เป็นต้น
  • ประกาศให้ราษฎรใช้หัวแม่มือแตะเอกสารแทนการเขียนรูปร่าง ๆ ลงท้ายเอกสารเช่นแต่ก่อน

แต่เนื่องจากความเคยชินของราษฎรที่ปฏิบัติตามประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม จึงยังไม่เห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและประเทศชาติ  เพราะขาดสิ่งที่จะให้ราษฎรเปลี่ยนความคิด คือการให้การศึกษาแก่ราษฎร ประกาศดังกล่าวจึงไม่ค่อยได้ผลนัก

นอกจากนี้ยังประกาศเตือนให้ราษฎรปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามความต้องการของทางราชการอื่น ๆ มีการปรับปรุงการศึกษา โดยให้ผู้ชายมีอายุพอสมควร ได้บวชเรียนได้จัดให้ราษฎรเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่ทางราชการจัดขึ้น จัดตั้งศาลให้แน่นอน การเก็บภาษีให้รัดกุมไม่รั่วไหล จัดเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนนทางเกวียนและสะพานให้สะดวก ตลอดจนการสื่อสาร เป็นต้น

การปกครองตามเมืองต่าง ๆ นอกจากมีผู้ว่าราชการเมืองแล้ว ยังมีข้าหลวงกำกับอีกด้วย ข้าหลวงที่ได้รับแต่งตั้งได้มอบหน้าที่ให้ไปจัดการเก็บภาษีอากรสุรา ภาษีต่าง ๆ และพิจารณาตัดสินแก้ปัญหาเรื่องเขตเมือง มีการยกฐานะการครองชีพของราษฎร โดยส่งเสริมการทำนา เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น การเก็บภาษีอากร เมื่อเก็บได้นอกจากนำเข้ารัฐแล้ว ยังแบ่งผลประโยชน์ให้ผู้ว่าราชการเมือง และข้าหลวง ตลอดจนกรมการอีกด้วย

ต่อมาทางราชการได้พิจารณาปรับปรุงในด้านต่างๆ เช่น การเก็บผลประโยชน์การทหาร การศาล การคมนาคมสื่อสาร และการศึกษา เป็นต้น ซึ่งช่วยให้การปรับปรุงการปกครองในส่วนโครงสร้างได้ผลดียิ่งขึ้น อันเป็นการปรับปรุงขั้นพื้นฐานเป็นผลให้ราษฎรได้เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ได้รับความสะดวก ความยุติธรรม ความสงบสุขมากขึ้นตามลำดับ

 

           แผนภูมิการบริหารการปกครองหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.

                                 ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖

ลำดับการบังคับบัญชา

ชื่อตำแหน่งก่อนใช้ พ.ร.บ

ลักษณะปกครองท้องที่ รศ.116

ชื่อตำแหน่งภายหลังใช้ พ.ร.บ

ลักษณะปกครองท้องที่ รศ. 116

กระทรวงมหาดไทย

มณฑล

เมือง

อำเภอ

ตำบล

หมู่บ้าน

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ข้าหลวงต่างพระองค์

เจ้าเมือง

ท้าวฝ่าย

ตาแสง

พ่อบ้านหรือนายบ้าน

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ข้าหลวงต่างพระองค์

ผู้ว่าราชการเมือง

นายอำเภอ

กำนัน

ผู้ใหญ่บ้าน

.๓  การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว ต่อมาทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ ให้ยกเลิกวิธีการปกครองตามแบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนเป็นแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคโดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยรวมพื้นที่หลาย ๆ อำเภอเป็นจังหวัด ระดับจังหวัดมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นหัวหน้า ร่วมกับคณะกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ เพื่อมิให้หน่วยงานมณฑลซ้ำซ้อนกับจังหวัด เป็นการประหยัดช่วยทำให้การบริหารราช-การรวดเร็วขึ้น เพราะการคมนาคมสื่อสารเจริญก้าวหน้ากว่าแต่ก่อน และรัฐบาลมีนโยบายมอบอำนาจการปกครองให้แก่ส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

         เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งเปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเฉพาะ ส่วนคณะกรมการจังหวัดให้มีฐานะเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

         ต่อมาคณะปฏิวัติได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราช-การส่วนภูมิภาคออกเป็น

             (๑)  จังหวัด

         (๒)  อำเภอ

         โดยกำหนดให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การ ตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดจะทำได้ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการแผ่นดินในเขตจังหวัด-อำเภอหนึ่ง ๆ มีนายอำเภอเป็นผู้บริหาร โดยมีคณะกรมการอำเภอเป็นที่ปรึกษา และในเขตอำเภอหนึ่ง ๆ ยังแบ่งเขตปก

ครองออกเป็นตำบลและหมู่บ้านโดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครองตามลำดับ

         นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘  ยังกำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเจริญก้าวหน้าและเป็นการฝึกประชาชนให้เข้าใจหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย โดยแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น ๔ รูป คือ

          ๑.  องค์การบริหารส่วนจังหวัด

          ๒.  เทศบาล

          ๓.  สุขาภิบาล

          ๔.  องค์การบริหารส่วนตำบล

          ปัจจุบันจังหวัดเลย แบ่งการปกครองออกเป็น ๙ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ ๗๒ ตำบล และ ๖๒๒ หมู่บ้าน และมีการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ แห่ง เทศบาล ๑ แห่ง และสุขาภิบาล ๖ แห่ง

ประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา

 

          จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในสมัยขอมในสมัยโบราณเป็นเมืองชั้น "เจ้าพระยามหานคร" ในปัจจุบันก็ยังคงมีความสำคัญ กล่าวคือ เป็นปากประตูสู่ภาคอีสาน และเป็นชุมทางคมนาคมสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง ๑๖ จังหวัดในภาคอีสานอีกด้วย

          นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในอาณาจักรไทย เดิมทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๓๑ กิโลเมตร มีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือเมือง "โคราช" หรือ "โคราฆะปุระ" กับเมือง "เสมา" ทั้ง ๒ เมืองโบราณดังกล่าวเคยเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยขอม ปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมฝั่งลำตะคอง

          เมืองเสมา ตั้งอยู่ฝั่งใต้ลำตะคอง มีเนินดินกำแพงเมืองและคูเมืองทั้ง ๔ ด้านตัวกำแพงสร้างด้วยแลง ยังมีเหลือซากอยู่บ้าง ภายในเมืองมีสระและบึงใหญ่น้อยอาศัยใช้น้ำได้ตลอดปี มีโบราณวัตถุสมัยทวารวดีขนาดใหญ่แสดงอายุของเมืองนี้ ๒ อย่าง คือ พระพุทธรูปทำด้วยศิลา เล่ากันว่าแต่แรกตั้งยืนอยู่โดดเดี่ยว แล้วถูกฉุดลากล้มลงแตกหักยับเยิน ต่อมามีผู้เกิดความสังเวช เก็บรวมประกอบเป็นองค์พระวางนอนไว้ จึงเรียกกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไป อีกอย่างเป็นธรรมจักรศิลาขนาดวัดผ่าศูนย์กลางราว ๑.๕๐ เมตร เวลานี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคลองขวาง ตำบลเสมา ห่างจากถนนมิตรภาพประมาณ ๙-๑๐ กิโลเมตร

          เมืองโคราฆะปุระ ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือลำตะคอง ในตำบลโคราช ห่างจากเมืองเสมา ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร หรือห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปราว ๒-๓ กิโลเมตร ในบริเวณเมืองมีปราสาทหินย่อม ๆ ๒-๓ แห่ง แห่งหนึ่งเคยตรวจพบศิวลึงค์ศิลา ขนาดยาว .๙๒/ .๒๘ เมตร กับศิลาทับหลังประตูจำหลักลายเป็นรูปพระอิศวรประทับยืนบนหลังโคอุศุภราช จึงน่าเชื่อว่าปราสาทหินหลังนี้อาจสร้างเป็นเทวสถานฝ่ายนิกายไศวะ เมืองนี้ในสมัยหนึ่งคงเป็นเมืองสำคัญ ตั้งรักษาเส้นทางที่ลงมายังแผ่นดินต่ำทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เพราะอยู่ในที่ร่วมของเส้นทางเดินทางช่องดงพระยาไฟกับดงพระยากลาง

          ที่หน้าอำเภอสูงเนินมีศิลาจารึกเป็นภาษาสันสฤตกับภาษาขอมแผ่นหนึ่งหักเป็น ๒ ท่อน เดิมอยู่ที่หมู่บ้านบ่ออีกาในเขตเมืองเสมา เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันอายุของเมืองในอำเภอสูงเนิน เนื้อความในจารึกเล่าถึงพระเจ้าศรีจนาศ (หรือ ศรีจนาเศศวร) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๑๔๑๑

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

          เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ พ่อขุนรามคำแหงได้เสวยสิริราชสมบัติกรุงสุโขทัยมีอานุภาพมาก แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกแสดงเขตอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้นว่าทิศเหนือตั้งแต่เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดถึงแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกตลอดเมืองหงสาวดี ทางทิศใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ทางทิศตะวันออกบอกเขตแดนทางแผ่นดินสูงเพียงตอนเหนือราวท้องที่จังหวัดอุดรธานี เลย และหนองคาย ไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำเป็นที่สุดไม่ปรากฏชื่อเมืองทางแผ่นดินสูงตอนใต้ กับทั้งทางแผ่นดินต่ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีเช่น เมืองลพบุรี เมืองอยุธยา ปราจีนบุรี เป็นต้น โดยเหตุนี้จึงมีคำสันนิษฐานเกิดขึ้นว่าดินแดนเหล่านี้เป็นอาณาจักรของขอมซึ่งมีกำลังแข็งแรงกว่าอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อาจแผ่เดชานุภาพเข้ามา แต่เท่าที่ได้สังเกตศึกษาทั้งทางด้านศิลปและตำนานสงสัยว่าดินแดนเหล่านี้หาได้อยู่ในความปกครองของพวกขอมไม่ หากแต่อยู่ในอำนาจของอาณาจักรไทยพวกหนึ่งซึ่งมีราชธานี เรียกว่า กรุงอโยธยา เป็นอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศวรรษที่ ๑๖ และสิ่งสำคัญเป็นหลักฐานของอาณาจักรนี้ ก็คือศิลปกรรมอู่ทอง (หรือลพบุรีตอนต้น) อันมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปกรรมของขอมอยู่มาจนกระทั่งถูกเข้าใจคลุม ๆ ไปว่าเป็นประดิษฐกรรมของพวกขอมเสียเกือบหมดสิ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุจำพวกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้าใจว่าจะไม่สันทัดถนัดทำเลย) อาณาจักรอโยธยาคงจะรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ทั้งอำนาจและศิลปศาสตร์ จึงปรากฏในพงศาวดารทางลานนาประเทศว่า พ่อขุนรามคำแหงกับพ่อขุนงำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ขณะยังเยาว์วัยต้องลงมาศึกษาวิชาการ ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ในแว่นแคว้นนี้ถึงแม้ประเทศกัมพูชาอันมีพระนครหลวง เป็นราชธานีก็คงตกอยู่ในความปกครองระยะหนึ่งระยะใดในระหว่างพุทธศวรรษที่ ๑๙ เพราะตอนปลายพุทธศตวรรษนั้น เมื่ออาณาจักรอโยธยาเปลี่ยนผู้สืบสันติวงศ์ใหม่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงเกิดขอมแปรพักตร์ขึ้น ถึงกับต้องกรีธาทัพไปกำราบปราบปราม เวลานี้เรื่องราวของอาณาจักรอโยธยายังมืดมัวอยู่ แต่วัตถุพยานชี้ร่องรอยชวนให้ศึกษาค้นคว้ามีประจักษ์อยู่ คือ พระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ซึ่งขุดพบที่วัดธรรมิกราชขนาดใหญ่ที่ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา กับพระพุทธตรัยรัตนนายก วัดพนัญเชิง ซึ่งมีมาก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยา พระเศียรพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ที่วัดเดิม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมารวมทั้งโบราณวัตถุสถานแบบอู่ทองที่มีอยู่ในพระนครหลวงประเทศกัมพูชา เช่นที่ปราสาทหินเทพประณม ปราสาทหินนครวัด ตลอดจนศิลาจำหลักบางชิ้นในพิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเปญ อันเป็นของเคลื่อนย้ายไปจากกลุ่มปราสาทหินบรรยงก์เป็นต้น

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

          ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) โปรดให้สร้างเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนให้มีป้อมปราการ สำหรับป้องกันรักษาราชอาณาจักรหลายเมือง เช่นนครศรีธรรมราช พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น จึงให้ย้ายเมืองที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาสร้างเป็นเมืองมีป้อมปราการและคูล้อมรอบขึ้นใหม่ ในที่ซึ่งอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วเอานามเมืองเดิมทั้งสอง คือ เมืองเสมา กับ เมืองโคราฆะปุระ มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า เมืองนครราชสีมา แต่คนทั้งหลายคงยังเรียกชื่อเมืองเดิมติดปากอยู่ จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า เมืองโคราช เมืองนี้กำแพงก่อด้วยอิฐมีใบเสมาเรียงรายตลอดมีป้อมตามกำแพงเมือง ๑๕ ป้อม ประตู ๔ ประตู สร้างด้วยศิลาแลงมีชื่อดังต่อไปนี้

          ทางทิศเหนือ              ชื่อประตูพลแสน นัยหนึ่งเรียกประตูน้ำ

          ทางทิศใต้                 ชื่อประตูไชยณรงค์  นัยหนึ่งเรียกประตูผี

          ทางทิศตะวันออก         ชื่อประตูพลล้าน นัยหนึ่งเรียกประตูตะวันออก

          ทางทิศตะวันตก ชื่อประตูชุมพล

          ประตูเมืองทั้ง ๔ แห่งนี้มีหอรักษาการอยู่ข้างบนทำเป็นรูปเรือน (คฤห) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันทุกแห่ง แต่ปัจจุบันคงเหลือรักษาไว้เป็นแบบอย่างแห่งเดียวเท่านั้น คือประตูชุมพล ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีสงวนรักษาไว้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ นอกนั้นทั้งประตูและกำแพงเมืองได้ถูกรื้อสูญหมดแล้ว

          ในหนังสือเที่ยวตามทางรถไฟพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ      กรมพระยาดำรง-ราชานุภาพ เล่าถึงตำนานเมืองว่า

          ในทำเนียบครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมา มีเมืองขึ้น ๕ เมือง คือเมืองนครจันทึก อยู่ทางทิศตะวันตก เมือง ๑ เมืองชัยภูมิ อยู่ทางทิศเหนือ เมือง ๑ เมืองพิมายอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมือง ๑ เมืองบุรีรัมย์ อยู่ทางทิศตะวันออก เมือง ๑ เมืองนางรอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมือง ๑ ต่อมาตั้งเมืองเพิ่มขึ้นอีก ๙ เมือง คือ ทางทิศเหนือ ตั้งเมืองบำเหน็จณรงค์ ๑ เมือง จัตุรัส ๑ เมือง เกษตรสมบูรณ์ ๑ เมือง ภูเขียว ๑ เมือง ชนบท ๑ เมือง รวม ๕ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งเมืองพุทไธสง ๑ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเมืองประโคนชัย ๑ เมือง รัตนบุรี ๑ เมือง ทางทิศใต้ ตั้งเมืองปักธงชัย ๑ เมือง เมืองนครราชสีมา จึงมีเมืองขึ้น ๑๔ เมืองด้วยกัน เมื่อสร้างเมืองใหม่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงเลือกสรรข้าราชการที่เป็นคนสำคัญออกไปครอง ปรากฏว่าโปรดให้พระยายมราช (สังข์) ไปครองเมืองนครราชสีมาพร้อมกับโปรดให้พระยารามเดโช ไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเมืองอื่นหาปรากฏนามผู้ไปครองเมืองไม่ ครั้นสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระยายมราชและพระยารามเดโช ไม่ยอมเป็นข้าพระเพทราชา ต่างตั้งแข็งเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นด้วยกัน กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกขึ้นไปทางดงพระยาไฟ พระยายมราชต่อสู้รักษาเมืองนครราชสีมาอยู่ได้พักหนึ่ง แต่สิ้นกำลังต้องหนีไปอยู่กับพระยารามเดโช ณ เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งกองทัพกรุง ฯ ลงไปตีเมืองนครราชสีมาได้ในครั้งพระยายมราช (สังข์) ตั้งแข็งเมืองนั้น คงกวาดต้อนผู้คนและเก็บเครื่องศัตราวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับรักษาเมืองนำมาเสียโดยมาก โดยหวังจะมิให้มีผู้คิดแข็งเมืองได้อีก ต่อมาในรัชกาลนั้นเอง มีลาวชาวหัวเมืองตะวันออกคนหนึ่ง ชื่อบุญกว้าง ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษกับพรรคพวกเพียง ๒๓ คน กล้าเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมาพักอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่งนอกเมือง แล้วให้พระยานครราชสีมาคนใหม่ออกไป พระยานครราชสีมาขี่ช้างออกไป (เดิมเห็นจะตั้งใจออกไปจับ) ครั้นถูกอ้ายบุญกว้างขู่  พระยานครราชสีมากลับครั่นคร้าม (คงเป็นเพราะพวกไพร่พลพากันเชื่อวิชาอ้ายบุญกว้าง) เห็นหนีไม่พ้นต้องยอมเป็นพรรคพวกอ้ายบุญกว้าง แล้วลวงให้ยกลงมาตั้งซ่องสุมผู้คนที่เมืองลพบุรี พระยานครราชสีมาเป็นไส้ศึกอยู่จนกองทัพกรุง ฯ ยกขึ้นไปถึง จึงจับตัวอ้ายบุญกว้างกับพรรคพวกได้

          เห็นจะเป็นเพราะที่เกิดเหตุคราวนี้ ประกอบกับที่การรบในกรุง ฯ เป็นปกติสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว จึงกลับตั้งกำลังทหารขึ้นที่เมืองนครราชสีมาดังแต่ก่อน ต่อมาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าเมืองหลวงพระบางยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ขอให้กรุงศรีอยุธยาช่วย จึงโปรดให้พระยาสระบุรีเป็นนายทัพหน้า ให้พระยานครราชสีมา (ซึ่งเข้าใจว่าตั้งใหม่อีก ๑ คน) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปช่วยเมืองเวียงจันทน์ กองทัพยกขึ้นไปถึง พวกเมืองหลวงพระบางก็ยำเกรง เลิกทัพกลับไป หาต้องรบพุ่งไม่ แต่นี้ไปก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองนครราชสีมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร จนแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง ปรากฏว่าเกณฑ์ของกองทัพเมืองนครราชสีมาลงมาช่วยป้องกันรักษากรุง ฯ เดิมให้ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเจดีย์แดงข้างใต้เพนียด แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ คุมลงมารักษาเมืองธนบุรี ครั้นกองทัพพม่ายกมาจากเมืองสมุทรสงครามเมื่อเดือน ๑๐ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยารัตนาธิเบศร์หนีกลับขึ้นไปกรุงฯ พวกกองทัพเมืองนครราชสีมาเห็นนายทัพไม่ต่อสู้ข้าศึก ก็พากันกลับไปบ้านเมืองหาได้รบพุ่งกับพม่าไม่ต่อมาเมื่อพม่ากำลังตั้งล้อมพระนครศรีอยุธยา ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมาอีกตอนหนึ่ง เหตุด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นโทษต้องเนรเทศไปอยู่ ณ เมืองจันทบุรี ชักชวนพวกชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพมาหวังจะมารบพม่าแก้กรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธมาถึงเมืองปราจีนบุรี ให้กองทัพหน้ามาตั้งปากน้ำโยธกา แขวงจังหวัดนครนายก พม่ายกไปตีกองทัพหน้าแตก กรมหมื่นเทพพิพิธ เห็นจะสู้พม่าไม่ได้ ก็เลยขึ้นไปทางแขวงเมืองนครราชสีมา ไปตั้งที่ด่านโคกพระยาพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก กับหลวงนรินทร์ (ซึ่งได้เข้าเป็นพวกกรมหมื่นเทพพิพิธ) ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครจันทึกอีกพวกหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธคิดจะชักชวนพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพลงมารบพม่า แต่พระยานครราชสีมาคนนั้นเป็นอริอยู่กับพระพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก แต่งคนร้ายให้มาลอบฆ่าพระพิบูลสงครามกับหลวงนรินทร์เสีย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ลอบไปฆ่าพระยานครราชสีมาเสียบ้าง แล้วเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นหลวงแพ่ง น้องพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองพิมายไปเกณฑ์คนยกกองทัพมาจับกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมตัวไว้ที่เมืองพิมาย ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ สิ้นราชวงศ์ที่จะครองพระราชอาณาจักรบ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ผู้มีกำลังฝีมือหวังจะเป็นใหญ่ในประเทศไทยต่อไป ก็คิดตั้งเป็นเจ้ามีรวมด้วยกัน ๕ พรรคคือ

          ๑. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีหัวเมืองอยู่ในอำนาจตั้งแต่ชายแดนกรุงกัมพูชาขึ้นมาจนถึงเมืองชลบุรี และต่อมาถึงข้างขึ้นเดือน ๑๒ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ยกกองทัพขึ้นมาโจมตีทหารพม่าซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองธนบุรี กับค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา พม่าพ่ายแพ้จนหมดสิ้น แล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี

          ๒. เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิษณุโลกมีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาถึงเมืองนครสวรรค์

          ๓. พระสังฆราชา (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นทั้งยังอยู่ในสมณเพศ เรียกกันว่าพระฝาง มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่อยู่ข้างเหนือเมืองพิชัย และติดต่อกับแดนเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง

          ๔. พระปลัด (เข้าใจกันว่าชื่อหนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า เจ้านคร มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่ติดต่อกับชายแดนมลายูขึ้นมาจนถึงเมืองชุมพร

          ๕. กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งพระยาพิมายคุมไว้ที่เมืองพิมาย และยกขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองนั้น เรียกว่าเจ้าพิมาย มีอำนาจปกครองตลอดอาณาเขตของนครราชสีมา เช่น เมืองจันทึก ปักธงชัย บุรีรัมย์

พุทไธสง ชัยภูมิ และภูเขียว เป็นต้น

สมัยกรุงธนบุรี

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกในวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ สิ้นพระราชวงศ์ที่จะปกครองพระราชอาณาจักร บ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ผู้มีกำลังฝีมือหวังจะเป็นใหญ่ในประเทศไทยต่อไปก็คิดตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มีรวมด้วยกัน ๕ ชุมนุม คือ

          ชุมนุมที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีหัวเมืองอยู่ในอำนาจตั้งแต่ชายแดนกรุงกัมพูชา ขึ้นมาจนถึงเมืองชลบุรี เมื่อถึงข้างขึ้น เดือน ๑๒ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ยกกองทัพเรือขึ้นมาโจมตีทหารพม่า ซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองธนบุรีกับค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา พม่าพ่ายแพ้จนหมดสิ้น แล้วปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี

          ชุมนุมที่ ๒ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิษณุโลก มีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์

          ชุมนุมที่ ๓ พระสังฆราชา (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝางเมืองสวางคบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นเรียกว่า เจ้าพระฝาง มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่อยู่เหนือเมืองพิชัยและติดต่อกับแพร่ น่าน หลวงพระบาง

          ชุมนุมที่ ๔ พระปลัด (เข้าใจกันว่าชื่อหนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเรียกกันว่าเจ้านคร มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่ติดต่อกับชายแดนมลายูขึ้นมาจนเมืองชุมพร

          ชุมนุมที่ ๕ กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งพระพิมายคุมไว้ที่เมืองพิมาย และยกขึ้นเป็นใหญ่ ณ ที่เมืองนั้น เรียกว่าเจ้าพิมาย มีอำนาจปกครองตลอดอาณาเขตของนครราชสีมา เช่น เมืองจันทึก ปักธงชัย บุรีรัมย์  พุทไธสง ชัยภูมิ และภูเขียว เป็นต้น

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยขับไล่พวกพม่าไปจากพระนครศรีอยุธยา และมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานีเรียบร้อยแล้วก็ทรงเริ่มปราบปรามชุมนุมอิสระทั้ง ๔ ดังกล่าวมาโดยยกกองทัพไปตีเมืองพิษณุโลก เมื่อฤดูน้ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๑๑ แต่ไปถูกอาวุธข้าศึกต้องล่าถอยกลับมา พอมาถึงฤดูแล้งในปีชวดนั้น ก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองนครราชสีมา กองทัพกรุงธนบรีที่ยกไปครั้งนี้แบ่งเป็น ๒ กองทัพ กองทัพที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จคุมไปเอง ยกขึ้นไปทางดงพระยาไฟเข้าตีทางด้านตะวันตกทางหนึ่ง ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสรุสิงหนาท เมื่อยังเป็นพระมหามนตรีคุมกองทัพขึ้นไปทางช่องเรือแตก (เข้าใจว่าช่องสะแกราช) เข้าตีทางด้านใต้ทางหนึ่ง ฝ่ายเจ้าพิมายให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (คือพระพิมาย) เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้มองย่าปลัดทัพพม่าที่หนีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปจากพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ปรึกษา คุมกองทัพมาต่อสู้รักษาเขตแดน ครั้งนั้นกำลังรี้พลของเจ้าพิมายเห็นจะมีน้อยไม่พอรักษาป้อมปราการเอาเมืองนครราชสีมาเป็นที่มั่น จึงปรากฏว่ากองทัพเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ที่ด่านจอหอ ข้างเหนือเมืองนครราชสีมาแห่งหนึ่งแล้วให้บุตรซึ่งเป็นที่พระยาวรวงศาธิราชคุมกองทัพมาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ที่ด่านกระโทก (เวลานี้คือ อำเภอโชคชัย) ข้างใต้เมืองนครราชสีมาอีกแห่งหนึ่ง กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ด่านจอหอ จับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ กองทัพพระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ตีค่ายด่านกระโทกแตก พระยาวรวงศาธิราชหนีไปทางเมืองเขมรต่ำ กองทัพพระมหามนตรีกับพระราชวรินทร์ตามไปตีได้เมืองเสียมราฐอีกเมืองหนึ่ง เจ้าพิมายรู้ว่ากองทัพเสียทีก็หลบหนีหมายจะไปอาศัยเมืองเวียงจันทน์ แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาตามจับมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีได้ จึงทรงตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยานครราชสีมา (ต้นสกุลกาญจนาคม) แต่นั้นก็ได้เมืองนครราชสีมามาเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังต้องทำการปราบปรามพวกที่ตั้งเป็นอิสระอื่น ๆ เมื่อปราบปรามได้หมดแล้วยังต้องรบกับพม่า ต่อมาอีกหลายปีจึงมิได้จัดวางรูปการปกครองเมืองนครราชสีมาให้เป็นเขื่อนขัณฑ์มั่งคง เพราะเหตุนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ เวลากรุงธนบุรีกำลังติดพันรบพุ่งกับพม่า คราวอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองเหนือ พระยานางรอง เจ้าเมืองนางรอง อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา ไม่ชอบกับพระยานครราชสีมาแต่เดิม เห็นได้ทีจึงเอาเมืองไปขอขึ้นต่อเจ้าโอ ซึ่งครองเมืองจำปาศักดิ์เป็นอิสระอยู่ในสมัยนั้น ฝ่ายเจ้าโอคาดว่าไทยคงสู้พม่าไม่ได้ก็รับไว้ พระยานางรองก็ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา ครั้นพม่าถอยทัพไปแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระยาจักรี เสด็จไปปราบปรามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปยังเมืองนครราชสีมา แล้วให้กองหน้าไปจับได้ตัวพระยานางรองมาชำระความจึงทราบว่าเจ้าเมืองจำปาศักดิ์กำลังเตรียมกองทัพ จึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีจะขอไปตีเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา

สุรสิงหนาท เมื่อยังดำรงยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพหนุนเข้าไปอีกทัพหนึ่ง เจ้าพระยาทั้งสองยกกองทัพไปตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองทางฟาก แม่น้ำโขงฝั่งซ้ายจนถึงเมืองอัตบือ ได้หัวเมืองทางริมแม่น้ำโขงข้างใต้ตลอดจนต่อแดนกรุงกัมพูชา ซึ่งเวลานั้นเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีอยู่ ได้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดง คือ เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ ก็ยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อไทยทั้ง ๓ เมือง ในครั้งนั้นราชอาณาเขตกรุงธนบุรีขยายต่อออกไปตลอดแผ่นดินสูงในตอนข้างฝ่ายใต้ เมืองนครราชสีมาได้ปกครองบังคับบัญชาเหล่าหัวเมืองที่ได้ใหม่ เมืองนครราชสีมาจึงเป็นเมืองสำคัญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          รัชกาลที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงจัดการปกครองหัวเมืองทางแผ่นดินสูงตอนริมแม่น้ำโขงเป็นประเทศราช ๓ เมือง คือ เมืองเวียงจันทร์ เมืองนครพนม และเมืองนครจำปาศักดิ์ ให้เมืองนครราชสีมาปกครองเมืองเขมรป่าดงและหัวเมืองดอนที่ไม่ได้ขึ้นต่อประเทศราชทั้ง ๓ นั้น และกำกับตรวจตราเมืองประเทศราชเหล่านั้นด้วย แล้วยกฐานะเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศเป็นเจ้าพระยา เจ้าพระนครราชสีมาคนแรก ชื่อเดิมคือ ปิ่น ณ ราชสีมา และในรัชกาลนี้ เมืองนครราชสีมาได้นำช้างเผือก ๒ เชือก ที่คล้องได้ในเขตเมืองภูเขียวขึ้นน้อมเกล้าถวายและได้โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระวางเป็นพระอินทรไอยรา และ พระเทพกุญชรช้าง ซึ่งเสาที่ผูกช้างเผือกเมื่อส่งเข้าเมืองนครราชสีมายังคงเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้าพ่อช้างเผือก อยู่ริมถนนมิตรภาพ ตรงข้ามโรงเรียนสุรนารีวิทยา

          รัชกาลที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๖๒ มีข่าคนหนึ่งชื่อ อ้ายสาเกียดโง้ง ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นที่เมืองสาลวันทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมรวบสมัครพรรคพวกได้หลายพัน ยกทัพมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) สู้ไม่ได้ต้องทิ้งเมืองหนีมา รัชกาลที่ ๒ จึงให้พระยานครราชสีมายกกองทัพออกไปปราบปราม และสั่งเจ้าอนุแต่งกองทัพเมืองเวียงจันทน์ลงมาช่วยปราบปรามด้วยอีกพวกหนึ่ง เจ้าอนุจึงให้ราชบุตร (โย้) ซึ่งเป็นบุตรคุมกองทัพไปถึงเมืองจำปาศักดิ์ก่อนกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าราชบุตรรบชนะพวกขบถจับได้ตัวอ้ายสาเกียดโง้งกับพรรคพวกเป็นอันมาก ส่งเข้ามาถวายยังกรุงเทพฯ เมื่อเสร็จจากการปราบขบถครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชบุตร (โย้)  ให้เป็นเจ้าครองนครจำปาศักดิ์  และทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าอนุ เจ้าอนุจึงมีอำนาจตลอดลำแม่น้ำโขงลงมาจนถึงฝ่ายใต้

          รัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๕ เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้กราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ

          เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ขอครอบครัวลาวที่เมืองสระบุรีซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในคราวสงครามครั้งที่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็ก่อการกบฏโดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าอนุยกกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมาและเข้าโจมตีเมืองนั้น พระยาปลัด (พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย) ผู้รักษาเมืองไม่อยู่ เพราะไปปราบการจราจลที่เมืองขุขันธ์ กองทหารของเจ้าอนุจึงตีเมืองนครราชสีมาได้โดยง่ายและกวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ ในระหว่างการเดินทางคุณหญิงโมภรรยาพระปลัดได้คิดอุบายกับกรมการเมืองให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุตลอดจนเพี้ยรามพิชัย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมให้ความไว้วางใจและพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง แล้วลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัด จนกระทั่งเดินทางมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น คุณหญิงโมได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุราไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง พอตกดึกก็พร้อมกันจับอาวุธไล่ฆ่าทหารเวียงจันทน์ตายเป็นจำนวนมาก แล้วหาชัยภูมิตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นั้น เจ้าอนุทราบข่าวก็ให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ ๓,๒๐๐ คน และทหารม้าประมาณ ๔,๐๐๐ คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน แต่คุณหญิงโมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตีกองทัพพวกเวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ วีรกรรมที่คุณหญิงโมได้ประกอบขึ้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาคุณหญิงโมดำรงฐานันดรศักดิ์ เป็นท้าวสุรนารี และพระราชทานเครื่องยศทองคำประดับเกียรติ ดังนี้

          - ถาดทองคำใส่เชี่ยนหมาก                 ๑  ใบ

          - จอกหมากทองคำ                          ๑  คู่

          - ตลับทองคำ                       ๓  เถา

          - เต้าปูนทองคำ                    ๑  อัน

          - คณโฑทองคำ                     ๑  ใบ

          - ขันน้ำทองคำ                      ๑  ใบ

          ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ กองทัพนครราชสีมาได้เป็นกำลังสำคัญในการทำสงครามกับญวนในดินแดนเขมร เพื่อขับไล่ญวนออกจากเขมร เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ได้ร่วมกับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทำการรบด้วยความสามารถ

          ปี พ.ศ. ๒๓๗๗ เจ้าพระยานครราชสีมาได้นำช้างพลายเผือกหางดำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเป็น พระยามงคลนาดินทร์

          ปี พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาทำนุบำรุงเมืองพระตะบองให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยนำชาวเมืองนครราชสีมาจำนวน ๒,๐๐๐ คน ไปปฎิบัติงานด้วยความเรียบร้อย

          ปี พ.ศ. ๒๓๘๓ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) พร้อมด้วยบุตร (พระยาภักดีนุชิต) คุมกำลังพลไปปรามกบฏนักองค์อิ่มที่เมืองพระตะบอง เพราะนักองค์อิ่มได้ปกครองเมืองพระตะบองแทนพระยาอภัยภูเบศร์ แล้วคิดกบฏไปฝักใฝ่กับญวณ โดยจับกุมกรรมการเมืองพระตะบอง รวมทั้งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมา (พระยาราชานุชิต) และกวาดต้อนครอบครัวหนีไป ทัพจากนครราชสีมาขับเคี่ยวจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๖ เจ้าพระยานครราชสีมาได้ล้มป่วยจึงกลับมาพักรักษาตัวที่เมืองนครราชสีมา ทำให้การรบยืดเยื้อต่อไปอีกซึ่งการทำสงครามกับญวนนี้เมืองนครราชสีมาเป็นกำลังสำคัญของราชการทัพมาโดยตลอด

          ปี พ.ศ. ๒๓๘๗ เมืองนครราชสีมาได้นำช้างพลาย ๓ เชือก น้อมเกล้าถวายรัชกาลที่ ๓ คือ พลายบาน พลายเยียว พลายแลม

          ปี พ.ศ. ๒๓๘๘ ได้นำช้างพลาย ๒ เชือก น้อมเกล้าถวายรัชกาลที่ ๓ อีกครั้ง คือ พลาย

อุเทน และพลายสาร

          รัชกาลที่ ๔ เมืองนครราชสีมามีความเจริญมากขึ้น เป็นศูนย์กลางการค้าขายของหัวเมืองทางตะวันออก เพราะมีสินค้าที่พ่อค้าต้องการมาก เช่น หนังสัตว์ เขาสัตว์ นอแรด งา และไหม พวกพ่อค้าเดินทางมาซื้อสินค้าเหล่านี้แล้วส่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ และซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯ มาจำหน่ายในหัวเมืองตะวันออกโดยตลาดกลางอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

          ในรัชกาลนี้ ทรงปรารภว่าควรจะมีราชธานีห่างทะเลไว้อีกสัก ๑ แห่ง ทรงพระราชดำริว่าควรเป็นเมืองนครราชสีมา จึงโปรดเกล้าให้พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงตรวจภูมิประเทศพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมเมื่อได้ทรงตรวจพิจารณาแล้วทรงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะเมืองนครราชสีมาอัตคัตน้ำและการคมนาคมก็ยังลำบาก รัชกาลที่ ๔ จึงทรงเปลี่ยนพระทัยมาสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีแทน และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกราบทูลขอให้เปลี่ยนนามการเรียกดงพระยาไฟเสียใหม่ว่าดงพระยาเย็น เพื่อไม่ให้คนครั่นคร้ามหรือไม่กล้าเดินทางผ่านเข้าไป

          รัชกาลที่ ๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๗ พวกฮ่อได้เข้ามารุกรานเมืองหนองคายหลายครั้ง และเมืองนครราชสีมาก็เป็นกำลังสำคัญในการจัดกำลังทัพไปปราบฮ่อ

          ส่วนวิธีการปกครองเมืองนครราชสีมา ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อ ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) โดยโปรดฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงเป็น ๓ มณฑล คือ

๑. มณฑลลาวพวน มี เมืองหนองคายเป็นที่ว่าการมณฑล

๒. มณฑลลาวกาว มี เมืองนครจำปาศักดิ์เป็นที่ว่าการมณฑล

๓. มณฑลลาวกลาง มี เมืองนครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑล

 

สำหรับมณฑลลาวกลางนั้นมีกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ ต่อมาเมื่อได้

จัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาบทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ให้เปลี่ยนนามมณฑลทั้ง ๓ เสียใหม่ คือ มณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร , มณฑลลาวกาว เป็น มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล มณฑลลาวกลาง เป็นมณฑลนครราชสีมา

          ในด้านการคมนาคม ได้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ซึ่งเป็นทางรถไฟของรัฐบาลสายแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเปิดทางรถไฟเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเมืองนครราชสีมาจนเท่าทุกวันนี้

          เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาในรัชกาลนี้คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และต่อมาได้มีการทดลองการเกณฑ์ทหารแบบใหม่ที่มณฑลนครราชสีมาเป็นแห่งแรก ปรากฏว่าได้ผลดีจึงขยายไปยังมณฑลอื่น ๆ

          รัชกาลที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เสด็จกรมทหารม้าที่ ๕ ที่มณฑลนครราชสีมา และทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา

          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต

เสนาธิการทหารบก เสด็จตรวจราชการทหารที่มณฑลนครราชสีมา

          รัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วได้ยกเลิกการจัดทำเมืองมณฑลเทศาภิบาลและจัดใหม่เป็นภาค มณฑลนครราชสีมาเปลี่ยนเป็นภาคที่ ๓ มีหัวเมืองอยู่ในความปกครอง ๖ จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี  ตั้งที่ว่าการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

          ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดกบฏบวรเดช โดยมีพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดนครราชสีมาเป็นกองบัญชาการ เพื่อรวบรวมกำลังพลในการที่จะเข้ายึดพระนครเพื่อบังคับให้คณะรัฐบาลของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก ในการก่อการกบฏครั้งนี้ข้าราชการเมืองนครราชสีมาส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวไว้         ส่วนประชาชนถูก

หลอกลวงว่าได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในพระนคร ทหารจึงจำเป็นต้องไประงับเหตุการณ์ ต่อเมื่อได้ทราบแถลงการณ์จากรัฐบาล จึงเข้าใจว่าการกระทำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นกบฏ ดังนั้นข้าราชการที่ถูกคุมขังจึงพยายามหลบหนีจากที่คุมขังแล้วรวมกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญเพื่อร่วมมือกับทางรัฐบาล ในการปราบปรามกบฏ

          ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พันโท หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับการในการปราบปรามกบฏครั้งนี้และทำได้สำเร็จ หัวหน้ากบฏได้หลบหนีเอาตัวรอดไปอยู่ที่ไซ่ง่อน ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

          รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแรก และได้ประทับแรมที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ

พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมพสกนิกรชาวเมืองนครราชสีมาอีกหลายครั้ง เช่น เสด็จทอดพระเนตรการเรียนการสอนหลักสูตรมัธยมแบบประสมที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา , เสด็จทำพิธีเปิดอาคารเรียนโรงเรียนบุญวัฒนา เป็นต้น ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวนครราชสีมาเป็นล้นพ้น

 

สมัยการจัดรูปการปกครองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

          การจัดรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค   ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้นในส่วนภูมิภาค

          สมัยสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงจัดให้อำนาจการปกครองซึ่งกระจัดกระจายอยู่เข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง คือมิให้การบังคับบัญชาไปอยู่ที่เจ้าเมืองเพียงคนเดียว (ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง)

          ระบอบการปกครองแบบเทศาภิบาล เริ่มจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ และ สำเร็จทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยมีความจำเป็นมาดังนี้

          วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงแบ่งหน้าที่ระหว่างมหาดไทยและกลาโหมเสียใหม่ โดยให้มหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวง จึงรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล (ยังไม่เป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล) มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครองมณฑล จัดตั้งครั้งแรกมี ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง (หรือมณฑลพายัพ) มณฑลลาวพวน (หรือมณฑลอุดร) มณฑลลาวกาว (หรือมณฑลอีสาน) มณฑลเขมร (หรือมณฑลบูรพา) มณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

          พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีมณฑลเทศาภิบาลขึ้นทั้งสิ้น 3 มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลนครราชสีมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพจากมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ได้สำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ และยกเลิกมณฑล จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร

          พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖  โดยมีสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ

          ๑. จังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล

          ๒. อำนาจบริหารในจังหวัด เป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด

          ๓. คณะกรมการจังหวัด เดิมเป็นคณะบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ

          แผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

          ต่อมา ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ

          จังหวัดให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

          ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๐ อำเภอ กับ ๒ กิ่งอำเภอ คือ

            ๑. อำเภอเมืองนครราชสีมา               ๒.  อำเภอโชคชัย

            ๓. อำเภอครบุรี                            ๔.  อำเภอเสิงสาง

            ๕. อำเภอปักธงชัย                        ๖.  อำเภอปากช่อง

            ๗. อำเภอสีคิ้ว                    ๘.  อำเภอด่านขุนทด

            ๙. อำเภอสูงเนิน                           ๑๐. อำเภอขามทะเลสอ

          ๑๑. อำเภอโนนไทย                         ๑๒. อำเภอขามสะแกแสง

          ๑๓. อำเภอโนนสูง                           ๑๔. อำเภอบัวใหญ่

          ๑๕. อำเภอประทาย                         ๑๖. อำเภอคง

          ๑๗. อำเภอพิมาย                            ๑๘. อำเภอห้วยแถลง

          ๑๙. อำเภอจักราช                           ๒๐. อำเภอชุมพวง

          ๒๑. กิ่งอำเภอบ้านเหลื่อม                            ๒๒. กิ่งอำเภอหนองบุนนาก

ประวัติศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์

 

เมืองกาฬสินธุ์ หรือจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "เมือง" ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงนี้มีความกล่าวว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวละว้า และได้เคยตกอยู่ในอำนาจของพม่า

สมัยกรุงธนบุรี

ในช่วงนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อการตั้งเมืองกาฬสินธุ์เป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐  พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ลง โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสน ได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ประสบความสำเร็จ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระนามว่า "พระเจ้าศิริบุญสาร"

เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนประชาราษฎร์ให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ดังนั้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ท้าวโสมพะมิตร และอุปฮาดเมืองแสนฆ้อนโปง เมืองแสนหน้าง้ำ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนคร  เวียงจันทน์จึงได้รวบรวมผู้คนที่เป็นสมัครพรรคพวกอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวบริเวณลุ่มน้ำก่ำแถบบ้านพรรณา หนองหาร ธาตุเชียงชุม เมืองพรรณานิคม ซึ่งเป็น หมู่บ้าน และอำเภอของจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน

ครั้นต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา เพื่อกวาดต้อนผู้คนที่หลบหนีมา ให้กลับคืนสู่นครเวียงจันทน์ ทำให้ท้าวโสมพะมิตรและพรรคพวกต้องอพยพต่อไปและได้แบ่งแยกเป็น ๒ สาย

สายที่ ๑

โดยมีเมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกบ่าวไพร่ บุตรหลาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก สมทบกับพระวอ พระตา ซึ่งแตกทัพมาจากเมืองนครเขื่อนขันท์กาบแก้วบัวบาน (เมืองหนองบัวลำภู) พระตาถูกปืนข้าศึกตายในสนามรบ พระวอกับเมืองแสนหน้าง้ำ รวบรวมไพร่พลที่เหลือหลบหนีไปจนกระทั่งถึงนครจำปาศักดิ์ และได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายพอพึ่งบารมีของพระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงรับสั่งไปตั้งอยู่ ณ ดอนค้อนกอง พระวอจึงสร้างค่ายขุดคูขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึก เรียกค่ายนั้นในเวลาต่อมาว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ใน พ.ศ. ๒๕๒๑ พระเจ้าศิริบุญสารยังมีความโกรธแค้นไม่หาย จึงแต่งตั้งให้เพี้ยสรรคสุโภย ยกกองทัพกำลังหมื่นเศษติดตามลงมา เพื่อจับ พระวอและพรรคพวก พระวอได้ยกกำลังออกต่อสู้ด้วยความห้าวหาญยิ่ง แต่สู้กำลังที่เหนือกว่าไม่ได้จนวาระสุดท้ายได้ถึงแก่ความตาย ณ ค่ายบ้านดู่บ้านแกนั่นเอง ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำผู้เป็นบุตรหลาน ได้พาผู้คนที่เหลือหลบหนีเข้าไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูลมี ชื่อว่า "ดอนมดแดง" อยู่ในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน

 

สายที่ ๒

ท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า ได้พาสมัครพรรคพวกยกพลข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ขณะที่ให้ผู้คนจัดสร้างที่พักอยู่นั้น ท้าวโสมพะมิตรได้สำรวจผู้คนของตน ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ คน (ครึ่งหรือกลางหมื่นเหมือนชื่อหมู่บ้านปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์) และท้าวโสมพะมิตรได้ส่งท้าวตรัยและผู้รู้หลายท่านออกเสาะหาชัยภูมิ เลือกทำเลที่จะสร้างเมืองใหม่ ท้าวตรัยและคณะใช้เวลาสำรวจอยู่ประมาณปีเศษ จึงได้พบทำเลอันเหมาะสม คือได้พบลำน้ำปาว และเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือย มีดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ควรแก่ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และได้จัดสร้างหลักเมืองขึ้น ณ ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน โดยตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใคร อยู่มาได้ประมาณ ๑๐ ปีเศษ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามาก ท้าวโสมพะมิตรเห็นเป็นโอกาสดีจึงได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ และกราบทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง   ปี พ.ศ. ๒๓๓๔ โดยถือเอานิมิตเมืองพรรณานิคมและเมืองหนองหาญธาตุเชิงชุม อันเป็นเมืองเดิมใช้ลุ่มน้ำก่ำ เป็นแหล่งประกอบอาชีพ ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่าแม่น้ำ "ก่ำ" แปลว่า "ดำ" นั่นเอง ประกอบกับครั้งนั้นท้าวโสมพะมิตรได้นำกาน้ำสัมฤทธิ์ทูลเกล้าถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ากระหม่อมให้ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า "กาฬสินธุ์" เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็นพระยาชัยสุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก และผู้คนในถิ่นนี้จึงได้นามว่า "ชาวกาฬสินธุ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีคำกลอนเป็นภาษาถิ่นกล่าวอ้างไว้ว่า

"กาฬสินธุ์นี้ดำดินน้ำสุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข่แก่งหาง ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น

จั๊กจั่นฮ้องคือฟ้าล่วงบน แตกจ่น ๆ คนปีบโฮแซว เมืองนี้มีสู่แนวแอ่นระบำฟ้อน" หมายถึงกาฬสินธุ์ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก มีดินดี น้ำดี ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ประชาชนมีความสุข      สดชื่นรื่นเริงทั่วไป

ในครั้งนั้น ท้าวโสมพะมิตร (พระยาชัยสุนทร) ได้ปกครองอาณาประชาราษฎร์ ในเขตดินแดนด้วยความร่มเย็นเป็นสุขด้วยดีเสมอมา จนกระทั่งท้าวโสมพะมิตร (พระยาชัยสมุทร) ได้ถึงแก่      นิจกรรม เมื่ออายุ ๗๐ ปี ท้าวหมาแพงบุตรอุปฮาดเมืองแสนฆ้อนโปง ได้รับพระราชทานเป็นพระยาชัย -สุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์แทน ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๘ และยังได้โปรดเกล้าให้ท้าวหมาสุ่ยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวหมาฟองเป็นราชวงศ์ ครั้นต่อมาเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ ได้มาเกลี้ยกล่อมท้าวหมาแพงให้ร่วมด้วย แต่ท้าวหมาแพงและชาวเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งมวลยังมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ท้าวหมาแพงถูกทารุณเฆี่ยนตีและตัดหัวเสียบประจาน ณ ทุ่งหนองหอย ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๖๙

เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางกรุงเทพมหานคร จึงได้มอบให้พระยาราชสุภาวดี (พระยาบดินทร์เดชา) ยกกองทัพขึ้นไปปราบเมืองเวียงจันทน์จนมีชัยชนะแล้วกวาดต้อน    ผู้คนเมืองลาวมารวมกันอยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์เป็นจำนวนมาก และได้โปรดเกล้าแต่งตั้ง ท้าวบุตรเจียม บ้านขามเปีย ซึ่งมีความชอบต่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา คือจัดส่งเสบียง ครั้งตีเมืองเวียงจันทน์ขึ้นเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และแต่งตั้งท้าวหล้าขึ้นเป็นอุปฮาด และท้าวอินทิสารผู้เป็นมิตรสหายของท้าวหล้าขึ้นเป็นที่ราชวงศ์ แล้วแต่งตั้ง ท้าวเชียงพิมพ์ขึ้นเป็นราชบุตร ครั้นโปรดเกล้าฯ จัดแจงแต่งตั้ง  เจ้าเมืองกรมการเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งปวงเสร็จแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแม่ทัพจึงยกทัพกลับไป

การปกครองบ้านเมืองในระบอบมณฑลเทศาภิบาล

พระยาชัยสุนทร (ท้าวบุตรเจียม) ได้ปกครองบ้านเมืองโดยเรียบร้อยต่อมาจนถึงสมัย  พระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และมีพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์

จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๕๖ ได้ทรงพระกรุณายกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้จังหวัดมีอำนาจปกครองอำเภอ คือให้อำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด ขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และให้จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด ให้พระภิรมย์บุรีรักษ์ เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

ต่อมามีเหตุการณ์สำคัญ คือเกิดข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถ- เปศลสรวดี เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ) เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดังนี้

  • จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เดิมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
  • อำนาจการบริหารจังหวัดเดิมเป็นของคณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนมาเป็นมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ในฐานะกรมการจังหวัด เดิมมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ในที่สุดได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

 

๑. จังหวัด

๒. อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของ ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

ประวัติศาสตร์จังหวัดขอนแก่น

 

          อาณาบริเวณซึ่งมีพื้นที่ ๑๓,๔๐๓.๙๖๕ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๑๖ อำเภอ ๔ กิ่งอำเภอ ๑๖๐ ตำบล ๑,๗๔๙ หมู่บ้าน ประชากร ๑,๕๒๐,๖๑๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จังหวัดขอนแก่น มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่แพ้ท้องถิ่นใด ดังหัวข้อต่อไปนี้

 

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

          หลักฐานการสำรวจบริเวณโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง

แม้ว่าตัวที่ตั้งจังหวัดพึ่งเป็นเมืองขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ไม่เก่าแก่เท่าสุโขทัย นครวัด โรม เอเธนส์ แต่เรื่องที่น่าสนใจยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ และมานุษย์วิทยานั้นปรากฏว่าอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นเคยเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยตั้งบ้านเรือนเจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรมสูงส่งมาหลายพันปีแล้ว ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คือยุคหินใหม่ ยุคโลหะตอนต้นได้แก่ ยุคสำริด จากรายงานของ วิลเฮล์ม จี โซลโฮม์ เรื่อง Early-Bronze in Northeastern Thailand (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๐) มีข้อความสำคัญว่าในการสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณวัตถุ ซึ่งน้ำอาจท่วมถึงในอาณาเขตเขื่อนพองหนีบได้รับความสำเร็จที่น่าภาคภูมิยิ่งคือ บริเวณโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้ทำการขุดค้นป่าช้าโบราณดึกดำบรรพ์ พบชั้นดิน ๘ ชั้น เรียงกันอยู่ใต้ดินอีก ๑๒ ชั้น ในชั้นดิน ๘ ชั้น มีหลักฐานที่แน่นอนบ่งถึงการทำเครื่องสำริด ส่วนในชั้นดินอีก ๑๒ ชั้น พบทั้งเครื่องสำริดและเหล็ก เครื่องสำริดพบเป็นครั้งแรกในชั้นดินที่ ๒๐ การกำหนดอายุโดยพิสูจน์คาร์บอน ๑๔ จากชั้นดินที่ ๑๙ ปรากฏว่ามีอายุ ๔,๒๗๕  ±  ๒๐๐ ปี มาแล้ว (คืออาจคลาดเคลื่อนได้ไม่มากนักไม่น้อยเกิน ๒๐๐ ปี) หมายความว่าได้มีการทำเครื่องสำริดที่นั่นมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี ก่อนที่จะเริ่มทำเครื่องสำริดที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชาง และก่อนที่เจ้าของวัฒนธรรมฮาร์ปปาในลุ่มแม่น้ำสินธุ ประเทศอินเดีย จะเริ่มทำเครื่องสำริดเกือบหรือกว่า ๑๐๐ ปี

เครื่องสำริดต่าง ๆ ที่ขุดค้นได้ในบริเวณหลุมฝังศพดึกดำบรรพ์แห่งนี้ได้นำออกแสดงไว้แล้วที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ มีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้เป็นขวาน รวมตลอดทั้งแบบพิมพ์ที่ใช้หล่อ มีกำไลแขนสำริดคล้องอยู่กระดูกท่อนแขนซ้อนกันหลายวง มีปลายหอก มีภาชนะลักษณะคล้ายตะเกียงหรือกาน้ำ นอกจากสำริดยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินขัดหลายชิ้น ในการขุดค้นสองครั้ง ครั้งหลังสุด มีผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาวายกำลังทำการสำรวจอยู่ ในการสำรวจปีที่ ๒ ได้ขุดตรวจบริเวณส่วนระดับดินตอนบนมีการเผาศพ (คงเป็นระยะที่นับถือพุทธศาสนาแล้ว) ระดับต่ำลงไปเป็นการฝังศพในลักษณะยาวเหยียดตรง เครื่องประดับที่โครงกระดูกบางชิ้นเป็นหินประเภทรัตนชาติมีหม้อดินวางอยู่บนอกบนหัว บางศพก็วางอยู่ระหว่างขา หม้อดินเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผา มีลายเชือก ทาบและลายเส้นทแยง บางใบก็มีปุ่มที่คอคล้ายเขาสัตว์ จัดว่าเป็นลวดลายเก่าแก่ที่สุด เพราะว่าส่วนมากเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ พบขวานสำริดมีบ้องและเครื่องมือสำริดรูปคล้ายตัว (T) เครื่องประดับกายมีลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย กำไลทำด้วยเปลือกหอย รวมทั้งได้พบแวเหล็กไน แสดงว่ามีการปั่นด้าย ทอผ้าใช้ในยุคนั้นแล้ว

หัวขวานทองแดง อายุประมาณ ๔,๖๐๐ ปี ถึง ๔,๘๐๐ ปี เป็นหัวขวานหัวเดียวที่พบในประเทศไทย และเป็นหัวขวานที่ทำจากทองแดงที่ไม่ได้ถลุง นำมาทุบให้เป็นหัวขวานมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์

ห่างจากที่ขุดค้นในป่าช้าบริเวณโนนนกทาไปประมาณไม่เกินสองกิโลเมตร มีบริเวณแห่งหนึ่งเรียกชื่อว่า "โนนข่า" มีลักษณะเป็นเนินอาณาเขตกว้างขวางสันนิษฐานว่าเป็นจุดที่ตั้งบ้านเมืองเพราะซากเศษของเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบเกลื่อนไปหมด

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ที่ถ้ำฝ่ามือแดง บ้านหินหล่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง ที่ผนังถ้ำมีภาพฝ่ามือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ๙ มือ เป็นมือขนาดใหญ่ ๗ มือ มือขนาดเด็ก ๒ มือ รูปมือเหล่านี้เป็นแบบพ่นสีแดงรอบมือซึ่งต่างกับบางแห่งที่ใช้สีแดงทามือแล้วทาบ หรือประทับลงไปในหิน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่างานศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำในลักษณะแบบนี้เป็นวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์

จากหลักฐานข้างต้นนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีอายุนานกว่าจีน และอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี (เพราะเครื่องมือบางชิ้นผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่ามีอายุกว่า ๖,๐๐๐ ปี) ชุดสำรวจรุ่นแรกมีความเห็นว่าเป็นบริเวณที่น่าศึกษามากที่สุด แม้จะตั้งสถาบันค้นคว้ากันจริง ๆ ใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ก็อาจจะยังไม่เสร็จ

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

สมัยทวาราวดี

บริเวณบ้านโนนเมือง และวัดป่าพระนอน ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ เป็นที่ดอนสูงกว้างใหญ่ซึ่งแวดล้อมด้วยที่ลุ่ม หนอง บึง ลักษณะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ กว้าง และยาวมากอยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ มีโคกเนินที่เป็นโบราณสถาน มีเศษอิฐและกระเบื้องอยู่บนผิวดินทั่วไป และรูปสี่เหลี่ยมแบน ที่ฐานมีลวดลายในลักษณะต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เป็นจำนวนมากมีรอยสลักเป็นรูปกลีบบัวกลีบเดียวหรือสองกลีบ

แท่งหินสำคัญที่สุดชาวบ้านเรียกว่าเสาหลักเมือง เป็นรูปทรงกลม มีรอยจารึกซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวอักษรมอญโบราณ ยังไม่มีการถอดเป็นภาษาปัจจุบัน

มีผู้เคลื่อนย้ายแท่งหินในเมืองโบราณแห่งนี้ไปไว้หลายแห่ง เช่น นำเอาไปทำเป็นหลักเมืองขอนแก่น หลักหินแท่งนี้มีขนาดกว้างด้านละ ๔๒ ซม. สูง ๑.๓๔ ม. มีรูปกลีบบัวสี่กลีบที่ฐาน มีผู้นำใบเสมาแท่งหินไปไว้ยังวัดต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น วัดโพธิธาติ ตำบลชุมแพ เป็นแบบแผ่นหินขนาดหนา ๒๒ ซม. กว้าง ๔๘ ซม. สูง ๗๘ ซม. แกะสลักเป็นรูปกลีบบัวที่ฐานนำไปอยู่วัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น ๒ หลัก หลักหนึ่ง เป็นแบบแท่งหินมีขนาดหนา ๕๐ ซม. กว้าง ๖๐ ซม. สูง ๑.๗๕ ม. มีจารึกอยู่ด้วย ฐานเสมาแกะเป็นรูปกลีบบัว ส่วนอีกหลักหนึ่งเป็นแบบแผ่นหินไม่มีจารึก มีขนาดหนา ๒๕ ซม. กว้าง ๗๕ ซม. สูง ๑.๗๐ ม. ส่วนหลักอื่น ๆ ได้ถูกนำไปไว้ที่อำเภอภูเวียง อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่

ในเขตวัดป่าพระนอน อาณาบริเวณเดียวกัน อยู่ทางตะวันตกของเมืองราวครึ่งกิโลเมตร บริเวณวัดเป็นที่ดอนสูง มีพระนอนหินสีน้ำตาลขนาดยาว ๕.๒๖ ม. องค์หนึ่ง หันพระเศียรไปทางใต้ (สังเกตดูคงจะเป็นพระยืนอุ้มบาตร ภายหลังล้มลง) ลักษณะเป็นศิลปะแบบทวาราวดี ฝีมือช่างพื้นเมือง การวางพระหัตถ์แนบพระวรกาย มีลักษณะเช่นเดียวกับพระนอนที่พบในเมืองเสมา ในเขตอำเภอสูง-เนิน นครราชสีมา นอกนั้นพบชิ้นส่วนของพระแบบลพบุรี หรือแบบขอม สร้างด้วยหินทรายสีแดงในบริเวณวัดด้วย

เมืองโบราณแห่งนี้ กรมศิลปากรกำลังทำการขุดค้น ได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณฝังอยู่อย่างเป็นระเบียบ มีโบราณวัตถุหลายอย่างฝังรวมอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีคนอยู่อาศัยมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวาราวดี ตลอดจนสมัยขอมด้วย กรมศิลปากรกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติขึ้นแล้ว

บริเวณยอดเขาภูเวียง ระหว่างเขตอำเภอชุมแพ และอำเภอภูเวียง บนเทือกเขาภูเวียง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปวงกลม โอบล้อมหมู่บ้านถึง ๓ ตำบล ไว้ภายในนั้น มีพระพุทธรูปแบบทวาราวดี และที่สำคัญคือพระนอนสลักอยู่บนหน้าผาบนยอดเขาลูกนี้ มีขนาดยาว ๓.๗๕ ม. หันพระเศียรไปทางตะวันตกและหันพระพักตร์ไปทางใต้ ช่วงตอนพระเศียรถึงหน้าอกสลักในลักษณะนูนสูง ส่วนบริเวณต่ำจากบั้นเอวลงมาสลักนูนต่ำ  ลักษณะพระพักตร์เป็นศิลปะแบบทวาราวดีในท้องถิ่น คล้าย ๆ  กันกับพระพุทธรูปแบบทวาราวดีที่พบในเขตชัยภูมิหลายองค์   ลักษณะการนอนนั้นละม้ายทางพระนอนเชิงภู  ที่ภูปอ  จังหวัดกาฬสินธุ์มาก   มีรอยจารึกบนแผ่นผา   ถัดจากพระเศียรไปเล็กน้อย  ใต้แผ่นผาที่สลักพระนอนมีถ้ำเพิงผา ๒ แห่ง อยู่เยื้องมาทางตะวันออกแห่งหนึ่งพอเป็นที่พักพิงได้ เข้าใจว่าแต่ก่อนคงมีพระภิกษุขึ้นไปจำศีล

การพบพระนอนแบบทวาราวดีที่ภูเวียงนี้ทำให้ได้เห็นคติการสร้างสลักพระนอนบนแผ่นผาในภาคอีสานอย่างชัดเจนว่าเป็นคติที่พบในบริเวณลุ่มน้ำชี ซึ่งมีการนับถือพระพุทธศาสนาติดต่อกันมาแต่เดิม โดยปราศจากการเจือปนของวัฒนธรรมขอม

เสมาหินที่เมืองชัยวาน เขตอำเภอมัญจาคีรี พบกลุ่มเสมาหินบริเวณเมืองร้างสมัยทวาราวดีที่มีชื่อว่าเมืองชัยวาน เสมาเหล่านี้ปักกระจายกันอยู่ในบริเวณเมืองเป็นจุด ๆ เอาตำแหน่งทิศทางแน่นอนไม่ได้ ลักษณะเสมาเป็นแบบแผ่นหิน บางแห่งปักเป็นคู่ ๆ ในเขตเมืองนี้ยังมีแผ่นหินขนาดใหญ่แผ่นหนึ่ง มีการสลักเป็นรูปได้มีขอบเป็นหลัก ๆ ลวดลายบนแผ่นหินเป็นแบบทวาราวดี และอีกแผ่นหนึ่งได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในศาลามีลวดลายกนก และก้านขดอยู่เหนือฐาน

เสมาหิน ในภาคอีสานจัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีหรือสมัยขอมขึ้นไปเสมาหินเป็นโบราณวัตถุสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนภาคอีสานเคยมีวัฒน-ธรรมเก่าแก่เป็นของตนเองมาก่อน

ความเป็นมาของแท่งหินหรือเสาหินแต่เดิมคงเป็นเรื่องของหินตั้ง ซึ่งเป็นประเพณีและลัทธิเนื่องในการนับถือบรรพบุรุษ อันเป็นระบบความเชื่อที่มีอยู่ทั่วไปของประชาชนในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์

ต่อมาเสมาหินกลายเป็นของเนื่องในพุทธศาสนา ในสมัยแรกชาวอีสานไม่ใคร่นิยมสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบูชา ส่วนมากจะปักลงเสมาหินรอบ ๆ เนินดิน หรือปักเสมาหินให้ทำหน้าที่เป็นหลักเขตของบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ใบเสมาของโบสถ์ เป็นต้น

 

เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดรองจากนครปฐมโบราณ

จากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณหลายเมือง อยู่ใกล้กับลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของลำน้ำชี เมืองที่ควรกล่าวถึงคือเมืองโบราณที่วัดศรีเมืองแอม ในเขตอำเภอน้ำพอง ตัวเมืองตั้งอยู่เหนือลำน้ำพองขึ้นมา ๙ กม. ตำแหน่งในทางภูมิศาสตร์ อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๔๙´ตะวันออก ลักษณะเมืองเป็นรูปเหลี่ยมมน ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ เมืองนี้มีขนาด ๒,๙๐๐ x ๓,๐๐๐ ม. ซึ่งเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานที่ได้พบเห็นมาในประเทศไทยเท่าที่เห็นเป็นรองอยู่ก็เฉพาะเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) เท่านั้น ภายในหมู่บ้านตั้งอยู่คือบ้านดงเมืองแอม และบ้านโนนขี้ผึ้งทางตะวันตก บ้านดงเฮียงทางด้านตะวันออกและมีวัดศรีเมืองแอมอยู่บริเวณกลางเมือง เมืองแอมนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มตอนเหนือตัวเมืองขึ้นไปเป็นที่ดอนสูงเป็นที่ลุ่มเล็กน้อย มีลำน้ำอีกสายหนึ่งซึ่งแยกจากลำน้ำห้วยเสือเต้นในบริเวณตัวเมืองทางเหนือ ผ่านคูเมืองด้านตะวันออกไปเรียกว่าลำน้ำห้วยคำม่วง

ภายในเมืองทางด้านตะวันตกมีร่องรอยของคันดินที่วกจากคูเมืองด้านตะวันตกออกมาบรรจบกันเป็นรูปกลมรี ทำให้เมืองแอมกลายเป็นเมืองมี ๒ เมืองซ้อนกันอยู่ ลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมดาของเมืองโบราณในอีสาน คันดินรูปกลมรีภายในตัวเมืองอาจจะเป็นเมืองเดิม ส่วนตัวเมืองใหญ่อาจจะมาขยายในตอนหลังหรือไม่ก็เป็นเมืองรุ่นเดียวกัน  แต่จัดให้มีคูน้ำและคันดินรูปกลมรีภายในเพื่อการ    ชลประทานชักน้ำเข้าใช้ในเมือง จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่าเมืองแอม อาศัยน้ำจากลำห้วยเสือเต้นที่ไหลจากที่สูงทางเหนือของตัวเมือง เข้ามาใช้ในคูเมืองและมีคันดินตัดเป็นช่อง ๆ ระหว่าง     คูเมืองกับคันดินที่แล่นขนาน แสดงให้เห็นว่าเป็นอ่างเก็บน้ำ เมืองแอมนี้ยังไม่ได้มีการสำรวจกัน แต่ลักษณะของเมืองควรมีอายุในสมัยทวาราวดีลงมา

ห่างจากเมืองแอมลงไปทางใต้เพียง ๔๐๐ เมตร มีเมืองโบราณรูปหัวเหลี่ยมยาวรีตั้งขนานไปกับลำห้วยเสือเต้นที่ไหลผ่านตัวเมืองแอมลงมา มีขนาด ๒,๓๐๐ x ๖๐๐ เมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๔๘´ เหนือเส้นแวงที่ ๑๐๒ํ ๔๗´ ตะวันออก ตอนส่วนยอดของเมืองนี้มีหมู่บ้านคำท่าโพตั้งอยู่ ห่างจากเมืองนี้ไปทางตะวันตกราว ๘๐๐ เมตร มีวัดโนนดงมัน และหมู่บ้านโนนดงมัน จากลักษณะผังเมืองที่เป็นรูปเหลี่ยมมีระเบียบแสดงให้เห็นว่า ควรเป็นเมืองในสมัยหลังลงมาอย่างน้อยก็คงมีอายุอยู่ในราวสมัยลพบุรี ที่น่าสนใจสำหรับเมืองนี้ก็คือเมืองที่หมู่บ้านค้อท่าโพมีผังเมืองเป็นแบบเดียวกันกับเมืองกำแพงเพชร คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีโงนไปตามลำน้ำเช่นกัน ความคล้ายคลึงกันของลักษณะผังเมืองทั้งสองควรได้มีการศึกษาเปรียบเทียบให้ทราบถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองในภาคกลางกับเมืองในอีสานสมัยโบราณเป็นอย่างยิ่ง

ต่ำจากเมืองแอมลงไปตามลำน้ำพอง ซึ่งหักวกลงใต้ที่บ้านโคกสูง ทางด้านตะวันออกของลำน้ำใกล้กับบ้านท่าเกษมและบ้านจำปา ตรวจพบเมืองโบราณรูปกลมจากภาพถ่ายทางอากาศเมืองหนึ่ง มีขนาด ๗๐๐ x ๘๐๐ เมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๓๗´ ๓๐´´ เหนือและเส้นแวงที่ ๑๐๒ํ ๕๓´ ตะวันออก ลักษณะเป็นเมืองสองชั้น เช่นเมืองโบราณส่วนมากในอีสาน คือมีวงกลมอยู่ภายในวงกลมชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง มีคูน้ำกว้างมาก ตัวเมืองตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มต่ำ อันเป็นบริเวณที่ลำน้ำพองคดเคี้ยวเปลี่ยนทางเดิน มีลำน้ำด้านที่เรียกว่า Ox bow Lake มากมาย คูเมืองด้านตะวันออกกว้าง และอยู่ติดกับที่ลุ่มชาวบ้านเรียกว่า หนองงู และห่างจากตัวเมืองลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๑,๕๐๐ เมตร มีบึงน้ำกว้างใหญ่ ชื่อหนองแม่ชัด หนองนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำพองอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากตัวเมืองหนองงู มีร่องรอยคันดินออกไปติดต่อกับบริเวณที่เป็นชุมชนทั้งโบราณและปัจจุบัน เช่นมีคันดินออกจากตัวเมืองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปยังหมู่บ้านทรายมูล และมีคันดินอีกสายหนึ่งแยกออกจากคันดินดังกล่าว วกลงไปยังหมู่บ้านหนองบัวน้อยและหนองแม่ชัด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากตัวเมืองไปในรัศมี ๓ กม. มีร่องรอยของชุมชนโบราณและสระน้ำตลอดจนคันดินหลายแห่ง เมืองโบราณที่หนองงูดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้มีการสำรวจหาโบราณวัตถุเพื่อกำหนดอายุ แต่จากรูปลักษณะก็คงจะเป็นเมืองแต่สมัยทวาราวดีลงมา

พระธาตุบ้านขาม อยู่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง ประวัติการสร้างเจดีย์องค์นี้มีว่า เดิมมีตอมะขามใหญ่อยู่ตอหนึ่งซึ่งได้ตายไปนานแล้ว กลับงอกงามขึ้นอีก คนเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อกินใบซึ่งงอกขึ้นใหม่นี้จะหายจากโรคร้ายทั้งปวง จึงมีประชาชนจากทุกสารทิศมาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนหนาแน่น หากผู้ใดไปทำมิดีมิร้ายเชิงดูถูกไม่เคารพสักการะตอมะขาม จะมีอันเป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วน ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันก่อพระธาตุหรือเจดีย์ครอบตอมะขามนี้ไว้ โดยสลักบรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๙ บทเข้าไว้บนตอมะขามนั้นเรียกว่า พระเจ้า ๙ พระองค์ เหตุนี้จึงเรียกชื่อว่า พระธาตุบ้านขามมาแต่โบราณ ได้มีผู้บูรณะพระธาตุองค์นี้หลายครั้ง ทำให้รูปทรงเดิมเปลี่ยนไป ห่างจากเจดีย์นี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ เส้น มีซากโบราณสถานซึ่งเข้าใจว่าเป็นวังหรือตำหนัก ประชาชนมาชุมนุมนมัสการพระธาตุองค์นี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทุกปี

ภายในโบถส์ใกล้พระธาตุองค์นี้มีพระประธานก่อด้วยอิฐโบกปูนขาวเป็นศิลปะแบบล้าน-ช้างโบราณมีพุทธลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นภายหลังในยุคล้านช้างเวียงจันทร์

ที่บ้านกระนวนซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านขามนัก มีพระพุทธรูปโบราณศิลปะแบบล้านช้างเป็นพระประธานในโบสถ์เก่าแก่ ประชาชนในอาณาบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพบูชามาก

 

 

สมัยลพบุรีหรือสมัยขอม

ซากโบราณสถานและโบราณวัตถุซึ่งมีแท่งหินหรือเสาหินตลอดจนเสมาหิน และซากเมืองโบราณที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอมีรูปกลม หรือสี่เหลี่ยมกลมมีคูน้ำล้อมรอบหลายชั้น นักโบราณคดีเชื่อว่ามีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งอยู่ในยุคทวาราวดี

ในอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นยังมีซากโบราณวัตถุ และโบราณสถานซึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไป เช่น ซากเมืองโบราณที่มีรูปร่างสม่ำเสมอ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบ้าง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบ้าง มีคูน้ำชั้นเดียว มีศาสนสถานและสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ คติการสร้างศาสนสถานมีความผูกพันกับคติเทวราชาและการปกครองที่มีระเบียบแบบแผน คือถือว่ากษัตริย์หรือเจ้านายเป็นส่วนหนึ่ง หรือภาคหนึ่งของเทพเจ้า จึงมีการสร้างเทวาลัยถวายเป็นที่สถิต ดังนั้นเทวาลัยจึงมีลักษณะที่เป็นทั้งตัวแทนของเทพเจ้า และกษัตริย์หรือเจ้านายที่ปกครองชุมชนเขตนั้น

โดยเฉพาะปราสาทศิลาแลง ซึ่งมีผังประกอบด้วยองค์ปราสาทหรือปรางค์เพียงองค์เดียวอยู่ตรงกลางมีวิหารเล็ก ๆ ตั้งอยู่ข้าง ๆ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีกำแพงล้อมรอบที่กำแพงมีซุ้มประตูเข้าทางด้านตะวันออก ร่องรอยของศาสนสถานและโบราณสถานแบบดังกล่าวนี้เป็นศิลปกรในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขอมมีอำนาจปกครองถึงดินแดนจังหวัดขอนแก่นดังปรากฏโบราณสถาน และโบราณวัตถุต่อไปนี้

บริเวณเมืองแอม หรือเมืองเพ็งโบราณดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น สันนิษฐานว่าพวกขอมมาสร้างทับเมืองเก่าเพราะปรากฏว่ามีคันดิน (คล้ายกำแพงดินที่ละลายลงมา) มีความสูงพอสมควรและยาวเป็นเส้นตรงเป็นระเบียบแบบแผน แต่ละด้านยาว ๒-๓ กม. เมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ มีผู้นำเอาพระพุทธรูปหินแบบนาคปรกหลายองค์จากดงเมืองแอมมาไว้ที่วัดท่าน้ำพอง อำเภอน้ำพอง ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็ก มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะสวยงามมาก พระพุทธรูปหินนาคปรกนี้เป็นศิลปะขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

นอกจากนี้ยังได้พบพระพุทธรูปหินแบบนาคปรกอีกหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะที่กรุในหมู่บ้านใกล้ที่ตั้งอำเภอภูเวียง พบหลายองค์มีความประณีตสวยงามมากจนกระทั่งเคยนำเอาไปแสดงที่มาเลเซีย แต่ภายหลังถูกขโมย และบางองค์ถูกบั่นพระเศียรอย่างน่าอนาถมาก

กู่ทอง ตั้งอยู่บ้านหัวขัว กิ่งอำเภอเปือยน้อย ห่างจากอำเภอบ้านไผ่ประมาณ ๓๒ กม. เป็นกู่ใหญ่และสวยงามที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบมีรูปหัวสิงห์แกะสลักด้วยหิน รูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ สลักนูนลวดลายประณีตมาก เป็นแท่งหินทับหลังประตู ขนาดใหญ่ กว้าง ๑ ม. ยาว ๒ ม. เคยถูกขโมยแต่ในที่สุดผู้ร้ายเอาไปไม่ได้ต้องทิ้งกลางทาง กู่นี้ถูกรื้อทำลายโดยพวกแสวงหาทรัพย์ตามลายแทง เที่ยวขุดค้นของมีค่าเมื่อเกือบร้อยปีมานี้ แต่ก็ยังมีสภาพที่สมบูรณ์กว่าทุกแห่งในจังหวัดขอนแก่น

กู่บ้านเหล่า ตำบลบ้านโต้น กิ่งอำเภอพระยืน มีลักษณะเหมือนกู่ทองแต่ย่อมกว่า มีกำแพงหิน กว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๕ วา

กู่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง เป็นแบบกู่ทั่วไปซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก แต่ขนาดย่อมกว่ากู่ทอง

ทุก ๆ กู่จะมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ โดยเฉพาะกู่บ้านนาคำน้อยบริเวณใกล้เคียงมีบ่อน้ำซับระดับน้ำอยู่ตื้นมากมีน้ำใสจืดสนิท

นอกจากนี้ก็มีกู่เล็กกู่น้อยอีกหลายแห่ง เช่น กู่ที่บ้านโนนกู่ ตำบลสาวะถี อำเภอบ้านฝาง กู่ตำบลกุดเค้า กู่ภูวดี อยู่ในบริเวณภูวัด ตำบลโพนเพ็ก อำเภอมัญจาคีรี

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การตั้งเมืองชลบถ (ชื่อเดิมมิใช่ชนบท) และเมืองขอนแก่น

พงศาวดารภาคอีสานฉบับของพระยาขัตติยวงษา (เหลา  ณ ร้อยเอ็ด) มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ถึงระหว่างจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีกุน จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๒๕) ทราบข่าวว่ากวนเมืองแสน เมืองสุวรรณภูมิจ้างทิดโกดบังฟันท้าวสูนเมืองสุวรรณภูมิตาย เมืองแสนกลัวความผิดหลบตัวหนีลงไปพึ่งพระยาโคราช ๆ บอกให้เมืองแสนลงไปเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระจันทประเทศขึ้นมาตั้งบ้านกองแก้วเป็นเมืองชลบถ มีไพร่พลสมัครไปด้วย ๓๔๐ คน”

“ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๕๐ (พ.ศ. ๒๓๓๑) ได้ทราบว่าเมืองแพนบ้านชีโหล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันนี้อยู่ในท้องที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เวลานั้นเป็นแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอาณาเขตมาถึงสันเขาภูเม็ง ฝายพระยานาคจดพองหนีบ) พาราษฎรไพร่พลประมาณ ๓๓๐ คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น”

พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจรรณกรุงเทพ) ปลัดมณฑลอีสานแต่ง มีข้อความสำคัญว่า

“ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมเสงนพศก (พ.ศ. ๒๓๔๐) ฝ่ายเพี้ย เมืองแพน บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิเห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชลบถก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น”

หนังสือโบราณวัตถุสถาน ชิน  อยู่ดี เรียบเรียง กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีประวัติจังหวัดขอนแก่น ดังนี้ :-

“ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๖ (ภายหลังตั้งกรุงเทพฯ ได้ปีเดียว) กวนเมืองแสนจากเมืองทง (เดี๋ยวนี้อยู่ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) มาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านบึงแก้ว (หนองแก้ว อำเภอชลบท) ชื่อเมืองชลบถ ต่อมาเพี้ยเมืองแพน ต้นสกุลเสมอพระ บ้านชีโหล่น หลานเจ้าแก้วบูฮม พาผู้คนเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่า) สมัครขึ้นอยู่กับพระยานครราชสีมา ๆ มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น และตั้งให้เพี้ยเมืองแพนเป็นพระยานครบริรักษ์เจ้าเมือง

พ.ศ. ๒๓๕๒  ท่านราชานนท์ย้ายเมืองไปตั้งที่ริมบึงหนองเหล็กดอนพันชาด  หรือดงพันชาด (หมู่บ้านในเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย)

พ.ศ. ๒๓๖๙  ตั้งบ้านภูเวียง  ซึ่งเดิมเคยเป็นเมืองโบราณ  เป็นเมืองภูเวียงขึ้นกับเมืองขอนแก่น

พ.ศ. ๒๓๘๐ ย้ายเมืองขอนแก่นกลับมาตั้งอยู่ริมฝั่งบึงบอน (ตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านโนนทัน)

พ.ศ. ๒๓๙๘ ย้ายมาทางฝั่งตะวันออก คือบ้านโนนทันเดี๋ยวนี้

พ.ศ. ๒๔๑๐ ย้ายไปตั้งที่บ้านดอนบม ริมลำน้ำชี

พ.ศ. ๒๔๓๔ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระ-องค์ และโปรดให้ย้ายเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านทุ่ม

พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดให้ย้ายกลับไปตั้งที่บ้านบึงตามเดิม (เมืองเก่า)

พ.ศ.๒๔๔๗ โปรดให้เรียกตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นว่าข้าหลวงประจำ    บริเวณพาชี

พ.ศ. ๒๔๕๑  ย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ  และให้เปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด

สมัยรัชกาลที่ ๓ เหตุการณ์ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ มีข้อความสำคัญเกี่ยวกับจังหวัดขอนแก่นดังต่อไปนี้ “พระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปทางเมืองสุวรรณภูมิ พบกองทัพเจ้าโถงหลานอนุซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพิมายก็ยกเข้าตีกองทัพเจ้าโถงแตกกระจัดกระจายไปสิ้น แล้วพระยาราชสุภาวดีก็ยกจากเมืองพิมายไปตั้งอยู่เมืองขอนแก่น แล้วก็มีหนังสือไปถึงเจ้าอุปราชว่าเมื่ออุปราชลงไปกรุงเทพมหานคร พูดไว้แต่ก่อนว่าอนุจะเป็นกบฏนั้นก็สมจริง ครั้งนี้เรายกขึ้นมาสมคะเนแล้ว ให้อุปราชยกไปตีเมืองเวียงจันทน์เสียให้ได้ ทัพหลวงจะได้ขึ้นมาโดยสะดวกเราจะได้ยกหนุนอุปราชไป ครั้นอุปราชได้หนังสืออ่านดูแจ้งความแล้วจึงส่งต้นหนังสือไปให้อนุที่ตำบลช่องเขาสาร อนุแจ้งความแล้วก็ให้หวาดหวั่นสงสัยนายทัพนายกองผู้คนของตัวว่าจะมีไส้ศึกอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่รู้”

แสดงให้เห็นว่าแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้เห็นความสำคัญของจังหวัดขอนแก่น จึงใช้เป็นฐานทัพมาครั้งหนึ่งเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสาน จนประสบชัยชนะ เมื่อทางราชการจัดตั้งหน่วยทหารม้าขึ้นครั้งแรกในจังหวัดนี้จึงให้ชื่อว่า “ค่ายบดินทรเดชา” และมีสนามมวยในชื่อนี้ด้วย

หนังสือประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์

มีข้อความเกี่ยวกับจังหวัดขอนแก่นบางตอนดังนี้

คำให้การอ้ายพระยานรินทร์

“แล้วอ้ายอนุกับอ้ายสุทธิสารข้าพเจ้าก็พากันขึ้นมาถึงบ้านหนองบัวลำภู อ้ายอนุตั้งให้เป็นเจ้าเมืองหนองบัวลำภู แล้วอ้ายอนุจัดแจงให้ตั้งค่ายไม้จริงยาว ๓๐ เส้น กว้าง ๑๖ เส้น อ้ายอนุจัดให้ข้าพเจ้ากับอ้ายปลัดหนองบัวลำภูคนเก่า  อ้ายวรจักรบ้านบัว  อ้ายหามองค์บ้านเทวี  อ้ายอุปราชบ้าน ภูเวียง อ้ายวรวงศ์บ้านมะโดด อ้ายตะนามบ้านลำภูคุมไพร่ ๑,๘๐๐ คนปืนคาบศิลา ๓๐๐ บอก อยู่รักษาค่ายแล้วอ้ายอนุจัดครัวเมืองโคราชที่ไว้ใจได้ให้ข้าพเจ้า ๓๐ ครัว ชายหญิงประมาณ ๗๐ คน กับครัวข้าพเจ้า ๑,๐๐๐ คนเศษอยู่กับข้าพเจ้า แต่ครัวอ้ายมีชื่อทั้งนี้บ้านใคร ๆ อยู่ ครั้นอ้ายอนุกลับไปถึงบ้านส้มป่อยให้อ้ายราชวงศ์เจ้าเมืองชลบถกับไพร่ครัวฉกรรจ์ ๖๐๐ คน กับปืนคาบศิลา ๗๐ บอก กลับลงมาอยู่รักษาค่ายกับข้าพเจ้าด้วยกัน ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๓๐๐ ครัว ๘๐๐ คน ปืนคาบศิลา ๑๙๐ บอก”

“แต่เจ้าเมืองขอนแก่นไล่ครัวมาอยู่บ้านสระแจ้ง ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๕๐๐ แต่ตัวเจ้าเมืองขอนแก่นกับไพร่ฉกรรจ์นั้นรักษากับอ้ายสุทธิสาร แต่ครัวเจ้าเมืองชลบถมาอยู่บ้านคาง ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๗๐๐ เจ้าเมืองชลบถอยู่รักษาครัว ให้แต่บุตรกับไพร่ ๙๐๐ คน มาอยู่กับข้าพเจ้า ณ ค่ายหนองบัวลำภูเมืองนอกนั้นตามระยะทางมีมากอยู่”

ข้อความที่ว่าอ้ายอุปราชภูเวียง แสดงว่าภูเวียงมีฐานะเป็นเมืองมาก่อนจึงมีตำแหน่งอุปราช มิใช่หมู่บ้านธรรมดา

คำให้การอ้ายจันโคช

วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุนนพศก ได้ถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ้ายจันโคชให้การว่าข้าพเจ้าตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านสามพันแขวงเมืองชลบถ อายุข้าพเจ้าได้ ๕๐ เศษ  ภรรยาข้าพเจ้าชื่อ  อีสั้น มีบุตรชาย ๔ คน หญิง ๓ คน เป็น ๗ คน ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระยาพรหมภักดียกกระบัตรเมืองโคราช  ครั้นอยู่มา  ณ  เดือน  ๓  กี่ค่ำข้าพเจ้าจำมิได้  ปีวอกอัฐศก  ข้าพเจ้าได้ยินผู้มีชื่อพูดกันว่าอ้ายเวียงจันท์ ยกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองครสวรรค์ ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ๓,๐๐๐ คน ว่าจะลงไปช่วยทำการพระบรมศพ ณ กรุงเทพฯ แล้วอ้ายเวียงจันท์ได้ให้ตำรวจลงมาบอกพระยาจันตประเทศกับเพียสิง-หนาทราชบุตร เมือชลบถ ให้ขึ้นไปหาอ้ายเวียงจันท์ พระยาประจันตประเทศ กับเพียสิงหนาทราชบุตร ก็พากันไปหาอ้ายเวียงจันท์ ณ เมืองครสวรรค์ ไปได้ ๒ คืนแล้ว พระยาจันตประเทศ กับเพียสิงหนาท-ราชบุตร ก็พากันกลับมาบ้านได้คืน ๑ อ้ายเจ้าเวียงจันท์ ก็ยกกองทัพมา ณ เมืองโคราช  แล้วพระยา-จันตประเทศจึงมาป่าวร้องแก่ราษฎรชาวบ้านว่า  ใครจะสมัครไปกับเจ้าเวียงจันท์บ้าง  ถ้าสมัครไปกับอ้ายเวียงจันท์จะให้ไปอยู่บ้านคูเวียง ถ้าใครมิสมัครไปจะฆ่าเสีย เพียแสนกับอุปฮาตจึงว่ากับพระยา-จันตประเทศว่า ท่านจะไปก่อนก็ไปเถิดข้ายังไม่ไปจะฟังดูก่อน ครั้น ณ วันเดือนข้างขึ้นจะเป็นกี่ค่ำข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ พระยาจันตประเทศกับเพียสิงหนาท เพียกวาน ก็พาบุตรภรรยาผู้คนบ่าวไพร่ยกไปจากเมืองชลบถไปอยู่บ้านผขุ ได้เดือน ๑ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ข้างขึ้น แต่จะเป็นกี่ค่ำข้าพเจ้าจำมิได้  อ้ายเจ้าเวียงจันท์ใช้ตำรวจลาวลงมาไล่ครัวที่เมืองชลบถให้ไปอยู่บ้านคูเวียงให้สิ้นเชิง ถ้าผู้ใดมิไปจะตัดศีรษะเสีย ราษฎรชาวบ้านกลัวก็พากันยกครอบครัวไปอยู่ ณ บ้านคูเวียง ครั้น ณ วันเดือน ๕ ข้างขึ้น อ้ายเจ้าเวียงจันท์ยกจากโคราชไปพักอยู่บ้านคูเวียงคืน  ๑  แล้วยกไปอยู่บ้านหนองบัว  แล้วอ้ายเจ้า-  เวียงจันท์จึงใช้ให้ตำรวจลาวมาไล่ครัวที่บ้านคูเวียงไปอยู่ที่บ้านหนองบัว ครั้นพากันไปอยู่บ้านหนองบัว พระยาจันตประเทศ จึงไปหาอ้ายเจ้าเวียงจันท์ ๆ จึงสั่งให้พระยาจันตประเทศไล่ครัวให้ไปอยู่บ้านนาแตง  อ้ายเจ้าเวียงจันท์ก็จะยกไปทางด้านป่าเข้าสาร พระยาจันตประเทศไล่ครัวไปทางบ้านนาแตง ไปถึงบ้านนาแตงได้ ๕ วัน อ้ายพระยานรินทร์ ที่เป็นแม่ทัพอยู่ที่ค่ายบ้านหนองบัว จึงให้ตำรวจลาวมาจัดเอาคนผู้ชายที่ครัวบ้านนาแตง ๒๐๐ คน ทั้งข้าพเจ้าให้เข้าค่ายบ้านหนองบัว ข้าพเจ้ามายืมเอาหอกของทิดโสภาหลานข้าพเจ้าได้เล่ม  ๑  มาเข้าค่าย  ค่ายหนองบัวกว้างยาวประมาณ  ๑๐  เส้น คนรักษาค่ายอยู่ประมาณ ๑,๒๐๐ คน มีปืนคาบศิลาอยู่ในค่ายประมาณ ๑๐๐ เศษ อ้ายพวกเวียงจันท์ให้ข้าพเจ้ารักษาค่ายข้างตะวันออก ครั้น ณ วันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๖ เพลาเย็น ทัพไทยเข้าไปตีค่ายได้รบกันอยู่จนเพลาสว่าง ทัพลาวจึงแตกหนีไป ทัพไทยไล่จับเอาข้าพเจ้าได้มาจำข้าพเจ้าไว้ได้ ๒ คืน จึงส่งตัวข้าพเจ้าลงมาที่ทัพหลวงแม่น้ำปชีได้ ๒ คืน แล้วส่งข้าพเจ้าลงมา ณ กรุงเทพฯ สิ้นคำให้การข้าพเจ้าแต่เท่านี้

หนังสืออานามสยามยุทธ

มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ครั้น ณ วันเดือนอ้ายแรมสิบสามค่ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา ๑ พระโยธาสงคราม ๑ หลวงเทเพนทร ๑ หลวงพิไชยเสนา ๑ พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่น ๑ ราชวงศ์  เมืองชลบถ  ๑  พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา  ๑  รวมเป็นนายทัพนายกองแปดนายคุมไพร่พลแปดร้อยคุมตัวเจ้าอนุและครอบครัวลงมาส่งให้ถึงเมืองสระบุรีซึ่งพระยาพิไชยวารี (โต) ขึ้นไปตั้งรับครอบครัวส่งเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองสระบุรีนั้นแล้ว พระยาพิไชยวารีจึงสั่งให้ทำการขังเจ้าอนุตั้งประจานไว้กลางเรือ”

แสดงหลักฐานให้เห็นว่าเมืองขอนแก่นและเมืองชลบถมีความชอบในราชการสงครามครั้งนี้และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่ง จึงได้รับหน้าที่ให้ควบคุมเชลยคนสำคัญลงไปกรุงเทพฯ

เหตุการณ์หลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์

ภูเวียง เคยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นต่อนครเวียงจันทน์มาแล้วเมื่อเสร็จศึกเวียงจันท์ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเมือง ขึ้นต่อเมืองขอนแก่น และเมืองขอนแก่นขึ้นโดยตรงต่อกรุงเทพฯ ปรากฏในหนังสือบอกสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเจ้าเมืองชื่อหลวงไกรสงครามเมืองนี้มีหน้าที่ส่งส่วยทองคำผงจำนวนน้ำหนักปีละ ๒๕–๓๐ ตำลึง แสดงให้เห็นว่าในท้องที่นี้จะต้องมีแหล่งแร่ทองคำ ข้าพเจ้าอ่านพบในหนังสือก้อมว่าเมืองนี้มีหน้าที่ส่งส่วยทองแดงมาแต่โบราณ (หัวขวานทองแดงซึ่งทำจากทองแดงที่ไม่ได้ถลุง และทองสำริดที่ค้นพบบริเวณโนนนกทาคงจะได้ทองแดงจากแหล่งนี้) ครั้งสุดท้ายเคยไปส่งส่วยทองแดงที่ค่ายหมากแข้ง (อุดรธานี) ข้าพเจ้าจึงสำรวจหาแหล่งแร่ทองแดงบริเวณที่เคยขุดไปส่งส่วยซึ่งมีชื่อว่า “ฮ่อมอัดผักตูตึหมา” ในที่สุดจึงได้พบแร่ยูเรเนียม

คำกราบบังคมทูลของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ลงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓

มีข้อความเกี่ยวกับการเลือกภูมิประเทศเป็นที่ตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองของข้าหลวงต่างพระองค์เมื่อมีความจำเป็นต้องถอยห่างจากชายแดน ๒๕ กม. ตามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ ดังนี้

“ประการหนึ่งท่านผู้มาเป็นข้าหลวงต่อไปนั้น ถ้าครบ ๆ ชนิดเดียวกัน คงจะชอบที่นี้เป็นแน่ ถ้าสติท่านดี เมืองสกลนครนั้นก็ได้สร้างไว้แล้ว แต่ก็เท่ากัน ทางที่จะเข้ามาจากสกลถึงนคร ตั้งแต่หนองคายถึงหมากแข้งก็เท่าเพราะเราเสียช่องทางที่คับขันเสียหมดแล้ว อีกแห่งหนึ่งเป็นที่ดีอย่างที่สุดคือเมืองภูเวียงเขาว่ามีเขาสูงล้อมรอบมีทางจำเภาะเข้า จนผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะไม่ได้ น้ำก็บริบูรณ์ที่นาก็มากอยู่นั้นทั้งสิ้น ตามที่เสียงว่าฆ่าศึกจะล้อมไว้สิบปีก็ไม่อด แต่ใช้เป็นอย่างอุกริษเป็นการขัดอยู่เช่นนี้

จึงเห็นด้วยเกล้าว่าที่ใดสู้ที่บ้านหมากแข้งไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังที่ได้รับพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณามานี้”

 

  ศรีศักร  วัลลิโภดม โบราณวัตถุสถานในลุ่มแม่น้ำชี มรดกอีสาน วค.มหาสารคาม

  แต่เดิมมาไม่เคยมีชื่อว่าพระธาตุหรือเจดีย์ขามแก่น ขุนบุญบาลประดิษฐ์ อดีตกำนันตำบลชุมแพ และสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่นชุดแรก ยืนยันว่า นายเจียม รัตนเวฬุ สจ.อำเภอน้ำพอง เป็นหมอลำมีจินตนาการโดยปรารภขึ้นกับบรรดาเพื่อน สจ. รุ่นแรกด้วยกันว่า ชื่อจังหวัดขอนแก่นคงจะเพี้ยนมาจากคำว่าขามแก่น หรือใช้ชื่อขามแก่นเป็นมงคลนามในการตั้งชื่อเมืองขอนแก่น แต่มิได้มีผู้ใดเห็นด้วย เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากวัดก็เรียกชื่อมาแต่เดิมว่า วัดบ้านขามตั้งอยู่หมู่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม (เป็นชื่อทางราชการมาแต่เดิมไม่มีคำว่าต่อท้ายเลย) ต่อมาภายหลังเมื่อมีการบูรณะพระธาตุองค์นี้ในสมัย นายเลื่อน กฤษณามระ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีการรณรงค์เรียกชื่อว่าพระธาตุขามแก่น และเชื่อว่าเป็นที่มาของชื่อจังหวัดขอนแก่น คำว่า “ขอนแก่น” เป็นชื่อบ้านทั่วไปในภาคอีสานซึ่งมีอยู่แทบทุกจังหวัด ในประวัติจังหวัดขอนแก่น ของกรมศิลปากรแต่เดิมก็มีเพียงว่า “เจ้าพระยานครราชสีมา มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น” โดยมิได้มีการผิดเพี้ยนเลย

คำว่าเมืองแอมนั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกในปัจจุบันนี้ เพราะเวลาชาวบ้านเข้าไปในบริเวณเมืองร้างแห่งนี้มีเสียงเล่าลือว่า มักจะได้ยินเสียงกระไอ-กระแอม บ่อย ๆ คือเสียงแอม ๆๆๆ จึงเรียกว่าเมืองแอม เมืองโบราณแห่งนี้แต่เดิมมีชื่อว่าเมืองเพ็ง (เพ็งเพ็ญ)

ทายาทของเจ้าเมืองขอนแก่นยืนยันว่าเป็นจุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒)

คำว่าเพี้ย ภาษาอีสานแปลว่า ขี้อ่อนของสัตว์ ชาวภาคกลางฟังสำเนียงเพี้ยนไป ที่ถูกต้องคือ “เพีย” ซึ่งมาจากคำว่า พีร แปลว่าผู้เพียร, ผู้กล้า, นักรบ เป็นตำแหน่งขุนนางผู้ใกล้ชิดกับกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง เป็นยศต่ำกว่าพระยา คงจะเทียบกับ “พระ” หรือ “จางวาง” ของภาคกลาง

ประวัติศาสตร์จังหวัดชัยภูมิ

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

          ผืนแผ่นดินไทยในอดีตเต็มไปด้วยอารยธรรมอันสูงส่งในนามของอาณาจักรต่าง ๆ ที่

วิวัฒนาสืบต่อกันมาโดยมิขาดสาย เมืองไทย แผ่นดินไทย จึงเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลของวงการนักปราชญ์ทางโบราณคดีทั่วโลก  ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันจึงกลายเป็นแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์ และอารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

          ซึ่งดินแดนแห่งนี้ เมื่อครั้งโน้นเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” หรือแหลมอินโดจีนก่อนที่ชาติไทยจะได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนานั้น เดิมเป็นที่อยู่ของชน ๓ ชาติ คือ ขอม,มอญและละว้า

          ก. ขอม          อยู่ทางภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้อันเป็นที่ตั้งของ

                             ประเทศกัมพูชาปัจจุบันนี้

          ข. มอญหรือรามัญ      อยู่ทางตะวันออกของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตลอดจนถึงลุ่มแม่น้ำ

                             อิรวดี ซึ่งเป็นอาณาเขตของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพ

                             พม่าในปัจจุบัน

          ค. ละว้า                   อยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

                             ปัจจุบัน อาณาเขตละว้า แบ่งเป็น ๓ อาณาจักร คือ

.อาณาจักรทวารวดี หรือละว้าใต้     มีอาณาเขตทางภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำ

เจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเลตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี

.อาณาจักรยางหรือโยนกหรือละว้าเหนือ มีอาณาเขตที่เป็นภาคเหนือของประเทศ

ไทยในปัจจุบันมีราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง

          ๓. อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันตลอดไปจนถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

 

แต่ก่อนที่จะมีคนไทยอพยพเข้ามานั้น ดินแดนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรูปของผู้เข้าครอบครอง

          ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขอมได้เริ่มแผ่อำนาจเข้าไปในอาณาเขตของละว้า และสามารถครอบครองอาณาเขตละว้าทั้ง ๓ ได้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยเฉพาะอาณาจักรโคตรบูรณ์ขอมได้รวมเข้าเป็นอาณาจักรของขอมโดยตรง

- อาณาจักรทวารวดี ส่งคนมาเป็นอุปราชปกครอง

- อาณาจักรยางหรือโยนก ให้ชาวพื้นเมืองปกครองตนเองแต่ต้องส่งส่วยให้แก่ขอม

ในระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ขอมได้แผ่ขยายศิลปวิทยาการอันเป็นความรู้ทางศาสนา

ปรัชญา สถาปัตย์และอารยธรรมอีกมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากอินเดีย และต่อมาพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อำนาจของขอมต้องเสื่อมลงดินแดนส่วนใหญ่ได้เสียแก่พม่าไป ซึ่งในเวลานั้นพม่ามีอาณาเขตอยู่ทางลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนเหนือ ได้รุกรานอาณาดินแดนของพวกมอญโดยลำดับมา และได้สถาปนาเป็นอาณาจักรขึ้น มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า อโนระธามังช่อ หรือพระเจ้าอนุรุทมหาราช ปราบได้ดินแดนมอญลาวได้ทั้งหมด แต่ภายหลังเมื่อพระเจ้าอนุรุทสิ้นพระชนม์แล้วพม่าก็หมดอำนาจ ขอมก็ได้อำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งหลังนี้ก็เป็นความรุ่งเรืองตอนปลาย จึงอยู่ได้ไม่นานนัก เปิดโอกาสให้ไทยซึ่งได้เข้ามาตั้งทัพอยู่เขตละว้าเหนือ โดยขยายอำนาจเข้ามาแล้วขับไล่ขอมเจ้าของเดิมออกไป

          จากประวัติศาสตร์ดังกล่าว อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรหนึ่งของละว้าซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ สืบต่อมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งขอมได้แยกขยายอำนาจออกมาตั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยขอมตอนปลาย

          ถ้าอาศัยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ประกอบกับภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่าดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือพนมก็คงครอบคลุมมาถึงดินแดนที่เป็นที่ตั้งของเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน

          โดยศึกษาจากหลักฐานศิลปะวัดโบราณในจังหวัดชัยภูมิ  อันได้แก่ใบเสมาหินทรายแดงที่พบที่บ้านกุดโง้ง ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งแกะสลักเป็นรูปเสมาธรรมจักร บรรจุตัวอักษรอินเดียโบราณ (ซึ่งศิลปอินเดียเองก็เป็นต้นฉบับของขอม) ศิลปวัตถุชิ้นนี้จัดอยู่ใน

"ศิลปทวารวดี" นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ชัดจากพระธาตุบ้านแก้ง หรือพระธาตุหนองสามหมื่น เป็นพระธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒๕ เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนจากฐานของพระธาตุขึ้นไปประมาณ  ๑๐ เมตร   ทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ  แต่ละทิศจำหลักเทวรูป    ลักษณะเป็น

ศิลปทวารวดี

          ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่ตั้งห่างจากจังหวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นปรางค์เก่าแก่ ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ภายในปรางค์มีพระพุทธรูปเป็นศิลปทวารวดีประดิษฐานอยู่ ดูจากศิลปและการก่อสร้าง ตลอดทั้งวัตถุก่อสร้างใช้ศิลาแลง สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยเดียวกันกับประสาทหินพิมาย

          ภูพระ เป็นภูเขาเตี้ยอยู่ที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ ระยะห่างจากตัวจังหวัด ๑๒ กิโลเมตร ตามผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลาพระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์  หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต เรียกว่า "พระเจ้าตื้อ" และรอบพระพุทธรูปมีรอยแกะทับเป็นรูปพระสาวกอีกองค์หนึ่งสันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยขอมรุ่นเดียวกับที่สร้างปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

          พระธาตุกุดจอก สร้างเป็นแบบปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี อยู่ภายในตัวปรางค์สร้างในสมัยขอมเช่นกัน อาศัยจากหลักฐานต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ประกอบกับทางด้านภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่า เมืองชัยภูมิในปัจจุบันเป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับลพบุรี, พิมาย แต่ขอมจะสร้างชื่อเมื่อใดหรือศักราชใดนั้นหาหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดไม่ได้ นอกจากจะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยขอมมีอำนาจเข้าครอบครองในเขตลาว โดยอาศัยหลักโบราณคดีวินิจฉัย เปรียบเทียบตลอดจน

ศิลปการก่อสร้างเทวรูป ศิลปกรรมเป็นต้น ว่าการแกะสลักตามฝาผนัง ตามปรางค์กู่มีส่วนคล้ายคลึงกับประสาทหินพิมายมากและอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราชด้วยกัน ระยะทางระหว่างประสาทหินพิมายกับปรางค์กู่ ชัยภูมิห่างกันประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ ๆ เท่านั้น

          เมื่ออนุมานดูแล้ว เมืองชัยภูมิปัจจุบันเป็นเมืองที่อยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อนและสร้างในสมัยเดียวหรือรุ่นเดียวกันกับเมืองพิมายหรือประสาทหินพิมายดังหลักฐานปรากฏข้างต้น

 

สมัยอยุธยา

          ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมือง

เวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยาเส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "ชัยภูมิ" เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด ฯลฯ

          ชาวพื้นเมืองชัยภูมิได้รับสืบทอดอารยธรรมต่าง ๆ จากบรรพบุรุษเหล่านี้ เช่น ทางด้านภาษาพูด ภาษาเขียน (ตัวหนังสือที่เขียนใส่ใบลานหรือหนังสือผูก) วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ

          เมื่อมีคนอยู่ในแดนนี้มากขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้โปรดให้เมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เพราะอยู่ใกล้กว่าและสะดวกในการปกครองดูแล ตั้งแต่นั้นมาเป็นอันว่าเมืองชัยภูมิ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ตลอดมา

 

สมัยกรุงธนบุรี

          หลังจากกรุงศรีอยุธยา เสียเอกราชแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าทำลายล้างผลาญโดยที่ต้องการจะมิให้ไทยตั้งตัวขึ้นอีก ได้ริบทรัพย์จับเชลย เผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอารามตลอดจนบ้านเมืองของราษฎรครั้งนั้นพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยประมาณ ๓๑,๐๐๐ คน กรุงศรีอยุธยาเกือบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากซากสลักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง อยุธยาเมืองหลวงของไทย ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาหลายร้อยปีมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ พระองค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเองแต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พาสมัครพรรคพวกยกออกจากรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรีมีอาณาเขตตลอดบริเวณหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกต่อแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ที่มิได้ถูกกองทัพพม่าย่ำยี มีกำลังคน กำลังอาวุธ ก็ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ เป็นชุมชนต่าง ๆ ขึ้น และหวังที่จะเป็นใหญ่ในเมืองไทยต่อไป

 

          ชุมนุมที่สำคัญมี ๕ ชุมนุม คือ

๑. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมือง

นครสวรรค์

๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) อาณาเขตตั้งแต่เมืองเหนือพิชัยถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและ

เมืองหลวงพระบาง

๓. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตอนใต้ต่อแดนมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร

๔. ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อกรุงศรี

อยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายเจ้าเมืองถือราชตระกูลและมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ ณ  เมืองพิมาย ชุมนุมนี้มีอาณาเขตบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือจดแดนลานช้าง กัมพูชา ตลอดลงมาจนถึงสระบุรี

          ดูจากอาณาเขตของชุมนุมพิมายในสมัยนี้แล้ว ครอบคลุมเมืองนครราชสีมาและเมืองชัยภูมิด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้ก็ตกอยู่ในอำนาจของกรมหมื่นเทพพิพิธแห่งชุมนุมพิมาย

๕. ชุมนุมพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่แดนกรุงกัมพูชา

ลงมาจนถึงชลบุรี

          พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบชุมนุมพิมายได้สำเร็จและให้ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาตามเดิมและในช่วง ๑๕ ปี ของสมัยธนบุรี ประวัติเมืองชัยภูมิไม่ได้กล่าวไว้เลย แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาก็รวมอยู่เขตเมืองชัยภูมิและการปกครองก็มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฉะนั้นเมืองชัยภูมิก็ยังขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดิมตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          เดิมท้องที่ชัยภูมิ มีผู้คนอาศัยมากพอควร กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยนี้ใครเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ อาจจะเป็นเพราะในเขตนี้ผู้คนยังน้อย ยังไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจึงยังไม่สมควรที่จะแต่งตั้งใครมาปกครองเป็นทางการได้

          ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งมีนามว่า อ้ายแล (แล) ตามประวัติเดิมมีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัวและไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขง เลือกหาภูมิลำเนาที่เหมาะเพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากินขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน "น้ำขุ่นหนองอีจาน" (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)

ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่ "โนนน้ำอ้อม" (ทุกวันนี้ชาวบ้านเรียกบ้านชีลอง) โดยมีน้ำล้อมรอบจริง ๆ โนนน้ำอ้อมอยู่ระหว่างบ้านขี้เหล็กใหญ่กับบ้านหนองนาแซงกับบ้านโนนกอกห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ๖ กิโลเมตร และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ คงใช้ชื่อเมืองตามเดิม คือเรียกว่าเมืองชัยภูมิ (เวลานั้นเขียนเป็นไชยภูมิ) นายแลได้นำพวกพ้องทนุบำรุงบ้านเมืองนั้นจนเจริญเป็นปึกแผ่น เป็นชัยภูมิทำเลที่เหมาะแก่การทำมาหากิน ผู้คนในถิ่นต่าง ๆ จึงพากันอพยพมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ถึง ๑๓ หมู่บ้าน คือ

          ๑. บ้านสามพัน            ๒. บ้านบุ่งคล้า

          ๓. บ้านกุดตุ้ม             ๔. บ้านบ่อหลุบ (ข้าง ๆ บ้านโพนทอง)

          ๕. บ้านบ่อแก             ๖. บ้านนาเสียว (บ้านเสี้ยว)

          ๗. บ้านโนนโพธิ์          ๘. บ้านโพธิ์น้ำล้อม

          ๙. บ้านโพธิ์หญ้า                   ๑๐.บ้านหนองใหญ่

          ๑๑.บ้านหลุบโพธิ์                   ๑๒.บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง)

          ๑๓.บ้านโนนไพหญ้า (บ้านร้างข้าง ๆ บ้านเมืองน้อย)

          นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวจากชายฉกรรจ์ ประมาณ ๖๐ คน ในหมู่บ้านเหล่านั้นไปบรรณาการแก่เจ้าอนุเวียงจันทน์ เจ้าอนุเวียงจันทน์จึงได้ปูนบำเหน็จความชอบตั้งให้นายแลเป็นที่

"ขุนภักดีชุมพล" ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับหัวหน้าคุมหมู่บ้านขึ้นกับเวียงจันทน์

          ในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล(แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อม (ชีลอง) ไม่เหมาะเพราะบริเวณคับแคบและอดน้ำ (น้ำสกปรก) จึงย้ายเมืองชัยภูมิมาตั้งที่แห่งหนึ่งระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอดต่อกัน (ห่างจากศาลากลางจังหวัดเวลานี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร) และให้ชื่อบ้านใหม่นี้ว่า

"บ้านหลวง"

          พ.ศ. ๒๓๖๖ ที่บ้านหลวงนี้ได้มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้นอีก มีชายฉกรรจ์ ๖๖๐ คนเศษ ขุนภักดีชุมพล (แล) ไปพบบ่อทองคำที่บริเวณเชิงเขาภูขี้เถ้า ที่ลำห้วยซาดเรียกว่า "บ่อโขโล"

ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ (พระยาพ่อ) อยู่ในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยเก็บหาทอง มีครั้งหนึ่งที่ขุดร่อนทองอยู่ฝั่งแม่น้ำลำห้วยซาด ได้พบทองก้อนหนึ่งกลิ้งโข่โล่ ทุกวันนี้เสียงเพี้ยนมาเป็นบ่อโขโหล หรือบ่อโขะโหละ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวแดง (ภาชนะที่นายแลและลูกน้องใช้ร่อนทองคำนั้นเป็นภาชนะไม้รูปคล้ายงอบจับทำสวน ชาวบ้านเรียกว่า "บ้าง" หาได้ง่ายในจังหวัดชัยภูมิ)

          นายแลได้นำทองก้อนโข่โล่นั้นไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้รับบำเหน็จความชอบคือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไชยภูมิ

          ในเวลานั้นเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เมืองชัยภูมิเช่นเมืองสี่มุม เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว ได้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและกรุงเทพมหานครหมดแล้ว ด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพ

ขุนภักดีชุมพลจึงหันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและส่งส่วยให้กรุงเทพฯ แต่บัดนั้นมา

          พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เป็นขบถยึดเมืองนครราชสีมากวาดต้อนผู้คนไปเมือง

เวียงจันทน์ เมื่อถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมาได้คุมคนลุกขึ้นต่อสู้กับทหารของเจ้าอนุวงศ์ นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโมตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไป

          ฝ่ายทหารลาวที่ล่าถอยแตกพ่าย มีความแค้นนายแลมากที่เอาใจออกห่างมาเข้ากับไทย จึงยกพวกที่เหลือเข้าจับตัวนายแลที่เมืองชัยภูมิ เกลี้ยกล่อมให้เป็นพวกตน แต่นายแลไม่ยอมจึงถูกจับฆ่าเสียที่ใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่าซึ่งประชาชนได้สร้างศาลไว้เป็นที่สักการะจนปัจจุบัน

          เมื่อพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิถึงแก่อนิจกรรมบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายเพราะขาดหัวหน้าปกครอง ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง

โปรดเกล้า ฯ ให้นายเกต มาเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ โดยตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีชุมพล นายเกตเดิมเป็นชาวอยุธยา บ้านอยู่คลองสายบัวกรุงเก่า ตามประวัติเดิมว่าเป็นนักเทศน์ เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พิจารณาเห็นว่าที่ตั้งเมืองชัยภูมิไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมืองจากที่ตั้งเดิมมาตั้งอยู่ที่ "บ้านโนนปอปิด" (คือบ้านหนองบัวเมืองเก่าปัจจุบัน) และได้เก็บส่วยทองคำส่งกรุงเทพฯ เป็นบรรณาการ พระภักดีชุมพล (เกต) รับราชการสนองพระเดชพระคุณเรียบร้อยมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

          พ.ศ. ๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้หลวงปลัด (เบี้ยว) รับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองได้ ๑๘ ปี ก็ถึงอนิจกรรม ลำดับต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนเกิดระส่ำระสาย อพยพแยกย้ายไปหากินในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

          เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมาได้ส่งกรมการเมืองออกไปสอบสวนดูว่า มีข้าราชการเมืองไชยภูมิคนใดบ้างที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองเก่า ก็ได้ความว่ามีอยู่ ๓ คน คือ

๑. หลวงวิเศษภักดี (ทิ) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล)

๒. หลวงยกบัตร (บุญจันทร์) บุตรพระภักดีชุมพล (เกต)

๓. หลวงขจรนพคุณบุตรพระภักดีชุมพล (เบี้ยว)

พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) จึงได้หาตัวกรมการทั้งสามดังกล่าวนำเข้าเฝ้าพระบาท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาหาตัวผู้เหมาะสมตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงวิเศษภักดี (ทิ) เป็นพระภักดีชุมพลตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ หลวงยกบัตรเป็นหลวงปลัด หลวงขจรนพคุณเป็นหลวงยกบัตร แล้วให้ป่าวร้องให้ราษฎรที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น กลับภูมิลำเนาเดิม

          ในสมัยพระภักดีชุมพล (ทิ) เป็นเจ้าเมืองนั้นพิจารณาเห็นว่าบ้านหินตั้งมีทำเลกว้างขวางเป็นชัยภูมิดี จึงย้ายตัวเมืองจากบ้านโนนปอปิด มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้งและมาอยู่จนทุกวันนี้ พระภักดีชุมพล (ทิ) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยดีเป็นเวลา ๑๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

          พ.ศ. ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งหลวงปลัด (บุญจันทน์) บุตรพระภักดีชุมพล(เกต) เป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา ในระยะเวลานี้การส่งส่วยเงินยังค้างอยู่มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บส่งลดลงกว่าเดิมเป็นคนละ ๔ บาท พระภักดีชุมพล (บุญจันทร์) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความเรียบร้อย ๑๓ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

          พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงภักดีสุนทร (เสง) บุตรหลวงขจรนพคุณเป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา และได้ออกจากราชการเพราะชราภาพ รับเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง

.

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล

          ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระหฤทัย (บัว) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ ได้เปลี่ยนเขตเมืองชัยภูมิเสียใหม่ โดยยกท้องที่เมืองสี่มุม (ปัจจุบันคืออำเภอจัตุรัส เหตุที่เรียกเมืองสี่มุมเพราะเรียกตามชื่อสระสี่เหลี่ยม) เมืองบำเหน็จณรงค์ เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งเดิมขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาให้ยุบเป็นอำเภอขึ้นต่อเมืองชัยภูมิ เมื่อรวมทั้งอำเภอเมืองชัยภูมิด้วยเป็น ๕ อำเภอ พระหฤทัย (บัว) จัดการบ้านเมืองอยู่ ๔ ปีเศษ เมื่อราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้กลับกรุงเทพฯ

          ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบแบ่งเขตหัวเมืองต่าง ๆ ใหม่เป็นมณฑลเป็นจังหวัดเมืองชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในเขตมณฑลนครราชสีมา ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแบ่งเขตการปกครองแผ่นดิน ให้ยุบมณฑลทั้งหมดเป็นจังหวัด เมืองชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีเจ้าเมืองหรือข้าหลวง หรือ

ผู้ว่าราชการรับผิดชอบในการบริหารแผ่นดินจนถึงปัจจุบันนี้

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

          การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด อำเภอจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลด้วย เมื่อได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย สาเหตุที่ยกเลิกก็เนื่องจากการคมนาคมสะดวกขึ้นการสื่อสารรวดเร็ว เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน และรัฐบาลมุ่งกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล อำนาจบริหารในจังหวัดได้เปลี่ยนมาอยู่กับคน ๆ เดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา

          และได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็น

          ๑. จังหวัด

          ๒. อำเภอ

          จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น ๆ